พาราสาวะถี

หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อยู่เกือบจะครบวาระ 4 ปี แต่นี่เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ความเสื่อมศรัทธาหรือคะแนนนิยมย่อมลดถอยเป็นธรรมดา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับเวลานี้รัฐบาลคสช.อยู่ในช่วงขาลง แต่ยังคงยืนยัน ตั้งใจทำงาน ทำตามโรดแมป เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสวยงามดังเดิม


อรชุน

หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อยู่เกือบจะครบวาระ 4 ปี แต่นี่เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ความเสื่อมศรัทธาหรือคะแนนนิยมย่อมลดถอยเป็นธรรมดา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับเวลานี้รัฐบาลคสช.อยู่ในช่วงขาลง แต่ยังคงยืนยัน ตั้งใจทำงาน ทำตามโรดแมป เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสวยงามดังเดิม

คาถาที่ท่องมาโดยตลอดคือปรารถนาดี หวังดีต่อบ้านต่อเมือง และยอมเสียสละ ในระยะเริ่มแรกคนส่วนใหญ่ก็เห็นตามนั้น แต่พอนานวันมันเริ่มที่จะไปไกลกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น เช่น เปลี่ยนตัวเองจากกรรมการ กระโดดมาเป็นผู้เล่น ปัญหาความขัดแย้งที่มันควรจะได้รับการแก้ไข กลายเป็นว่าแค่หยุดชั่วคราว เพราะถูกกดทับจากอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

มองถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี มีใครหน้าไหนที่จะกล้ามาทาบรัศมีหรือมีกลุ่มใดเคลื่อนไหวถึงขั้นที่จะล้มคณะรัฐประหารและองคาพยพได้หรือไม่ เมื่อทุกอย่างสงบนิ่ง แต่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจกลับไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองได้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างปากท้องของประชาชน

มิหนำซ้ำ ยังจะเห็นได้ว่าพอเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนด้วยสารพัดวิธี) กลับพบว่ามีประเด็นอันเกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสของคนรายล้อมรอบตัว แน่นอนว่า การเที่ยวถามหาใบเสร็จทั้งที่เป็นรัฐบาลซึ่งบริสุทธิ์ สะอาดกว่ารัฐบาลของนักเลือกตั้ง เพียงแค่มีข้อสงสัยก็ควรจะต้องจัดการกับบุคคลหรือองค์กรที่สังคมเคลือบแคลงนั้นทันที

ปรากฏว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี นอกจากจะไม่ทำแล้ว ยังมีการปกป้องบางเรื่องเข้าข่ายปกปิด ตรวจสอบไม่ได้อีกต่างหาก เช่นนี้แล้วความน่าเชื่อถือมันจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เช่น กรณีนาฬิกาหรู จริงอยู่ที่ว่าต้องให้กระบวนการเดินไปจนสุดท้าย อันหมายถึงการตรวจสอบขององค์กรอิสระอย่างป.ป.ช. ที่จะต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง

แต่ด้วยความที่คณะเผด็จการคสช.วางมาตรฐานความโปร่งใส รวมไปถึงศีลธรรม จรรยา ไว้สูงยิ่ง สิ่งที่คนต้องการเห็นก็คือ แค่มีเรื่องกล่าวหาก็ควรที่จะต้องให้คนๆ นั้นหยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือพักการทำงานไว้ก่อน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ การใช้วิธีการโยนลูก เล่นลิ้นอย่างที่เป็นอยู่ ยิ่งมีการใช้เหลี่ยมคูทางกฎหมายที่เห็นได้ชัดจากการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส. คนส่วนใหญ่ยิ่งสงสัยและไม่เชื่อมั่นหนักเข้าไปอีก

ประการสำคัญต้องไม่ลืมว่า องค์กรที่ทำการตรวจสอบนั้น มีข้อครหาทั้งเรื่องประธานที่เป็นผู้บริหารสูงสุดใกล้ชิดกับคนที่ถูกกล่าวหา มิหนำซ้ำ ยังได้รับอานิสงส์ให้อยู่ต่อกันถ้วนหน้าด้วยการพลิกพลิ้วในการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการบั่นทอนศรัทธาที่มีต่อท่านผู้นำ ไม่ต้องเอ่ยถึงองค์กรอิสระดังว่า แทบจะไม่เหลือราคาให้คนไว้วางใจได้

ขณะเดียวกัน คนกันเองก็เริ่มส่งสัญญาณ เรียกร้องด้วยความเป็นห่วงองค์รัฏฐาธิปัตย์ที่พวกตัวเองโบกมือดักกวักมือเรียกกันมาทำรัฐประหาร อาการเหลิงอำนาจหลงตัวเอง จะนำพาให้ท่านผู้นำเข้ารกเข้าพงชนิดกู่ไม่กลับ ล่าสุด พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เสนอทางออกให้กับรัฐบาลคสช.

แนะให้ปรับยุทธศาสตร์การเมือง ซึ่งสิ่งที่พิชายมองถือเป็นการการันตีสิ่งที่ฝ่ายการเมืองแสดงความคิดเห็นกันก่อนหน้านั้นไม่ใช่เรื่องอคติหรือการยัดเยียดข้อกล่าวหาแก่ท่านผู้นำแต่อย่างใด นั่นก็คือ “ยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจ” โดยพิชายเห็นว่าตัวแบบเชิงยุทธวิธีที่คณะรัฐประหารเลือกใช้ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับบริบททางการเมืองในยุคปัจจุบันแล้ว

เหตุผลก็ย้อนกลับไปตามที่บอกไว้แต่ต้น ความนิยมที่ประชาชนมีต่อหัวหน้าคณะรัฐประหารตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน อันเกิดมาจากรัฐบาลภายใต้การนำของคณะรัฐประหารไม่อาจทำให้วาทกรรมที่ประกาศไว้เป็นความจริงขึ้นมาได้ แม้ใช้เวลาร่วม 4 ปีในการครองอำนาจมาแล้วก็ตาม ในทางกลับกันกระแสที่ต้องการให้คณะรัฐประหารปล่อยวางอำนาจทางการเมืองกลับยิ่งทวีมากขึ้นตามลำดับ

ยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจการบริหาร ดูจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งคณะรัฐประหารเอง และต่อเกียรติภูมิของกองทัพในภาพรวมด้วย เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 หรือ 14 ตุลาคม 2516 ดังนั้น ทางออกที่ดีในมุมของพิชายคือ คณะรัฐประหารต้องเลิกคิดที่จะสืบทอดอำนาจแล้วเปลี่ยนไปเป็นผู้ตรวจสอบทางการเมืองแทน

คำถามที่ตามมาคือจะตรวจสอบอย่างไร สิ่งที่พิชายชี้แนะคือผ่านกลไกของวุฒิสภาหรือส.ว.ลากตั้ง 250 คน เพราะปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาของการที่นักการเมืองมีอำนาจมากคือ กลไกการตรวจสอบที่เป็นทางการในรัฐสภาไร้ประสิทธิภาพและลำเอียง จนทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาขึ้นมา หากส.ว.ในอนาคตที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารมีจุดยืนในการแสดงบทบาทตรวจสอบรัฐบาล ก็จะทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจมากขึ้น และช่วยลดโอกาสของการเกิดภาวะเผด็จการรัฐสภาดังในอดีต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พิชายน่าจะลืมคิดไปก็คือ ส.ว.ที่ลากตั้งมาทั้งหมดนั้น แน่นอนว่า ไม่ได้เป็นเผด็จการรัฐสภา แต่จะเป็นเหมือน สภาเผด็จการ หัวใจสำคัญคือ แน่ใจได้อย่างไรว่าคนเหล่านั้นวางตัวเป็นกลาง เป็นธรรม ไร้อคติ เพราะหากเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งและมีแกนนำหลักเป็นพรรคตัวปัญหา (ในสายตาคนดี) อย่างเพื่อไทย ถามว่าบ้านเมืองมันจะเดินไปได้อย่างนั้นหรือ

ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็เพราะวาทกรรมที่พิชายกล่าวถึงนั่นแหละ จากนั้นก็ขยายผลจนนำไปสู่การเมืองของคณะเผด็จการ ขณะที่การเสนอให้หัวหน้าคณะรัฐประหารประกาศต่อสาธารณะจะไม่เป็นนายกฯภายหลังการเลือกตั้งและประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน เป็นสิ่งที่ฟังแล้วดูดี แต่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะการเดินเกมกันถึงขนาดนี้ ไม่สนใจว่าสิ่งที่ (สั่ง) ทำกันไปจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั่นแสดงให้เห็นและเป็นการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

Back to top button