หุ้น KTC-AEONTS

วานนี้ (19 ก.พ.) ราคาหุ้น “บัตรกรุงไทย” หรือ KTC ปรับลง 20 บาท ปิดที่ 276 บาท ลดลง -6.76% หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาปิดระดับ 296.00 บาท เพิ่มขึ้น 36 บาท เปลี่ยนแปลง +13.75% มูลค่าการซื้อขาย 951 ล้านบาท ขณะที่มีคำเตือนจากนักวิเคราะห์แล้วว่า ให้ระวังการเข้าลงทุนหุ้น KTC เพราะเมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาแรงได้ ก็อาจปรับลงไปแรงได้เช่นกัน


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วานนี้ (19 ก.พ.) ราคาหุ้น “บัตรกรุงไทย” หรือ KTC ปรับลง 20 บาท ปิดที่ 276 บาท ลดลง -6.76%

หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาปิดระดับ 296.00 บาท เพิ่มขึ้น 36 บาท เปลี่ยนแปลง +13.75% มูลค่าการซื้อขาย 951 ล้านบาท

ขณะที่มีคำเตือนจากนักวิเคราะห์แล้วว่า ให้ระวังการเข้าลงทุนหุ้น KTC

เพราะเมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาแรงได้

ก็อาจปรับลงไปแรงได้เช่นกัน

และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับ เคทีซี และเหตุใดราคาหุ้นจึงเคลื่อนไหว “หวือหวา”

มีคำตอบจากนักวิเคราะห์ว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อผลประกอบการของเคทีซีที่สร้างเซอร์ไพรส์อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/2560

และคาดการณ์กันไปอีกว่า ไตรมาส 1/2561 อาจจะสร้างเซอร์ไพรส์ได้อีก

ราคาหุ้นเคทีซี ปรับลงอย่างมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 หรือลงไปปิดตลาด 99.75 บาท เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560

สาเหตุมาจาก แบงก์ชาติได้มีการบังคับใช้เกณฑ์สินเชื่อไม่มีหลักประกันที่เข้มงวดขึ้น และเริ่มมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2560

ส่วนผู้บริหารเคทีซีเองก็ออกมายอมรับว่าจะได้รับผลกระทบแน่นอน

และส่วนที่น่าจะลดลงมากสุดคือ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ลดลงจากเดิม 20% เหลือเพียง 18%

นักวิเคราะห์ต่างดีดลูกคิดใหม่กันทันทีว่า จะมีผลกระทบต่อกำไรของเคทีซีแน่นอน

แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม–กันยายน 2560 ราคาหุ้นเคทีซีที่เคลื่อนไหวระหว่าง 105-115 บาท กลับค่อยๆ ปรับขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงเดือนตุลาคม 2560 และลากยาวมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561

หรือในช่วงเกือบๆ 5 เดือน ราคาหุ้นเคทีซีขึ้นมาแล้ว 140%

และดูเหมือนว่าราคาหุ้นเคทีซีจะวิ่งแซงราคาเป้าหมายของโบรกฯทุกแห่งไปล่วงหน้า

เพราะหากย้อนกลับไปดูราคาหุ้นเคทีซี กับบทวิเคราะห์ของโบรกฯ ต่างๆ ที่ปรับราคาเป้าหมายขึ้นมา ราคาหุ้นเคทีซีวิ่งขึ้นมากางมุ้งรออยู่ก่อนแล้ว

ส่วนตัวนั้น ไม่แน่ใจว่าหุ้นตัวนี้มี “เจ้าภาพ” หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ มีการยืนยันข้อมูลว่า นักลงทุนสถาบัน และรายใหญ่ได้เข้ามาเก็บหุ้นตัวนี้เข้าพอร์ตกันสนุกสนาน

นัยสำคัญของหุ้นเคทีซีที่เป็นเชิงบวก เพราะมองกันว่า สินเชื่อบุคคลยังคงมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น

และต่างมีความเชื่อมั่นในฝีมือการบริหารของ “ระเฑียร ศรีมงคล” ซีอีโอของเคทีซี

ประเด็นที่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับราคาหุ้นเคทีซีที่ขึ้นมา คือ ทำให้ “นักลงทุนรายย่อย” มีโอกาสเข้าลงทุนในหุ้นตัวนี้น้อยลง และสภาพคล่องของหุ้นที่เริ่มลดลง ทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นลง (หวือหวา) ได้ง่าย

ขณะที่ผู้บริหารของเคทีซียืนยันแล้วว่าไม่มีนโยบาย “แตกพาร์”

การปรับขึ้นของหุ้น เคทีซี ยังมีประเด็นน่าสนใจเพิ่มอีก

นั่นคือ เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้น AEONTS ด้วย

ทั้งๆ ที่หุ้นตัวนี้ ก่อนหน้านี้ บางวันซื้อขายกันเพียงหลักแสน หรือหลักล้านบาทเท่านั้น ไมใช่เป็นหลักนับร้อยล้านบาทเช่นเดียวกับขณะนี้

วานนี้ราคาหุ้น AEONTS ปิดที่ 179.50 บาท ลดลง 4.50 บาท

และมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 854.5 ล้านบาท

หุ้นอิออนฯ เริ่มซื้อขายคึกคักมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2561 หรือเคลื่อนไหวขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกับที่เคทีซีขยับขึ้นมาแรงๆ อีกครั้งจากปี 2560

รูปแบบธุรกิจของเคทีซี กับอิออนฯ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนัก

มีการมองกันว่า ราคาหุ้นอิออนฯ มีพี/อีอยู่เพียง 15-16 เท่า ส่วนเคทีซีตอนนี้อยู่ราวๆ 22-23 เท่า

จึงมีโอกาสที่ราคาหุ้นอิออนฯ จะขยับขึ้นมาอีกได้

ผ่านมาถึงวันนี้ ไม่น่าเชื่อว่า หุ้นสินเชื่อบุคคลจะได้รับความสนใจมากขนาดนี้

นี่ยังไม่รวมหุ้นอย่าง SAWAD และ MTLS อีกด้วยนะ

Back to top button