เฟดฯกับหนี้สาธารณะ

เช้าวันนี้ คงรู้กันแล้วว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกจะถูกเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ หรือ ธนาคารกลางของสหรัฐขับเคลื่อนไปทางไหน โดยที่ประเด็นซึ่งตลาดจับตามากสุด คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดฯในปีนี้จะมากกว่า 3 ครั้งจริงหรือไม่


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เช้าวันนี้ คงรู้กันแล้วว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกจะถูกเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ หรือ ธนาคารกลางของสหรัฐขับเคลื่อนไปทางไหน โดยที่ประเด็นซึ่งตลาดจับตามากสุด คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดฯในปีนี้จะมากกว่า 3 ครั้งจริงหรือไม่

หากยอมรับกันก่อนว่า การพิจารณาเรื่องนโยบายการเงินของเฟดฯนั้นไม่ได้ยึดเอากติกาว่า ดัชนีตลาดหุ้นจะบวกหรือลบเป็นสรณะ แล้วดูจากภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาค จะเห็นได้ชัดว่า โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยของเฟดฯจะปรับขึ้นแรงๆ ในปีนี้ ค่อนข้างยากกว่าปกติ แถมความเป็นไปได้ที่จะขึ้นเพียงแค่ 2 ครั้งยังอาจเกิดขึ้นได้

ก่อนหน้าที่เฟดฯจะประกาศผลการประชุมประจำเดือนมีนาคมที่รู้ผลในเช้าวันนี้ตามเวลาประเทศไทย มีข้อเท็จจริงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เมื่อสิ้นสุดวันที่ 16 มีนาคม มียอดรวมเกิน 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว เป็นสถิติสูงสุดใหม่ ที่ตัวเลขดังกล่าวมีคนคาดเดาว่าจะถูกแซงหน้าในเวลาอีกไม่นาน

เหตุผลเพราะตัวเลขยอดเพิ่มของหนี้สาธารณะของอเมริกาปีนี้พุ่งในอัตราเร่งผิดปกติ มียอดตัวเลขหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ถึงวันละ 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์

แล้วหากมองย้อนกลับไป ยอดหนี้สาธารณะสหรัฐฯเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เพิ่มขึ้นมากถึง 2.15 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าตัวเลขจีดีพีทั้งปีของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งตัวเลขดังกล่าว จะถูกแซงหน้าในเดือนมีนาคมนี้แน่นอน

ยอดสะสมหนี้สาธารณะของสหรัฐฯมีความหมายมากกว่าปกติตรงที่ว่า อัตราการเติบโตของหนี้ได้แซงหน้าอัตราการเติบโตของจีดีพีในแต่ละปีมากขึ้นเรื่อยๆ

ปีที่ผ่านมา อัตราเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯก่อนหักด้วยเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 4.4% (ถ้าหักด้วยเงินเฟ้อแล้วจะมีอัตราการเติบโตเพียงแค่ 2.5% เท่านั้น) แต่ตัวเลขอัตราเติบโตของหนี้สาธารณะกลับเพิ่มขึ้นถึง 6% หากนำมาคำนวณเทียบกันจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตหนี้สาธารณะมากกว่าจีดีพีถึง 36%

หากนำข้อมูลในสิ้นปีที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เกิดขึ้น ค.ศ. 2008 มาเทียบตัวเลขข้างต้น จะยิ่งสยดสยองมากขึ้น เพราะในปีนั้น สหรัฐฯมีขนาดจีดีพีที่ระดับ 14.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มียอดหนี้สาธารณะเพียงแค่ 9.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบัน จีดีพีสหรัฐฯสิ้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 19.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มียอดหนี้ที่ระดับ 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยืนยันว่าภายใน 10 ปีมานี้ อัตราเติบโตของหนี้สาธารณะสูงมากถึง 123% โดยมีขนาดคิดเป็น 106% ของจีดีพี 

ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มีสหสัมพันธ์แนบแน่นกับการก่อหนี้ ไม่ใช่เฉพาะหนี้ภาคเอกชนที่ได้จากมาตรการพิมพ์ธนบัตร หรือ QE อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงภาครัฐที่ยอมตั้งงบประมาณขาดดุลเรื้อรังด้วย

ข้อเท็จจริงดังกล่าว บ่งบอกว่า

  1. ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังไม่จบสิ้น เพราะหนี้สาธารณะจะทะลุเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับคำถามเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น (โดยไม่ต้องขึ้นภาษี) ว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้ซ้ำรอยแบบที่เคยเกิดกับเมืองดีทรอยต์เมื่อหลายปีก่อน
  2. การที่รัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้น ต้องออกพันธบัตรมาดูดซับเงินจากตลาดทวีคูณ ทำให้เกิดผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดทั้งตราสารหนี้ และดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไปที่กดดันให้เฟดฯต้องยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในอัตราที่ต่ำ เพราะเกรงว่าจะเป็นภาระต่อรัฐบาลในการชำระคืนหนี้จากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น

ประเด็นเรื่องเพดานหนี้ โยงใยเข้ากับกลไกการเมืองภายในสหรัฐฯลึกซึ้ง เพราะภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ การเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็นอำนาจของรัฐสภาในการควบคุมการก่อหนี้ของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับการเพิ่มภาษีเงินได้สารพัดรูปแบบ แต่จะมีแรงขับให้ผ่านมาได้มากกว่าไม่ผ่าน

แม้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้นมาโดยต่อเนื่อง แต่ไม่มากถึงขั้นน่ากังวล เพราะยังไม่แซงหน้าจีดีพี ยกเว้นเมื่อมีอัตราเร่งโตหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เนื่องจากข้ออ้างเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเร่งด่วนจนทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มจากประมาณร้อยละ 70% ของจีดีพีมาอยู่ที่ระดับ 105% ของจีดีพี และไม่เคยลดลงอีก

แม้นักการเมืองในรัฐสภาอเมริกันจะพยายามผลักดันให้ปรับลดหนี้สาธารณะลง โดยมีแผนจะปรับลดภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่ก็ได้ผลต่ำ และไม่ได้ผลอีกครั้ง ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีการปรับลดภาษีครั้งใหญ่

ระดับหนี้สาธารณะที่สูงเกิน 100% ของจีดีพี หมายถึงว่าระดับหนี้ที่มีอยู่น้อยกว่าความสามารถที่จะหารายได้มาชำระคืน ซึ่งหากเป็นกรณีชาติที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก มีโอกาสจะถูกเรียกคืนหนี้ หรือประสบกับภาวะล้มละลาย เพราะตราสารหนี้หรือพันธบัตรไม่ได้รับความเชื่อถือ แต่หนี้สาธารณะของสหรัฐฯถูกจุนเจือด้วยการออกพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลที่มีลูกค้าในต่างประเทศในฐานะ “ตัวประกัน” มีฐานะต่างออกไป สามารถรอดตัวไปได้

ปัญหาหนี้สาธารณะสหรัฐฯที่พอกพูน แม้จะยังไม่ถึงขั้นที่ถือว่าอันตราย แต่ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นห่วงโซ่ คือ 1) เฟดฯถูก “ขึงพืด” จำกัดขีดความสามารถในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่ตั้งเค้ามา 2) ค่าดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากผลของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ต่ำติดพื้นเรื้อรัง

ข้อเท็จจริงนี้ถ่วงรั้งและเตือนสตินักลงทุนว่า อย่าได้หวาดวิตกกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดฯมากนัก ตราบใดที่หนี้สาธารณะของสหรัฐฯยังพุ่งชนและหาทางทะลุเพดานครั้งแล้วครั้งเล่า

Back to top button