รู้ทันเกมสหรัฐฯ-จีน

ข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯอาจจะบ้า แต่ไม่ได้โง่ ได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง หลังจากที่เขาได้ประกาศว่าสั่งการให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) พิจารณารายการสินค้านำเข้าจากจีนที่สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ เหมาะสมหรือไม่ภายใต้มาตรา 301 และหากเหมาะสม ก็ขอให้ระบุรายการสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีดังกล่าว


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯอาจจะบ้า แต่ไม่ได้โง่ ได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง หลังจากที่เขาได้ประกาศว่าสั่งการให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) พิจารณารายการสินค้านำเข้าจากจีนที่สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ เหมาะสมหรือไม่ภายใต้มาตรา 301 และหากเหมาะสม ก็ขอให้ระบุรายการสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีดังกล่าว

ปธน.ทรัมป์ ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพราะจีนได้ตอบโต้อย่างไม่เป็นธรรมต่อการที่สหรัฐฯประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์

เช่นเดียวกัน ท่าทีตอบโต้ทันควันของโฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีน ที่ประกาศว่า จีนจะตอบโต้สหรัฐฯไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม และจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างครอบคลุม หากสหรัฐฯยังคงเดินหน้ากีดกันการค้าแต่เพียงฝ่ายเดียว

หุ้นที่ตกระเนระนาดเมื่อวันศุกร์ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และน่าจะส่งผลลบถึงหุ้นในเอเชียเช้านี้ ตามปฏิกิริยา “เข่ากระตุก” ปกติก็เป็นเรื่องไม่แปลกเช่นกัน เพราะปรากฏการณ์ที่สะท้อนจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สามารถรู้เท่าทันได้ไม่ยากว่าสอดรับกับทฤษฎีเกมที่ว่าด้วย “ทางสองแพร่งของจำเลย” ไม่มีผิด

นักทฤษฎีเกมทั้งหลายที่ช่ำชองกับเกมดังกล่าว อาจจะหัวร่องอหายไปกับ “ปาหี่” ของทั้งทางการจีน และสหรัฐฯที่ทำท่าดุเดือดเอาเป็นเอาตายชนิด “จะไม่ยอมถอยแม้ก้าวเดียว” อันเป็นสถานการณ์ที่ทฤษฎีเกมเรียกว่า “การเผชิญจังก้าแบบเม็กซิกัน (Mexican Standoff)”

เพราะท้ายที่สุด ท่าทีที่ดูแข็งกร้าวของทั้งสหรัฐฯและจีนจะลงเอยด้วยการประนีประนอมแบบ “เกี้ยเซียะ” กัน แล้วจูบปากกันเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นในตอนจบ

เพียงแต่กว่าจะจบลงได้ ก็คงต้องใจหายใจคว่ำแบบดราม่ากันบ้าง ตามประสามหาอำนาจฟอร์มใหญ่ ไม่มีใครกล้าเสียหน้ากัน

การใช้ทฤษฎีเกมเป็นตามทฤษฎีที่ถือเอาตรรกะเป็นจุดเด่น (a priori) โดยไม่ยึดติดกับอดีตมาประเมินและวิเคราะห์เพื่อใช้ตัดสินใจหาทางออกจากความขัดแย้งที่เผชิญกันอยู่ ใช้กันมากในเชิงกลยุทธ์ มีหลายทฤษฎีที่มีชื่อเสียง รวมทั้งทฤษฎีทางสองแพร่งของจำเลยที่ว่ามา

ทฤษฎีเกม “ทางสองแพร่งของจำเลย” เริ่มต้นจากนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชื่อ John Nash ในปี 1994 เรียกว่า Nash Equilibrium จากการสร้างตารางตัวอย่าง อธิบายผลที่จะเกิดขึ้นกับนักโทษสองคนที่จะต้องรับโทษ จากการร่วมมือ (หรือรับสารภาพ (Confess)) หรือจากการไม่ร่วมมือ (เงียบไม่ปริปาก (Silent))

ผลลัพธ์จะออกมาเป็น 4 ทางเลือก คือ 1) สารภาพทั้งคู่ 2) คนแรกสารภาพ คนหลังไม่ปริปาก 3) คนแรกไม่ปริปาก คนหลังสารภาพ 4) ไม่ปริปากทั้งคู่

แน่นอนว่าผลลัพธ์ทั้งสี่ข้อจะทำให้จำเลยได้รับโทษต่างกันไป

สถานการณ์ของทฤษฎีต้องการอธิบายว่า การร่วมมือกันย่อมดีกว่าการไม่ร่วมมือกันและเอาชนะกันบนฐานข้อมูลและขีดความสามารถทางทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน

เรื่องแบบนี้ใช้อธิบายได้กับทั้งคู่แข่งทางธุรกิจที่แข่งขันกลยุทธ์การตั้งราคาสินค้า เพราะไม่ใช่จะแบบผู้ชนะกินรวบ ผู้แพ้แพ้หมด หรือชนะทั้งคู่ หรือแพ้ทั้งคู่แบบทฤษฎี Zero- sum Games แล้ว

ในทางการเมืองก็สามารถนำมาประยุกต์อธิบายได้ ถ้าเป็นการแข่งขันกันของสองพรรคใหญ่ อย่างเช่นที่กำลังเกิดที่สหรัฐฯหรือที่เมืองไทย ถ้าเป็นแค่สองพรรคใหญ่ ถึงแม้ว่าในที่สุดก็จะต้องมีผู้ชนะที่อาจไม่ชนะทั้งหมด และผู้แพ้ก็อาจไม่แพ้ทั้งหมด

ประเด็นที่ซับซ้อนขึ้นมาอยู่ที่คำถามว่า เหตุใดคนสองคนจึงอาจไม่ร่วมมือกันแม้ว่าทั้งสองจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดในการร่วมมือกันนั้น เพราะหากเทียบเคียงพื้นฐานทางธรรมชาติของมนุษย์แล้ว รูปแบบคลาสสิกของเกม คือ การทรยศ ชิงสารภาพก่อน ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งความร่วมมือและการทรยศในเวลาเดียวกันได้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่มีโอกาสได้รับผลประโยชน์สูงสุด เพราะมีแนวโน้มที่การตัดสินใจที่ดูเหมือนว่าจะให้ประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เล่นอีกคน

ปัจจุบันพัฒนาการของทฤษฎีนี้ ก้าวหน้ากว่าในอดีตมากขึ้น และยกระดับมาสู่การกำหนดท่าทีเชิงกลยุทธ์ออกมาเป็น  2 แนวทางพร้อมกันคือ

  1. ท่าทีเลี่ยงหลบเกมลบ (Negative Sum Game) ที่กำหนดว่า การเจรจาใดๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบซึ่งจะทำให้คู่ เจรจาเสียผลประโยชน์ การเจรจาดังกล่าวนั้นจะไม่มีวันไปสู่ข้อยุติเพราะว่าข้อยุติที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลในแง่ลบต่อทุกฝ่าย ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องพยายามหาทางเจรจาต่อกันไม่ให้นำไปสู่เกมลบ
  2. ท่าทีสร้างเสริมเกมบวก (Positive Sum Game) กำหนดว่าการเจรจาที่ทุกฝ่ายประสบความสำเร็จและได้ผลประโยชน์ อย่างเท่าเทียม  การเจรจาจึงต้องอยู่บนสมมติฐานว่าความสำเร็จต้องขึ้นอยู่กับข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเป็นฝ่ายได้ (Win–Win Position)

ผลลัพธ์ คือ มีการยกระดับเป็น ทฤษฎี H.M.L ในการต่อรอง เพื่อที่จะให้คู่เจรจาเดินทางเข้าหากันเพื่อมุ่งเป้าหมายก็คือข้อยุติที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นเดิมพัน กระบวนการในการเจรจาดังกล่าวเรียกว่า “Negotiating Continuum” โดยกำหนดเป้าหมาย 3 ระดับ คือ สูง กลาง ต่ำ

ตัวอย่างที่โดดเด่นและใช้กันมาก คือ ทฤษฎีเกมว่าด้วยวัวในทุ่งหญ้า หรือ การจัดการทรัพยากรร่วม ซึ่งรูปแบบนี้จะถือว่าไม่มีกลยุทธ์เด่น แต่พึ่งพาวิธีทางจิตวิทยาสำหรับผู้เล่นเกมนี้ คือ พยายามส่งสัญญาณให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเห็นว่าตนจะไม่หักหลบอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามต้องยอมหักหลบไปเอง มิฉะนั้นจะเสียผลตอบแทนอย่างมาก

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้จะดูจริงจังเป็นรูปธรรมขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องสงครามสื่อ เป็นแค่บททดสอบทฤษฎีเกมที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าท้ายสุดแล้วจุดของความร่วมมือกันจะเกิดขึ้นตรงไหน อย่างไร และใครได้ใครเสียมากกว่ากัน

Back to top button