พาราสาวะถี

แห่แหนไปจดแจ้งจองชื่อพรรคกันมากถึง 42 กลุ่มการเมือง ในการเปิดให้ดำเนินการวันแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ฟังจากเสียงผู้แทนหรือว่าที่หัวหน้าพรรคทั้งหมดที่ไปจดทะเบียน เกินกว่าครึ่งชูธงสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ง่ายและไม่ต้องลงทุน ยามนี้หันซ้ายแลขวาจะมีใครโด่งดังเกินท่านผู้นำม.44


อรชุน

แห่แหนไปจดแจ้งจองชื่อพรรคกันมากถึง 42 กลุ่มการเมือง ในการเปิดให้ดำเนินการวันแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ฟังจากเสียงผู้แทนหรือว่าที่หัวหน้าพรรคทั้งหมดที่ไปจดทะเบียน เกินกว่าครึ่งชูธงสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ง่ายและไม่ต้องลงทุน ยามนี้หันซ้ายแลขวาจะมีใครโด่งดังเกินท่านผู้นำม.44

สิ่งที่เป็นปุจฉาตามมาคือจากทั้งหมดซึ่งยังไม่ได้ปิดรับการจดแจ้ง ถามว่าจะเหลือรอดผ่านกระบวนการไปจดตั้งพรรคจริงๆ ซักกี่กลุ่ม เพราะพิจารณาตามเงื่อนไขแค่สมาชิกตั้งต้น 500 คน โดยต้องจัดประชุมผู้ก่อตั้งไม่น้อยกว่า 250 คน ไหนจะมีเงื่อนไขเงินทุนประเดิมอีก 1 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องง่าย ถามว่าจะมีใครคิดสนุกโยนเงินล้านให้คนไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์

ส่วนพรรคเก่าที่มีอยู่ 69 พรรค สมชัย ศรีสุทธิยากร บอกมาแล้ว 28 มีนาคม กกต.เชิญประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการเรื่องสมาชิกพรรคในวันที่ 1 เมษายนนี้ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ไม่มีอะไรเป็นพิเศษแค่พิธีกรรม สำรวจสมาชิกให้เรียบร้อย ส่วนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต้องร้องเพลงรอไปก่อน

ถ้ายึดตามเงื่อนไขที่พลเอกประยุทธ์ประกาศไป สำทับด้วยบทสัมภาษณ์ วิษณุ เครืองาม โยงเข้ากับคำสั่งที่ 53/2560 จะมีการหารือกันในเดือนมิถุนายนเพื่อกำหนดปฏิทินเลือกตั้งแบบคร่าวๆ บนข้อแม้ว่าร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ต้องผ่านความเห็นชอบจากสนช.และประกาศบังคับใช้เท่านั้น

ฟังเสียงจากนักการเมืองและพรรคการเมือง โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่เพื่อไทยและประชาธิปัตย์เห็นตรงกัน คำสัญญาของท่านผู้นำไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะยังมีเงื่อนไขที่บอกว่าจะให้เลือกตั้งไม่เกินกุมภาพันธ์ปีหน้า สถานการณ์ทุกอย่างต้องสงบราบคาบ ไม่มีการยุยงปลุกปั่น ไม่มีความเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยการตีความ คำถามคือถ้ามองว่ากลุ่มอยากเลือกตั้งเป็นผู้สร้างความวุ่นวาย แค่นี้ก็ไม่ต้องได้เลือกตั้งกันแล้ว

การไปจดแจ้งชื่อของกลุ่มการเมืองรอตั้งพรรคใหม่ ที่คนอยากเห็นเป็นที่สุดแต่ยังไม่ไปคือ พรรคมวลมหาประชาชนฯของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ปล่อยให้น้องชาย ธานี เทือกสุบรรณ ออกมาโยนหินถามทางไปพลางๆ ก่อน ดูจากทิศทางลมแล้วคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีพรรคเป็นของตัวเอง อย่างหนึ่งที่เชื่อได้เลยคือคงไม่น่าจะตัดขาดจากพรรคเก่าแก่ แต่จะเป็นเกมแยกกันเดินร่วมกันตีหรือไม่ อันนี้ต้องติดตาม

ต้องไม่ลืมว่าโจทย์สำคัญที่เทพเทือกจะต้องแก้ให้ตกและอธิบายกับมวลมหาสมาชิกให้ได้ก็คือ หากหวังในชัยชนะฐานเสียงชัวร์ๆ อยู่ที่ภาคใต้และกทม. ทว่าในบริบทที่ประชาธิปัตย์ยังมี ชวน หลีกภัย ถือธงนำลุยพื้นที่แดนทักษิณ จะมีกี่จังหวัดที่พรรคมวลมหาประชาชนจะฝ่าด่านมะขามเตี้ยกำชัยชนะได้ ขณะที่ในพื้นที่เมืองหลวง มาถึงวันนี้พรรคเก่าแก่เองก็ยังไม่มั่นใจว่าจะรักษาฐานที่มั่นไว้ได้เหมือนเดิมหรือเปล่า

ขณะที่มวลมหาประชาชนที่ร่วมกันชัตดาวน์ประเทศ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญ ชนชั้นนำอาจไม่ได้อินังขังขอบ แต่คนระดับกลางลงมา รวมไปถึงพ่อค้าแม่ขาย เถ้าแก่ทั้งหลายต่างตกอยู่ในภาวะค้าขายฝืดเคืองทั้งสิ้น ไม่ต้องถามว่าเป็นผลพวงมาจากสิ่งใด ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งประชาธิปัตย์และพรรคของเทพเทือกต้องคิดกันหนัก จะสร้างวาทกรรมอะไรมาขอคะแนนเสียงจากคนเหล่านั้น สิ่งสำคัญอีกประการอย่าลืมว่า คนเมืองหลวงนั้นเป็นพวกนอนหลับทับสิทธิ์มากที่สุดในการเลือกตั้งทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากจะอาศัยความเป็นคนกันเอง ฝ่ายเชลียร์อำนาจเผด็จการอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู คงต้องหวังอานิสงส์จากโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่ส่งทีมงานล้างสมองกระจายตัวไปทั่วประเทศ ตรงนี้คงเป็นทั้งการขายของ หาเสียงกันล่วงหน้า รวมไปถึงการหยั่งเสียงลองเชิงลูกค้าที่จะมาลงคะแนนกันไปในตัว หากแนวรบเดิมยังไม่เปลี่ยนแปลงคงต้องหาวิธีการพลิกแพลงเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ

ลำพังกระบวนการอันใช้ผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ก็ว่าน่าจะเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายถือครองอำนาจมากอยู่แล้ว แต่เพื่อความเด็ดขาดมันต้องถึงลูกถึงคน สิ่งที่คนกลัวกันคือช่วงเลือกตั้งอำนาจตามมาตรา 44 ยังมีอยู่ นั่นอาจจะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้การตรวจสอบการลงคะแนนจนไปถึงการนับคะแนนอาจทำได้ลำบากเหมือนกับการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในหลายเรื่องที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หากมองกันมุมนี้ ก็มีความเป็นไปได้เหมือนอย่างที่ธานีน้องเทพเทือกว่าพรรคมวลมหาประชาชนจะประสบความสำเร็จคว้าชัยชนะเป็นอันดับสอง ซึ่งก็ยังน่าสนใจอยู่ดีว่าแล้วพรรคอันดับหนึ่งนั้นคือใคร ถ้าวิเคราะห์จากฐานเสียงร่วมกับประชาธิปัตย์แล้ว ก็ไม่น่าที่จะได้เป็นพรรคอันดับหนึ่ง แสดงว่าพรรคนายใหญ่ยังถือไพ่เหนือกว่าทุกพรรคกับการเลือกตั้งครั้งหน้า

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ผู้เล่นพร้อม ผู้กุมอำนาจมั่นใจ แต่คนคุมกติกาอย่างกกต.ยังมองไม่เห็นทิศทางว่าจะจบลงอย่างไร ใครจะเป็นหน่วยกล้าตายชุดที่สองในการเสนอตัวเป็นผู้ถูกเลือกนั่งเก้าอี้ 7 ตัวเพื่อดูแลการเลือกตั้ง ขนาด พรเพชร วิชิตชลชัย ประมุขฝ่ายคุมกลไกโหวตคว่ำว่าที่ 7 รายชื่อ ยังออกอาการหวั่นไหว เกรงว่าจะได้ผู้มีคุณสมบัติขั้นเทพเข้าสู่กระบวนการสรรหาได้ยาก

เมื่อเป็นเช่นนั้น คงหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้วิธีการทาบทามบุคคลที่มีคุณสมบัติถึงพร้อม เสนอชื่อให้ที่ประชุมสนช.พิจารณา ซึ่งปัญหาก็วกกลับไปที่เดิมแม้จะถูกเชิญมา แต่ใครจะกล้าการันตีว่าจะไม่ถูกตีตกในชั้นของสภาแต่งตั้งอีก ยังไม่นับรวมที่ต้องจับตาคือกระบวนการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ผลจากการถูกตบหน้าฉาดใหญ่ จะทำให้ 2 รายชื่อจากสายศาลมีอุปสรรคหรือปัญหาใดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ฟังจากเนติบริกรประจำรัฐบาลอย่างวิษณุที่ว่า หากกระบวนการเลือกกกต.ทั้ง 7 คนไม่เสร็จสิ้น และกกต.ชุดปัจจุบันเหลือไม่ครบองค์คณะหรือต่อให้ไม่มีเหลือแม้แต่คนเดียว ก็ไม่ใช่ปัญหา รับรองว่ามีทางออกอย่างแน่นอน ถ้าเช่นนั้นก็เบาใจกันได้ หมายความว่าจะต้องมีคนจัดการเลือกตั้งอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะมาด้วยวิธีใดเท่านั้น สิ่งสำคัญจึงเหลืออยู่แค่ว่า “แป๊ะ” จะพอใจให้จัดการเลือกตั้งเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

X
Back to top button