เค้าลางวิกฤติระลอกใหม่

ดัชนีดาวโจนส์ และดัชนีอื่นของตลาดหุ้นนิวยอร์กทำนิวไฮ เสมือนไม่มีเส้นขอบฟ้า และสัญญาณทางเทคนิคที่เป็นแนวต้านไร้สภาพชั่วคราว โดยไม่มีใครตั้งคำถามชวนสงสัยเลยว่า เหตุใดการวิ่งขึ้นของราคาหุ้นเช่นนี้ มีความผิดปกติจากสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง อันเนื่องจากกระบวนการขับเคลื่อนทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำติดพื้นยาวนาน


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ดัชนีดาวโจนส์ และดัชนีอื่นของตลาดหุ้นนิวยอร์กทำนิวไฮ เสมือนไม่มีเส้นขอบฟ้า และสัญญาณทางเทคนิคที่เป็นแนวต้านไร้สภาพชั่วคราว โดยไม่มีใครตั้งคำถามชวนสงสัยเลยว่า เหตุใดการวิ่งขึ้นของราคาหุ้นเช่นนี้ มีความผิดปกติจากสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง อันเนื่องจากกระบวนการขับเคลื่อนทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำติดพื้นยาวนาน

เพียงแค่ข่าวดีจากความหวังที่ว่า สภาคองเกรสสหรัฐฯ จะผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะส่งต่อไปให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามรับรองเป็นกฎหมายก่อนวันคริสต์มาส โดยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายจะยังคงจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ที่ 7 ขั้น แต่ลดอัตราภาษีขั้นสูงสุดสู่ระดับ 37% จากระดับ 39.6% และ ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% โดยมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า น่าจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของขาขึ้นที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์บวกมากสุดถึง 5,000 จุดในปีนี้ และคำอธิบายว่าด้วย ซานต้า คลอส แรลลี่ ก็ไม่เพียงพอในการให้คำอธิบายถึงการพุ่งแรงของดัชนีตลาดหุ้น

คำอธิบายที่เหมาะสมสำหรับความผิดปกติของตลาดหุ้นยามนี้ หนีไม่พ้นที่ต้องเชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ที่มาของปัญหาทุนท่วมโลกจากมาตรการพิมพ์ธนบัตรของธนาคารกลางสำคัญของโลก 3 แห่งคือ เฟดฯ, BOJ และ ECB ช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา นับแต่มีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เกิดขึ้น

การลดดอกเบี้ยต่ำมาก ผสมกับการพิมพ์เพิ่มปริมาณเงินมหาศาลท่วมล้นโลก ทำให้เกิดยุคสมัยของดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำติดพื้น หรือ ดอกเบี้ยติดลบ หรือเงินฝืด ตามเป้าหมายทางทฤษฎีว่า ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดต้นทุนทางการเงิน แต่ผลข้างเคียง ที่ทำให้ผู้มีเงินออมและนักลงทุน ต้องเสี่ยงเข้าไปหาประโยชน์จากตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูง กลายเป็นฐานรากของดัชนีดาวโจนส์ และ S&P500 ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เป็นขาขึ้นยาวไม่เคยหยุดพักจริงจัง 6 ปีเศษ นานที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์วอลล์สตรีท และมีผลทำให้เม็ดเงินที่รั่วไหลจากมาตรการ QE ของเฟดฯเอง กระจายตัวไปตลาดเก็งกำไรทั่วโลก ทำให้ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ วิ่งขึ้นเป็นขาขึ้นยาวนานสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ

สถานการณ์ที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นยาวนาน สวนทางกับการถดถอยของการลงทุนและการบริโภคที่เกิดจากกำลังซื้อในตลาดแรงงานถดถอยหรือเพิ่มขึ้นเชื่องช้ามาก สอดรับกับทฤษฎีใหม่ของเศรษฐศาสตร์แห่งความไม่เท่าเทียมกันที่ว่า กลไกของเศรษฐกิจทุนนิยม มีธรรมชาติที่เปิดช่องให้อัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สินและทุน สูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่เสมอ อย่างเห็นได้ชัดอยู่หลายเท่าตัว

เมื่อการเก็งกำไรและการหารายได้จากดอกเบี้ยสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในการลงทุนสูงกว่าการทำงานของแรงงานแล้ว จึงไม่แปลกใจเลยที่ภายในกลไกที่ว่านี้ จะทำให้อิทธิพลของทุนการเงินและการเก็งกำไร กลายเป็นปัจจัยครอบงำเศรษฐกิจทุนนิยมโดยปริยาย

ท้ายสุดของห่วงโซ่การทำงานของระบบทุนนิยมนี้ คือ รากฐานของคำอธิบายว่า เหตุใดคนรวยจึงยิ่งรวยขึ้น และคนจนยิ่งจนลงโดยเปรียบเทียบ

ข้อเท็จจริงหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ตอกย้ำว่าภายใต้เศรษฐกิจที่เติบโตเชื่องช้าลง ซึ่งกินความรวมหมายถึงการมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำ รายได้ของคนทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นช้า แต่ในอีกมุมหนึ่งเกิดมีตัวเร่งให้อัตราผลตอบแทนของทรัพย์สินและทุนสูงกว่า ย่อมโน้มนำไปสู่ข้อเท็จจริงที่เลี่ยงไม่พ้นว่า เจ้าของทุนที่มาจากรายได้ในการลงทุนทางการเงินมากกว่าการทำงาน ซึ่งก็ได้แก่คนรวยกระจุกเล็กๆ จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ย

ผลพวงที่ตามมาหากว่า บรรยากาศของการแสวงหาประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำนี้ดำเนินไปต่อเนื่อง และมีความเหลื่อมล้ำสะสมพอกพูนหลายเท่า คนรวยก็จะรวยยิ่งขึ้น เพราะสัดส่วนของรายได้จากการลงทุนจะยิ่งขยายตัวมากกว่าสัดส่วนของรายได้ที่มาจากค่าแรงขึ้นทุกที

สภาพของการ “รวยกระจุก จนกระจาย” เช่นนี้ สามารถทำให้คนในโลกทุนนิยม เริ่มตระหนักและเข้าใจชัดยิ่งขึ้นว่าเหตุใดคนรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์รวมกันเป็นเจ้าของ 70 เปอร์เซ็นต์ของความมั่งคั่งทั้งหมดของประเทศ (ครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งทั้งหมดนี้ คนรวยสุด 1 เปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของ)

ข้อเท็จจริงเช่นนี้ ปรากฏในหนังสือขนาดหนาเตอะชื่อ ทุนในคริสต์ศตวรรษที่ 21 หนังสือเศรษฐศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ที่สุดของทศวรรษนี้! เขียนโดย โทมัส พิเก็ตตี นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ใช้เวลานานกว่า 10 ปีทุ่มเทกับการค้นหา ข้อเท็จจริงเพื่อศึกษาว่า เพราะอะไรคนเราจึงมีทุนไม่เท่ากัน หรือร่ำรวยไม่เท่ากัน

ข้อมูลที่มีมากมาย ทำให้พิเก็ตตี ปฏิเสธข้อสรุปพื้นๆ และรวบรัดที่ว่า เพราะใครขยันกว่าใคร หรือเพราะใครเอาเปรียบใคร และทำไมทุนหรือความมั่งคั่งจึงมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในมือกลุ่มน้อยลงทุกที และที่สำคัญจะสามารถแก้ไขอะไรได้ไหม เพื่อทำให้สังคมที่เป็นอยู่ดีขึ้น เป็นธรรมขึ้น ให้ทุกคนมีสิทธิมีโอกาสอย่างเท่าเทียมขึ้นในระดับหนึ่ง

คำตอบไม่ง่ายเลย ยากยิ่งกว่าปมกอร์เดี้ยนในตำนานกรีกโบราณ

เหตุผลอยู่ที่ว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ และไม่อาจแก้ปัญหาด้วยการให้ทุกคนมีเท่าๆ กันหรือเหมือนๆ กันได้ แต่สังคมที่จะมีสันติสุขได้ จะต้องเกิดฉันทามติร่วมกันเสียก่อนว่า ควรมีคุณธรรมพื้นฐานบางประการ เพื่อกำหนดกรอบว่า ความเลื่อมล้ำทางสังคมควรจะดำรงอยู่ได้ในเงื่อนไขที่ว่า มัน “มีประโยชน์ต่อส่วนรวม” เท่านั้น

ประเด็นคือใครจะเป็นคนมีอำนาจในการกำหนดคำนิยามว่า “อะไรคือสิ่งที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม”

ตราบใดที่ยังไม่สามารถหาคำตอบที่เหมาะสมได้ หมายความว่าโอกาสที่จะโน้มนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจของทุนนิยมครั้งใหม่ ก็จะเกิดขึ้นอีกไม่นานเกินรอ เพราะเหตุว่า การแก้ปัญหาวิกฤติในอดีต อาจจะกลายเป็นรากฐานของวิกฤติครั้งต่อใปในอนาคต

ปี 2561 อาจจะไม่ได้สดสวยตามมุมมองของนักวิเคราะห์หุ้น ผู้บริหารกองทุนเก็งกำไร และบรรดาผู้กุมอำนาจรัฐในประเทศต่างๆ

Back to top button