SCB พ่นความจริงเรื่อง ‘วินด์ฯ’ แค่ครึ่งเดียว.?!

เกิดการตั้งคำถามขึ้นในบัดดล ภายหลัง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่อนแถลงการณ์ตามมติที่ประชุมบอร์ดใหญ่ เพื่อแก้ต่าง กรณีตกเป็นผู้ต้องสงสัยของสังคม ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาท เรื่องการชักดาบ (?) ค่าหุ้น “วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” ที่ขณะนี้ กลายเป็นคดีความฟ้องร้องกันยุ่บยั่บทั้งศาลไทยและเทศ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

เกิดการตั้งคำถามขึ้นในบัดดล ภายหลัง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่อนแถลงการณ์ตามมติที่ประชุมบอร์ดใหญ่ เพื่อแก้ต่าง กรณีตกเป็นผู้ต้องสงสัยของสังคม ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาท เรื่องการชักดาบ (?) ค่าหุ้น “วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” ที่ขณะนี้ กลายเป็นคดีความฟ้องร้องกันยุ่บยั่บทั้งศาลไทยและเทศ

มีการพุ่งเป้าถึงประเด็นที่สุดแสนจะน่าสงสัย คือ รายละเอียดของการปล่อยกู้เงินจำนวน 37,325 ล้านบาท โดยเฉพาะเมื่อมี “มือดี” บังเอิญเก็บเอกสารสำคัญที่ตกหล่นอยู่แถวแยกรัชโยธินได้หนึ่งฉบับ พร้อมกับเก็บได้อีกหนึ่งฉบับแถว ๆ สะพานพระรามแปด หรือเกือบสุดขอบของฝั่งพระนครโน่น !

เอกสารชิ้นที่ว่านี้ถูกจ่าหัว เพื่อส่งตรงถึงบุคคลสำคัญของ SCB อันประกอบด้วย นายอาทิตย์ นันทวิทยา ในฐานะ “ซีอีโอ” นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานบอร์ด (ภาษาคนแบงก์ม่วงเรียก นายกกรรมการ) นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการชุดใหญ่ของธนาคาร พร้อมกับสำเนาถึง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วย

SCB ระบุในแถลงการณ์ตามเนื้อความดังต่อไปนี้

“ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) โดยมีการอ้างถึงธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการมีส่วนร่วมในข้อพิพาทอยู่ด้วยนั้น ธนาคารฯ ขอชี้แจงว่า ปัจจุบัน ธนาคารฯ ได้ให้สินเชื่อแก่โครงการโรงไฟฟ้าของกลุ่ม จำนวน 8 โครงการ เป็นโครงการที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 3 โครงการ คือ โครงการเฟิร์ส โคราช วินด์ โครงการเค.อาร์.ทู. และโครงการวะตะแบก กำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาโครงการทั้งสามแห่งได้ชำระหนี้ตรงตามกำหนดและเงื่อนไขการให้สินเชื่อของธนาคารฯ

ส่วนโครงการที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีกจำนวน 5 โครงการ คือ โครงการเทพารักษ์ วินด์ โครงการทรอปิคอล วินด์ โครงการเค.อาร์.เอส ทรี โครงการเค.อาร์.วัน และโครงการกฤษณา วินด์ พาวเวอร์ กำลังการผลิตรวม 450 เมกะวัตต์ นั้น ธนาคารฯ ได้พิจารณาให้สินเชื่อโดยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ความคืบหน้าการก่อสร้าง ตลอดจนประมาณการกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคารฯ โดยมีหลักประกันคุ้มวงเงิน

สำหรับประเด็นข้อพิพาทระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและกลุ่มผู้ถือหุ้นปัจจุบัน รวมทั้งข้อพิพาทภายในครอบครัวของผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ธนาคารฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทดังกล่าวเนื่องจากธนาคารฯ มิได้รับเอาหุ้น WEH ซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทในคดีมาเป็นหลักประกัน และไม่มีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินใด ๆ แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นปัจจุบันเพื่อนำไปชำระหนี้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัญญาซื้อขายหุ้น ส่วนกรณีข้อพิพาทภายในครอบครัวผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ธนาคารฯ ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ธนาคารฯ ขอเรียนว่า การให้สินเชื่อแก่โครงการทั้ง 8 โครงการเป็นไปตามนโยบายของธนาคารฯ ในการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดอันเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ ธนาคารฯ ยืนยันว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวและมีการอ้างถึงแหล่งข่าวจากธนาคารฯ มาโดยตลอดนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด”

…เอ้า!! เบื้องต้นเอาเป็นว่า SCB ต้องการสื่อใจความว่า การปล่อยกู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นการปล่อยกู้สินเชื่อโครงการ (Project Finance) ซึ่งหมายรวมถึง 5 โครงการหลังที่มีการอนุมติเงินกู้สูงถึง 3 หมื่น 7 พันกว่าล้านด้วย

แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เนื้อหาใจความตามเอกสารที่อยู่ในมือของบุคคลทั้งหลายที่ถูกกล่าวถึงข้างต้น ซึ่งรวมถึงผู้ว่าแบงก์ชาติด้วยนั้น ดันมีรายละเอียดบางอย่างที่สังคมไม่ได้รับรู้ และดูเหมือนมีใครบางคน หรืออาจหลายคน พยายามรักษาความลับเรื่องนี้อย่างสุดชีวิต !

การปล่อยกู้แบบ Project Financing นั่นหมายถึงเงินที่ได้รับการสนับสนุนทั้งหมดจะถูกปล่อยตรงไปที่ตัวโครงการเพื่อการพัฒนาให้สามารถดำเนินการได้ แต่หากมีการเกลี่ยบางส่วนไปใช้สำหรับการซื้อสินทรัพย์ด้วย แบบนี้จะเรียกเป็นการปล่อยกู้สินเชื่อโครงการทีเดียวเลย คงไม่ถูกนัก

มีการระบุไว้ชัดเจนในเอกสาร ว่าเงินกู้ จำนวน 37,325 ล้านบาทที่ SCB ปล่อยให้ “วินด์ เอนเนอร์ยี่” แบ่งเป็น 26,367 ล้านบาท ในส่วน Project Finance ของ 5 โครงการหลัง และ 10,958 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนให้บริษัทฯใช้สำหรับการเพิ่มทุนในโครงการต่าง ๆ ทั้ง 5 โครงการ

…อย่างหลังนี้ เขาเรียกว่า Equity Financing !!!

ฉะนั้น SCB จึงควรออกมาชี้แจงแถลงไขเสียใหม่ เอาให้เข้าใจกันอย่างถูกต้อง มิเช่นนั้นอาจเข้าข่ายอำพรางข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เข้าใจผิดได้

ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตบนพื้นฐานที่ว่าเงินจำนวน 26,367 ล้านบาท สำหรับ “โปรเจกต์ไฟแนนซ์” คิดเป็น 75% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด แล้วเหตุใดจึงมีการปล่อยกู้ไปซื้อหุ้นในโครงการอีกถึง 10,958 ล้านบาท เพราะตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นสัดส่วนที่เกินกว่าสัดส่วนที่เหลืออีก 25% ถึง 2,169 ล้านบาท

คงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเงินส่วนเกินจำนวนนี้..??

ไม่เพียงแต่พิรุธว่าอาจมีการปล่อยสินเชื่อเกินจำนวน แต่หากมองข้อเท็จจริงที่ว่า “วินด์ เอนเนอร์ยี่” เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาทั้ง 5 โครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2551

นั่นหมายถึงต้องมีการลงเงินทุนบางส่วนไปบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อย สามารถคำนวณกลับมาเป็นส่วนทุนจากบริษัท “วินด์ฯ” เพื่อหักลบจำนวนเงินที่ต้องทำการเพิ่มทุนในโครงการครั้งใหม่ได้

ฉะนั้น จึงต้องถามย้ำอีกสักครั้งว่า เกิดอะไรขึ้นกับเงินจำนวน 10,958 ล้านบาท ที่ SCB ปล่อยกู้ให้ “วินด์ฯ” ในรูปแบบ “อีควิตี้ไฟแนนซ์”? เพราะเป็นที่น่าสงสัยว่าเมื่อหักในส่วนของการปล่อยกู้เกิน จำนวน 2,169 ล้านบาท และที่ “วินด์ฯ” ได้มีการลงทุนไปแล้วก่อนหน้า จำนวนราว 2 พันล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูลในเอกสาร) ออกไปจากมูลค่าที่ต้องทำการเพิ่มทุนจริง !!

แล้วเงินจำนวนนี้ไปไหน อยู่กับใคร และถูกนำไปทำอะไร ???

เรื่องนี้เท็จจริงประการใด เชื่อว่าฝ่ายบริหาร และบอร์ด SCB กระทั่งผู้ว่าแบงก์ชาติคงรู้ดีที่สุด…

และไม่แน่ว่า เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ ประกอบกับปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายหุ้นวินด์ฯ อาจเป็นปัจจัยส่งผลให้ที่ปรึกษากฎหมายผู้รับหน้าที่ทำ “ดิวดิลิเจนซ์” (ขอสงวนนาม) ในการปล่อยกู้ครั้งมโหฬารนี้ ตัดสินใจโยน “ธงแดง” ไม่สนับสนุนการปล่อยกู้อย่างเด็ดขาด

“วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” ชื่อนี้เป็นมหากาพย์ในแวดวงธุรกิจ และตลาดทุนไทยอย่างเป็นทางการแล้ว

อีกอย่างคือ การที่ SCB ถึงขั้นออกตัวเรื่องข้อพิพาทของผู้ถือหุ้นเดิม (ที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ)-ผู้ถือหุ้นใหม่ (ที่จ่ายตังค์ไม่ครบตามสัญญา) ว่าเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้น และธนาคารฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น

คงพอสรุปได้คร่าว ๆ ว่า การปล่อยกู้ของทุกธนาคารให้กับบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ต่อจากนี้ ก็คงไม่ต้องไปสนใจกระมังว่า ใครเป็นเจ้าของกิจการ และมีต้นสายปลายทางอย่างไร

เรื่องนี้คงต้องพูดกันอีกยาว เอาเป็นวันหน้า หากฟ้าฝนเป็นใจ จะมาพูดถึงประเทศเบลีซ ในทวีปอเมริกากลางให้ฟังกันอีกครั้ง…ว่ากันว่า มีเรื่องราวน่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

…อิ อิ อิ…

Back to top button