พาราสาวะถี

ใครจะบอกว่าคิดผิดแต่เชื่อว่าผู้มีอำนาจไม่คิดเช่นนั้น มิหนำซ้ำ ยังมั่นใจว่าทำถูก เนื่องจากเชื่อมั่นว่า “เอาอยู่” คุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น การใช้มาตรา 44 ปลด สมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจากตำแหน่งกกต.จึงไม่มีอะไรต้องห่วง แม้คนโดนปลดจะยังคงออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อได้ว่าจะปล่อยให้จ้ออยู่อย่างที่เป็นอยู่ได้อีกไม่นาน


อรชุน

ใครจะบอกว่าคิดผิดแต่เชื่อว่าผู้มีอำนาจไม่คิดเช่นนั้น มิหนำซ้ำ ยังมั่นใจว่าทำถูก เนื่องจากเชื่อมั่นว่า “เอาอยู่” คุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น การใช้มาตรา 44 ปลด สมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจากตำแหน่งกกต.จึงไม่มีอะไรต้องห่วง แม้คนโดนปลดจะยังคงออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อได้ว่าจะปล่อยให้จ้ออยู่อย่างที่เป็นอยู่ได้อีกไม่นาน

หลังจากเมื่อวันศุกร์พูดถึงคำทำนาย 6 ประการที่ถูกไปแล้ว 5 เหลืออีก 1 เรื่องการยื่นตีความร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. แต่ล่าสุด สมชัยไม่แทงกั๊กออกมาเปิดคำทำนายที่ 7 และเจ้าตัวเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเองไม่ได้ไปต่อ สิ่งนั้นก็คือ เรื่องการประกาศวันเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 150 วันหลังกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้

แน่นอนว่า พิจารณาจากรายชื่อ 4 กกต.ที่ถูกเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปคงไม่มีใครจะกล้าต่อปากต่อคำกับผู้มีอำนาจ ต้องยึดตามคำสำคัญที่เตือนกันไว้ก่อนหน้าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะและอย่าเหาะเหินเกินลงกา แม้ว่าจะไม่ใช่ 1 ในองคาพยพแม่น้ำ 5 สาย แต่ไม่อยากให้มีปัญหาชีวิตก็ต้องยอมผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น เขาว่ามาอย่างไรก็ต้องเดินไปตามนั้น

เหมือนอย่างที่สมชัยว่า เรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง ในทางนิตินัยคณะรัฐมนตรีและคสช.คงยอมถอย ให้ กกต.เป็นผู้ประกาศตามกฎหมาย  เพราะรัฐธรรมนูญย่อมใหญ่กว่าคำสั่งคสช.  แต่ในทางพฤตินัย คสช.คงใช้อำนาจเพื่อให้กกต.ประกาศตามที่ตนต้องการ โดยอาศัยฉันทามติของการประชุมปรึกษาหารือตามข้อ 8 ของคำสั่งคสช.ที่ 53/2560

เมื่อย้อนกลับไปดูข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีหารือกับกกต.  กรธ. ประธานสนช. และอาจเชิญพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเข้าหารือกัน เพื่อให้มีข้อสรุปแจ้งคสช.ให้แก้ไขคำสั่ง คสช.ทั้งหลายที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง และ กำหนดแผนขั้นตอนไปสู่การเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

จากการอ้าง รัฐธรรมนูญและคำสั่งคสช. ดังกล่าว ทำให้เห็นว่ามีประเด็นที่อาจเป็นปัญหาในอนาคตอย่างน้อยสองประการคือ ใครเป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งควรใช้เต็มกรอบ 150 วัน หรือ จะเผื่อการประกาศผล เนื่องจากไม่ชัดเจนในคำว่าการจัดการเลือกตั้งที่แล้วเสร็จคืออะไร โดยสมชัยมองว่าทั้งสองเรื่องจะเป็นปัญหาในอนาคต

สำหรับการตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ วันเลือกตั้งวันใด แม้ในทางพฤตินัยมาจากความเห็นชอบร่วมทุกฝ่าย แต่ในทางนิตินัยหากเกิดความผิดพลาดจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.จะเป็นผู้รับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เช่นเดียวกับ ปัญหาการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน หมายถึงประกาศผลด้วยหรือไม่นั้น

ในกรณีนี้ พรรคการเมืองที่มีความพร้อมน้อยกว่า ต้องการเวลาในการเตรียมพรรคและการหาเสียง ไม่ต่างจากสำนักงานกกต.ที่ต้องการเวลาที่มากที่สุดในการเตรียมการทางธุรการ รวมทั้งเจตนาในการเลือกตั้งของรัฐบาล คสช. และสนช.ย่อมเป็นแรงผลักดันให้ กกต.ใช้กรอบเวลา 150วัน เพื่อการลงบัตรอย่างเดียว ไม่หมายรวมถึงการประกาศผลด้วย

แต่หากกกต.ต้องการความปลอดภัยในผลการตัดสินใจ กกต.อาจกำหนดวันเลือกตั้งในเวลาประมาณ 90-100 วันและเหลือเวลา 50-60 วันไว้เพื่อประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95 ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น เพราะหากกำหนดเลือกตั้งยึดตามกรอบ 150 วันเต็ม คนชนะเลือกตั้งคงไม่ทำอะไร แต่หากคนแพ้เป็นผู้มีอำนาจอิทธิพล ฟ้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลบอกไม่ผิดก็แล้วไป แต่หากศาลพิจารณาว่า การเลือกตั้งให้แล้วเสร็จคือต้องรวมประกาศผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะเป็นโมฆะ

เงินจัดการเลือกตั้งเกือบ 5,000 ล้านบาทต้องสูญเปล่า กกต.คงไม่อาจอ้างผลการปรึกษาหารือกับใครได้ เพราะการตัดสินประกาศวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของกกต.ตามรัฐธรรมนูญ ทางอาญาคือการตัดสินใจโดยประมาท ปราศจากความรอบคอบ ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ทางแพ่งคือค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง เกือบ 5,000 ล้านที่กกต. 4 หรือ 7 คนที่ร่วมกันชดใช้

บทสรุปของคำทำนายนี้ของสมชัยคือ คนแพ้ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคนแพ้ที่แท้จริงคือกกต. แม้จะมีการออกตัวว่าคำทำนายนี้ โปรดใช้วิจารณญาณในการรับฟัง ไม่ได้ขอให้ใครเชื่อ แต่เชื่อได้ว่า คนจำนวนไม่น้อยจะจับตามองกระบวนการทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น เพราะพฤติกรรมชักเข้าชักออกและการวางท่อสืบทอดอำนาจมันส่งสัญญาณอะไรต่อมิอะไรชัดเจน จึงเป็นเหตุให้เกิดภาวะไม่ไว้วางใจ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งท่าทีของสมชัยก่อนหน้านี้จะถูกมองอย่างเคลือบแคลงจากฝ่ายการเมือง แต่หลังจากที่เจ้าตัวถูกเด้งด้วยมาตรา 44 จะเห็นปฏิกิริยาสอดประสานกันโดยไม่ได้นัดหมายของคนสองพรรคการเมืองใหญ่ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ในท่วงทำนองไม่เห็นด้วย และเห็นว่านี่เป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระอย่างชัดเจน

ไม่น่าเชื่อว่าสองพรรคใหญ่ชี้นิ้วไปทางเดียวกันว่า การปลดสมชัยไม่ใช่เพราะกกต.ชายเดี่ยวทำให้สังคมสับสน แต่ผู้มีอำนาจต่างหากที่กำลังสับสนบทบาทของตัวเอง และกำลังจะทำให้สังคมสับสนตามไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองใหญ่และรวมไปถึงพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่ จะพร้อมใจกันยินดีไปหารือร่วมกับกกต.ที่นัดหมายไว้วันที่ 28 มีนาคมนี้

เป้าหมายของทุกพรรคการเมืองคือ ต้องการทราบถึงความชัดเจนเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งสัญญาณ หากในวันดังกล่าวกกต.สามารถตอบคำถามโดยอธิบายในสิ่งที่พรรคการเมืองต้องการได้อย่างชัดเจนในทุกเรื่อง ก็จะเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งปุจฉาต่อมาคือแล้วถ้ามีอีกหลายเรื่องอธิบายไม่ได้มันจะหมายถึงอะไร ตรงนี้ต่างหากที่พรรคส่วนใหญ่กังวล

Back to top button