พาราสาวะถี

ปรากฏการณ์ “กลัวจนเกินงาม” ผ่านการตรวจเข้มขบวนหุ่นล้อการเมืองในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 72 ก่อนที่จะผ่อนคลายเอาในวินาทีสุดท้าย ยังคงสะท้อนภาพการใช้อำนาจกดทับ เพื่อไม่ให้ภาพอันไม่พึงประสงค์ของผู้มีอำนาจถูกนำมาเปิดเผย ตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง สิ่งเหล่านั้นคนส่วนใหญ่เขารู้และเข้าใจกันไปตั้งนานแล้ว


อรชุน

ปรากฏการณ์ “กลัวจนเกินงาม” ผ่านการตรวจเข้มขบวนหุ่นล้อการเมืองในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 72 ก่อนที่จะผ่อนคลายเอาในวินาทีสุดท้าย ยังคงสะท้อนภาพการใช้อำนาจกดทับ เพื่อไม่ให้ภาพอันไม่พึงประสงค์ของผู้มีอำนาจถูกนำมาเปิดเผย ตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง สิ่งเหล่านั้นคนส่วนใหญ่เขารู้และเข้าใจกันไปตั้งนานแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหวนเพชร นาฬิกาหรูหรือแม้กระทั่งรายชื่อตัวละครที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่นิสิต นักศึกษาของสองมหาวิทยาลัยจะนำมาล้อ ข่าวคราวทั้งหลายมันได้ทะลักไหล จนไปไกลถึงขนาดที่มีการรณรงค์เข้าลงชื่อเพื่อขับไล่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไขก๊อกพ้นเก้าอี้ในรัฐบาลคสช.กันแล้ว ทั้งหมดนั้นก็ไม่ใช่การดำเนินการโดยอาศัยอคติ หากแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำพูดพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ที่ลั่นวาจาไว้ว่า ถ้าประชาชนไม่เอาผมก็พร้อมจะลาออก

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นเรื่องของสนิมเกิดแต่เนื้อในตนทั้งสิ้น ก่อนที่ประชาชนจะได้เห็นขบวนล้อการเมืองที่ด้านหนึ่งนิสิตจุฬาฯยอมรับต่อกระบวนการตรวจเข้มของฝ่ายอำนาจรัฐ ขณะที่ฟากฝั่งนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกอาการอารยะขัดขืนเล็กๆ พร้อมคำประกาศก่อนวันงานจะเริ่มต้น รับรองมีเซอร์ไพร์สแน่นอน

ในที่สุดก็นำมาซึ่งสิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของประชาชน การใช้หุ่นที่บอกว่าเป็นตัวละครในวรรณคดีที่ชื่อว่า “ยักษ์นนทก” เล่าเรื่องเปรียบเปรยนั้น ถือเป็นความล้ำลึกหากมองว่านี่เป็นผลงานของนักศึกษา มิหนำซ้ำ ยังมีบทกลอนที่อธิบายเรื่องราวของหุ่นทั้ง 5 ตัวในส่วนของธรรมศาสตร์ด้วย ส่วนจุฬาฯแม้จะมีหุ่นแค่ตัวเดียวที่คลุมผ้าดำ แต่เลือกเป้าหมายไปที่ป.ป.ช.ก็ถือว่าน่าจะตอบสนองอารมณ์อันเป็นความรู้สึกร่วมของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้เป็นอย่างดี

สรุปแล้ว ความกลัวที่เกิดขึ้นหาได้เป็นเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์และเนื้องานที่ผู้มีอำนาจได้ดำเนินการตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีไม่ แต่พุ่งเป้าหมายไปอย่างพิเศษและเด็ดขาดกับกรณีตัวบุคคลที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นใคร และเรื่องราวอันเป็นกระแสร้อนแรงอยู่ในเวลานี้ ยิ่งพอได้ฟังคำชี้แจงของโฆษกกองทัพบกก่อนจะเริ่มงาน ยิ่งเด่นชัดว่าเป็นการปกป้องตัวบุคคลมากกว่าที่จะหยิบยกเหตุผลอันเป็นไปเพื่อส่วนรวม

อย่างไรก็ตาม หากมองอย่างเข้าใจกับคนที่เคยเอาแต่ชี้นิ้วสั่งการและผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องก้มหน้ารับคำสั่งนั้นแต่โดยดี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าคงยากที่จะรับได้หากจะมีใครนำเกียรติและศักดิ์ศรีดังว่านั้นมาย่ำยีผ่านขบวนล้อการเมือง แต่หากมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสถานะของตัวเองไม่ใช่แม่ทัพ นายกอง แต่คือผู้บริหารประเทศ ที่จะต้องสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องยอมรับและทำใจให้ทุกอย่างเดินไปตามธรรมชาติ

ไม่เพียงเท่านั้นหากผู้นำหรือผู้มีอำนาจ ยึดหลักกฎแห่งกรรม ใครทำดีย่อมได้ผลดีกลับคืนมา ดังเช่นที่ผู้นำย้ำมาโดยตลอดว่า คิดดี ทำดีเพื่ออนาคตของบ้านเมือง แค่เรื่องการล้อการเมืองจึงไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตที่จะต้องออกอาการหวั่นไหว ส่วนหากจะคิดว่าแค่ปมนาฬิกาหรูของพี่ใหญ่เพียงอย่างเดียวไม่ควรจะนำมาเปรียบเทียบหรือล้มทับกับเรื่องต่างๆ ที่คณะรัฐประหารได้ทำมา เช่นนั้นถือเป็นการคิดเข้าข้างตัวเองและละเลยต่อประเด็นที่ว่าด้วยคุณธรรม จริยธรรมที่ดีของผู้บริหารบ้านเมือง

ในเมื่อยึดหลักความเป็นคนดีในการบริหารประเทศ ผู้ร่วมคณะคนดีจะต้องไม่มีเรื่องด่างพร้อยให้เป็นที่ตำหนิ กรณีนาฬิกาหรูถ้าท่านผู้นำเชื่อมั่นว่าเป็นการยืมเพื่อนมาใส่และมั่นใจว่าในการตรวจสอบของป.ป.ช.จะชี้ไปในทางที่ว่าคนถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล อาจจะด้วยเหตุผลความมีบุญคุณต่อกันหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องมองไปในบริบทของสังคมด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคนส่วนใหญ่รับได้หรือไม่

เช่นเดียวกัน คนส่วนใหญ่คงไม่ได้มองด้วยอคติและไม่ให้อภัยในสิ่งที่มีการกล่าวอ้างว่ายืมเพื่อนมาใส่ แต่มันต้องมองย้อนกลับไปดูเรื่องราวที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศของรัฐบาลคสช. ประเด็นข้อกล่าวหาหรือข้อกังขาที่เกี่ยวพันกับเรื่องไม่ทุจริตต่างๆ นั้น หากชี้นิ้วไปแล้วสังคมคลางแคลงใจและมีแนวโน้มเชื่อมั่นว่าเกี่ยวข้องกับใครมากที่สุด

พฤติกรรมในอดีตมันเป็นผลผูกพันต่อเนื่องมายังปัจจุบัน การใช้ความเป็นคนดีการันตีสิ่งที่คนร่วมคณะทำไปนั้น มันอาจจะพอรับกันได้ในบางครั้งหรือแค่ครั้งเดียว แต่พอมันหลายครั้งหลายหน ต้นทุนที่ใช้มันย่อมร่อยหรอ เสื่อมลง มิเช่นนั้น คงไม่มีคำเตือนจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผู้มีอำนาจให้ความเคารพเรื่องการใช้กองหนุนที่แทบจะไม่มีเหลือแล้วในเวลานี้
นี่ย่อมเป็นการมองจากผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและเข้าใจในสัจธรรมแห่งการเมืองได้เป็นอย่างดี การที่บิ๊กตู่ยอมรับว่า ผ่านมาเกือบ 4 ปีเป็นเรื่องปกติที่ทุกรัฐบาลจะต้องเผชิญกับภาวะความเบื่อหน่าย นั่นเป็นการสรุปบทเรียนที่อาจถูกเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะความเป็นจริง หากรัฐบาลนั้นมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน และไม่มีเรื่องมัวหมอง คนส่วนใหญ่จะต้องเรียกร้องให้อยู่ต่อและอยู่ไปนานๆ อย่างแน่นอน

เมื่อเป็นอย่างที่เห็นมีทั้งเรื่องนาฬิกาหรูที่เหตุผลฟังดูแล้วไม่เข้าท่า และยังมีการกางปีกปกป้องกันอุตลุด แล้วยังมีเรื่องของการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยอาศัยกลไกหรือที่ถูกเรียกว่าอภินิหารทางกฎหมาย ทั้งๆ ที่ก็รับรู้กันเป็นการทั่วไปว่าสืบทอดอำนาจแน่ๆ แต่ยังอยากจะอยู่ยาวกับอำนาจ ณ ปัจจุบัน การเผชิญกับการไม่ยอมรับและทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะใช้วิธีการกดทับเช่นที่ทำมาเกือบ 4 ปี ปฏิกิริยาจากงานบอลประเพณีน่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ยิ่งกดยิ่งต้านและอาจจะทำให้พังเอาง่ายๆ

X
Back to top button