การบินไทยไร้หัว

ตำแหน่งของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ว่างลงมาประมาณ 1 ปี ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ มีแต่รักษาการแทน แต่บริษัทก็ยังสามารถดำเนินการไปได้ตามปกติ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ตำแหน่งของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ว่างลงมาประมาณ 1 ปี ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ มีแต่รักษาการแทน แต่บริษัทก็ยังสามารถดำเนินการไปได้ตามปกติ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ล่าสุด นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการสรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) เปิดเผยว่า บ่ายวานนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ THAI ซึ่งมีการรายงานจำนวนผู้สมัครชิงตำแหน่งดีดี และหากมีจำนวนรายที่เหมาะสม ก็คงไม่มีความจำเป็นต้องขยายเวลารับสมัครออกไปอีก จากปัจจุบันที่จะสิ้นสุดการรับสมัครในวันที่ 28 ก.พ. 2561 นี้

ท่าที “ทำทองไม่รู้ร้อน” ดังกล่าว ส่งสัญญาณชัดเจนว่า รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแต่งตั้งผู้บริหารที่จะทำหน้าที่รับผิดชอบองค์กรสำคัญอะไรมากนัก

เมื่อพิจารณาจากงบการเงินที่เพิ่มประกาศล่าสุดวานนี้ อันเป็นงวดสิ้นสุดปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ก็บ่งบอกข้อเท็จจริงเช่นนั้น

ในผลการดำเนินงานปกติ มีตัวเลขกำไรสุทธิเบื้องต้น 2,856 ล้านบาท ลดลงไปกว่าปีก่อนที่มีกำไรเบื้องต้น 4,871 ล้านบาท แต่เมื่อหักกลบด้วยผลขาดทุนจากส่วนได้เสียในสายการบินนกแอร์ 429 ล้านบาท ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินที่จอดทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งาน 3,191 ล้านบาท และขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนอีก 1,581 ล้านบาท จะทำให้ขาดทุนสุทธิที่ 2,107 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 15,740 ล้านบาท ถือว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะปีก่อนที่กำไรเยอะ ก็มาจากกำไรพิเศษเช่นกัน

หลายปีมาแล้วที่ ผลการดำเนินงานปกติของ THAI และบริษัทย่อย หรือ EBITDA มีตัวเลขกำไรต่อเนื่อง แต่ถูกถ่วงด้วยตัวเลขที่ทำให้ กำไรลดหรือเพิ่มเกินปกติ หรือขาดทุนมากเกินจริงขาดทุน 3 ด้านเสมอมา ที่ถือเป็นตัวเลขเกินปกติ คือ

  1. ค่าใช้จ่ายตัดจ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว
  2. ตัวเลขบันทึกรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน
  3. ตัวเลขบันทึกกำไรหรือขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทางบัญชี 

ตัวเลขที่ขี้เหร่ของ THAI ปี 2560 ก็ไม่ผิดคาด เพราะนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักได้ชี้แนะไว้แล้วว่า จะต้องเผชิญกับแรงกดดันในไตรมาสสองและสาม 3 เรื่อง คือ

  1. โอกาสในการขาดทุนในช่วงโลว์ซีซั่นปกติ เนื่องจากไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวและการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง
  2. ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนกว่า 33% ของการบิน มีแนวโน้มสูงขึ้น
  3. ต้นทุนอื่นๆ นอกจากน้ำมัน โดยเฉพาะการแข่งขันลดค่าตั๋ว (รวมทั้งมีรายการพิเศษเพิ่มเติม) ทำให้ Passenger yield ต่ำลง

ปัจจัยอันซ้ำซากแบบฉายหนังซ้ำมาหลายปี รวมทั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ทำให้การมีหรือไม่มีผู้บริหารสูงสุดของบริษัทสายการบินแห่งชาตินี้ ดูเป็นแค่เกม “เก้าอี้ดนตรี” มากกว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการบริหารจัดการที่จะทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มียอดหนี้สินรวมมากกว่า 2.48 แสนล้านบาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นเหลืออยู่ที่ 3.21 หมื่นล้านบาท

เมือไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าการมีอยู่หรือไม่มีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่จะช่วยให้ประสิทธิภาพดีขึ้น หรือเลวลง การเลื่อนเวลาสรรหาไปเรื่อยๆ อาจจะถูกต้องก็ได้ เพราะจะไร้หัว หรือมีหัว มันก็ได้ผลลัพธ์ครือๆ กันอยู่ดี

อย่างน้อยก็ไม่ต้องเห็นการเปลี่ยนตัวผู้บริการที่กระชั้นถี่โดยไม่มีคำตอบว่าอนาคตจะดีขึ้นอย่างไร เกิดอย่างซ้ำซากเหมือนที่ผ่านมา

Back to top button