ความลับส่วนบุคคล

ราคาหุ้นเฟซบุ๊กตกมากสุดในรอบ 3 ปี หลังจากที่ข่าวการล้วงข้อมูลของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก ที่ระบุว่า Cambridge Analytica (แคมบริดจ์ อนาลิติกา) ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์การเมืองและมีความเกี่ยวข้องกับทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2559 นั้น สามารถเข้าถึงข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กจำนวน 50 ล้านคนโดยไม่ได้รับอนุญาต กระจายออกมา


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ราคาหุ้นเฟซบุ๊กตกมากสุดในรอบ 3 ปี หลังจากที่ข่าวการล้วงข้อมูลของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก ที่ระบุว่า Cambridge Analytica (แคมบริดจ์ อนาลิติกา) ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์การเมืองและมีความเกี่ยวข้องกับทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2559 นั้น สามารถเข้าถึงข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กจำนวน 50 ล้านคนโดยไม่ได้รับอนุญาต กระจายออกมา

เหตุการณ์ที่เป็นมากกว่าราคาหุ้นตกอยู่ที่ว่า เรื่องการล้วงข้อมูลที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุการณ์ล้วงข้อมูลครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของเฟซบุ๊ก 

แม้เฟซบุ๊กจะแจ้งว่าได้หยุดการให้ข้อมูลกับ Cambridge Analytica แล้วโดยให้เหตุผลว่า บริษัทนี้ได้ละเมิดกติกาหลายอย่างในการใช้ข้อมูล เช่น การเอาข้อมูลไปให้บุคคลที่สาม แต่ประเด็นคำถามมีอยู่ว่า ข้อมูลที่เฟซบุ๊กให้ไปเป็นข้อมูลอะไรบ้าง (เช่น ข้อมูลเพื่อน ข้อมูล Interest และ ข้อมูลการกด Like หรือ ฯลฯ) แล้วเฟซบุ๊กสามารถเอาข้อมูลของคนที่ใช้บริการช่องทางของตนเองไปขาย โดยไม่ขออนุญาตเลยได้หรือไม่

คำถามดังกล่าวทำให้เฟซบุ๊กกำลังโดนตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐบาลของทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษ และถ้าเฟซบุ๊กทำผิดจริงก็อาจโดนลงโทษครั้งใหญ่

การที่ราคาหุ้นเฟซบุ๊กตกลงมามากที่สุดภายในวันเดียว สะท้อนให้เห็นว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว มูลค่าของเฟซบุ๊กไม่ได้อยู่ที่ตัวบริษัท แต่ขึ้นกับผู้ใช้งานของเฟซบุ๊กเอง และการที่เฟซบุ๊กสร้างเงื่อนไขให้ผู้ใช้บริการเปิดเผยความลับส่วนตัวก่อนเข้าไปใช้บริการ แล้วต่อมา แอบเอาความลับส่วนตัวนั้นไปใช้หาประโยชน์ เท่ากับความสุ่มเสี่ยงของปัจเจกบุคคลที่ข้อมูลพฤติกรรมของการถูกสอดส่องดูแลและละเมิดโดยไม่รู้ตัวกำลังเกิดขึ้น

คำถาม คือ การที่แต่ละบุคคลจะทำการเปิดเผยตัวตน (ไลค์ เมนต์ หรือแชร์) โดยเชื่อว่า สามารถตั้งค่าให้รักษาความลับส่วนตัว จะเป็นจริงแค่ไหน หรือว่า ความเป็นส่วนตัวเป็นความฟุ่มเฟือยไปเสียแล้ว

ที่ผ่านมา ในการเข้าสู่โลกโซเชียล หรือสังคมออนไลน์ มีความเชื่อกันว่าสามารถกำกับดูแล และแบ่งแยกระหว่าง “การยุ่งเรื่องส่วนตัว” ออกจาก “การปิดกั้นโลกส่วนตัว” ได้ เช่น อยากจะเม้าท์เจ้านาย โดยไม่ได้เพื่อนที่ทำงานรู้ หรือมีแฟนใหม่แต่ไม่อยากให้แฟนปัจจุบันรู้ เพราะมีเหตุผลว่าบางเรื่องอาจจะไม่เหมาะไม่ควร ไม่ถูกกาลเทศะ หรืออาจถูกนำไปพาดพิงกันในทางเสียๆ หายๆ ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ

ความเชื่อดังกล่าว เกิดจากความเข้าใจว่าคนเราสามารถควบคุม “สาธารณะ” และ “ส่วนตัว” ได้ตามต้องการ ซึ่งกรณีของเฟซบุ๊กล่าสุดยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริง แม้ว่าจะมีความพยายามในการตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายาก หรือคัดกรองคนที่เข้ามาติดต่อ

คำถามข้างต้น นำเราให้ต้องย้อนกลับไปตั้งประเด็นว่าด้วยสิทธิในความเป็นส่วนตัว อันเป็นหลักขั้นพื้นฐานของกฎหมายทั้งหลาย ซึ่งได้รับการยอมรับจากอารยประเทศ

โดยหลักกฎหมายสิทธิในความเป็นส่วนตัว หรือสิทธิส่วนบุคคล หมายถึงสิทธิของบุคคลที่ประกอบไปด้วยสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งหมายความว่าสถานะที่บุคคลจะรอดพ้นจากการสังเกต การรู้เห็น การสืบความลับ การรบกวนต่างๆ และความมีสันโดษ ไม่ติดต่อสัมพันธ์กับสังคม

ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ระบุเอาไว้ในมาตรา 12 ว่า บุคคลใดๆ จะถูกแทรกแซงโดยพลการ ในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ในเคหสถานหรือในการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่ในเกียรติยศและชื่อเสียงมิได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายต่อการแทรกแซงหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น แต่หลักการอันสวยหรูนี้ ยังถูกละเมิดต่อเนื่องเพราะสิ่งที่เรียกกันว่า “ความอยากรู้อยากเห็นของลูซิเฟอร์

หลายปีมานี้ นับแต่ความเฟื่องฟูของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเป็นอย่างมากทั่วทุกมุมโลก โดยเน้นหนักไปในส่วนของข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารแบบไร้สาย มีรูปแบบอันหลากหลายของการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว การละเมิดสิทธิเหล่านี้นับวันจะยิ่งมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวที่เป็นข้อน่าสังเกตของการถูกล่วงละเมิดมีดังนี้

  • การเข้าไปดูข้อความในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และการบันทึกข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการบันทึก-แลกเปลี่ยนข้อมูลที่บุคคลเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์และกลุ่มข่าวสาร
  • การใช้เทคโนโลยีในการติดตามความเคลื่อนไหวหรือพฤติกรรมของบุคคล เช่น บริษัทใช้คอมพิวเตอร์ในการตรวจจับหรือเฝ้าดูการปฏิบัติงาน/การใช้บริการของพนักงาน ถึงแม้ว่าจะเป็นการติดตามการทำงานเพื่อการพัฒนาคุณภาพการใช้บริการ แต่กิจกรรมหลายอย่างของพนักงานก็ถูกเฝ้าดูด้วย พนักงานสูญเสียความเป็นส่วนตัว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการผิดจริยธรรม
  • การใช้ข้อมูลของลูกค้าจากแหล่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ในการขยายตลาด
  • การรวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่อีเมล หมายเลขบัตรเครดิต และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพื่อนำไปสร้างฐานข้อมูลประวัติลูกค้าขึ้นมาใหม่ แล้วนำไปขายให้กับบริษัทอื่น
  • การบุกรุกสถานที่ส่วนบุคคลด้วยเครื่องมือที่มากกว่าแค่ทางกายภาพ โดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งหมดนี้ทำให้กรณีของเฟซบุ๊กกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา เพราะครบเครื่องในทุกประเด็น และนี่อาจจะเป็นจุดหักเหครั้งใหม่ของสังคมออนไลน์โดยรวมได้ 

Back to top button