พาราสาวะถี

เมื่อรัฐบาลสนุกกับการผุดสารพัดโครงการผ่านประชานิยมจำแลงที่ชื่อประชารัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหลังจากมีคนไปยื่นจดแจ้งจะตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า “พลังประชารัฐ” ทุกสายตาจึงจับจ้องมองไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จดๆ จ้องๆ จะเข้าร่วมสังฆกรรมกับพรรคการเมืองใด โดยสิ่งที่ท่านผู้นำใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินใจคือ นโยบายและความตั้งใจสร้างประโยชน์เพื่อประเทศชาติ


อรชุน

เมื่อรัฐบาลสนุกกับการผุดสารพัดโครงการผ่านประชานิยมจำแลงที่ชื่อประชารัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหลังจากมีคนไปยื่นจดแจ้งจะตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า พลังประชารัฐ” ทุกสายตาจึงจับจ้องมองไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จดๆ จ้องๆ จะเข้าร่วมสังฆกรรมกับพรรคการเมืองใด โดยสิ่งที่ท่านผู้นำใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินใจคือ นโยบายและความตั้งใจสร้างประโยชน์เพื่อประเทศชาติ

พิจารณาจากคนไปจดแจ้งชื่อ ชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม ดีกรีไม่ธรรมดามหาบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเจ้าตัวก็จบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกันนี่เอง นอกจากนั้น เมื่อปี 2557 เจ้าตัวยังเคยได้รับรางวัล ILGA ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลที่พัฒนาท้องถิ่นจากประเทศเกาหลี ซึ่งถือเป็นคนไทยคนที่ 2 ของไทยที่ได้รับรางวัลนี้ต่อจาก จำลอง ศรีเมือง ที่เคยได้รับเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

สิ่งสำคัญคือชวนเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาตลาดน้ำคลองลัดมะยมจนมีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนเจ้าตัวได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐที่เกิดขึ้น ถูกมองว่าจะเป็นพรรคที่ผลักดันให้บิ๊กตู่ก้าวสู่เก้าอี้นายกฯอีกกระทอกหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า และในการเปิดตัวพรรคเร็วๆนี้ก็จะมีการเปิดโฉมหน้าหัวหน้าพรรคตัวจริงเสียงจริง ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นคนระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.เสียด้วย

นั่นเป็นมุมในแง่ของแหล่งข่าว แต่ถ้าย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ของผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ก็จะเห็นแนวความคิดรวมทั้งแนวทางของพรรคการเมืองนี้อย่างไม่ธรรมดา เริ่มต้นที่ชื่อของพรรคที่พ้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลคสช. ชวนออกตัวว่า มันเป็นคำที่บังเอิญ ไม่รู้จะใช้คำไหนให้เกิดการรวมตัวกันให้เกิดการทำงานร่วมกัน คิดว่าถ้าประเทศและประชาชนร่วมกันทำงานไม่เป็นจะโตได้ยังไง

ถ้าภาคประชาชนภาครัฐร่วมกันไม่ได้ มันจะโตได้ยังไง รัฐต้องมีในทางรัฐศาสตร์ที่ว่ารัฐเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น เราปฏิเสธไม่ได้เมื่อมีรัฐตามกฎหมายก็ต้องมีคนของรัฐนั่นคือราชการ เช่น ระบบประชาธิปไตยก็มีตัวแทนจากการเลือกตั้ง เมื่อถามต่อว่าพลังประชารัฐน่าจะเป็นพรรคเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนจากคสช. ชวนก็ไม่ปฏิเสธหากเป็นเช่นนั้น

แต่มีคำอธิบายว่าเชื่อว่าคสช.จะให้การสนับสนุนหลายพรรคไม่ใช่แค่พรรคเดียว ตนคิดว่าพลเอกประยุทธ์คงสนับสนุนหลายพรรค พลังประชารัฐหากจะได้รับการสนับสนุนก็ไม่เห็นผิดอะไร หากจะเป็นไปตามวิธีการตามกฎหมายไม่เห็นมีปัญหาอะไร ถ้าเห็นว่ามีตำแหน่งแล้วจะเห็นด้วยกับเรื่องใดไม่ได้ก็คงไม่ใช่ พิจารณาจากท่าทีก็พอที่จะเห็นอะไรบางอย่างซ่อนอยู่

คำถามที่สำคัญคือ การโหวตเลือกนายกฯหลังการเลือกตั้ง ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐอธิบายว่า หากคนในระบบเหมาะสมก็ไม่จำเป็นต้องเลือกนายกฯคนนอก แต่หากมีการเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯคนนอก ในนามพรรคพลังประชารัฐยังตอบไม่ได้ในตอนนี้ว่าจะสนับสนุนหรือไม่ แต่ส่วนตัวที่ติดตามการบริหารงานของรัฐบาลคสช.ตลอดเกือบ 4 ปีไม่ปฏิเสธว่าพลเอกประยุทธ์มีคุณสมบัติที่จะเป็นนายกฯคนนอก

นี่แค่วิเคราะห์กันตามหน้าเสื่อ ยังไม่สาวลงลึกไปถึงเบื้องหลัง แน่นอนว่าท่วงทำนองของท่านผู้นำ คงไม่ต้องแทงกั๊กอะไรกันอีกว่าจะเล่นการเมืองต่อหรือไม่ ไม่มีอะไรจะต้องเหนียมกันอีกต่อไป ลงทุนกันมาถึงขนาดนี้แล้วจะปล่อยให้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปที่วางไว้ยาวถึง 20 ปี ให้ใครมาชุบมือเปิบไปได้อย่างไร

ไม่ว่าจะมีเสียงวิจารณ์หนักหน่วงขนาดไหน ณ วันก่อนเลือกตั้งยังมีกฎหมายพิเศษและมาตรา 44 อยู่ในมือ จึงเชื่อมั่นว่าจะปิดปากทุกสรรพเสียงที่เสนอหน้ามาท้าทายได้ บทเรียนของอำนาจเผด็จการที่ผ่านมาคือ มุ่งแต่ที่จะอยู่ในอำนาจและมองไปถึงประโยชน์เฉพาะหน้า แต่กับคณะรัฐประหารชุดนี้มีการวางแผนกันมาอย่างแยบยล ตั้งแต่การวางตัวคณะบุคคล จนไปถึงการร่างกฎกติกาต่างๆ

สิ่งสำคัญที่คณะเผด็จการชุดอื่นไม่มี คือการระดมสารพัดโครงการอันเป็นประชานิยมจำแลงหวังซื้อใจคนรากหญ้า ควบคู่ไปกับการจำกัดความเคลื่อนไหวของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามจนยากจะกระดิกตัวได้ ขณะเดียวกัน ในระดับบนบรรดาเจ้าสัวก็ได้รับการดูแลอย่างเลิศหรู ที่เป็นปี่เป็นขลุ่ยกับเผด็จการคสช.คือชนชั้นสูงและนักวิชาการผู้มีพลังในสังคม ซึ่งมีอคติต่อระบอบทักษิณ พร้อมใจกันจงเกลียดจงชังระบอบประชาธิปไตยที่มีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน

ส่วนคนนี้หลังจากได้รับไฟเขียวจากแม่และคนในตระกูล ก็ใส่เกียร์เดินหน้าตั้งพรรคการเมืองเต็มที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ประสานักธุรกิจรุ่นใหม่จะให้เดินดุ่ยๆ ไปจดแจ้งที่กกต.เลยก็คงจะไม่ใช่ จึงได้เชิญสื่อมวลชนไปร่วมเป็นสักขีพยานกันก่อนที่จะเดินทางไปยังกกต.ในวันนี้ (15 มีนาคม) นัดหมายเจอกันตั้งแต่เช้าตรู่ที่ Warehouse 30 ถนนเจริญกรุง

ตามสูตรของคนที่ทำงานอย่างมีแบบแผน วันนี้จึงเป็นจังหวะที่ธนาธรพร้อมเพื่อนร่วมอุดมการณ์ คนสำคัญคงหนีไม่พ้น ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหมวกอีกใบคือนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ มีการนัดดื่มกาแฟเป็นพิธีพร้อมเปิดวีทีอาร์เรื่องอนาคตของเราให้ชมเรียกน้ำจิ้มกันก่อน ต่อด้วยการเปิดใจธนาธรและเพื่อนถึงพรรคการเมืองแห่งอนาคตและความหวัง

ยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีช่วงถามตอบโดยปิยบุตร-ธนาธรด้วย แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ คงต้องวัดใจผู้คุมกฎอย่างคสช.กันก่อน เพราะเท่าที่ฟังทั้งจาก พันเอกวินธัย สุวารี ในฐานะโฆษกและคุณแหล่งข่าวคสช.ประเมินว่า พิธีกรรมที่ธนาธรและคณะจัดขึ้นนั้นเสี่ยงต่อการขัดคำสั่งคสช.เรื่องชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ส่งสัญญาณเตือนกันตั้งแต่ไก่โห่ คงต้องดูว่าจะมีการแก้เกมกันอย่างไร ถ้าคนแถลงข่าวไม่ถึง 5 คนก็ถือว่ารอดใช่หรือไม่

ถือเป็นบททดสอบสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะกระโดดเข้าสู่สนามการเมือง ยิ่งชัดเจนด้วยว่าเป็นพรรคที่ไม่เอาระบอบเผด็จการ ย่อมถูกตีความว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือปฏิปักษ์กับผู้มีอำนาจที่เขามีแต่พรรคใหม่พร้อมใจกับสนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกฯอีกกระทอกกันทั้งนั้น ดูแล้วคงไม่มีอะไรมากแค่บทบาทที่ต้องเล่นกันไปตามหน้าที่เท่านั้นเอง ส่วนพรรคใหม่ของธนาธรและเพื่อนจะเปรี้ยงปร้างโดนใจหรือไม่ อีกไม่กี่อึดใจรู้กัน

Back to top button