ดอกจูดาสบานสะพรั่ง

เมื่อปลายปีก่อน ตอนที่สหรัฐฯ ขู่จะถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA แล้วเริ่มทำการเจรจาทวิภาคีกับชาติคู่กรณีใหญ่อย่างแคนาดาและเม็กซิโก นายวิเซนเต้ ฟอกซ์ อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโก ที่เป็นคนลงนามข้อตกลงนั้นในอดีต เคยออกมาเตือนแคนาดาว่าอย่าเป็น “จูดาส” ที่ทรยศต่อข้อตกลง


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อปลายปีก่อน ตอนที่สหรัฐฯ ขู่จะถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA แล้วเริ่มทำการเจรจาทวิภาคีกับชาติคู่กรณีใหญ่อย่างแคนาดาและเม็กซิโก นายวิเซนเต้ ฟอกซ์ อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโก ที่เป็นคนลงนามข้อตกลงนั้นในอดีต เคยออกมาเตือนแคนาดาว่าอย่าเป็น “จูดาส” ที่ทรยศต่อข้อตกลง

สัปดาห์นี้ เม็กซิโกเป็นชาติแรกที่กลายเป็นจูดาสเสียเอง จากการบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นทางการค้าแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ เสียเอง

ผลพวงที่ตามมาคือ นอกจากแรงกดดันจะตกกับแคนาดาที่จะต้องเจรจาทวิภาคีตามลำพังกับสหรัฐฯ ในฐานะเบี้ยล่างต่อจากเม็กซิโกแล้ว (โดยเฉพาะเดิมพันสูงลิ่วของ Bombardier ที่โบอิ้งหมายมั่นปั้นมือจะกำจัดให้พ้นทางมานานแล้ว) ยังทำให้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่เกิดจากหลักการเรื่องสร้างกลุ่มการค้าพหุภาคีระดับภูมิภาคอย่าง NAFTA ล่มสลายไปอย่างไม่เป็นทางการโดยปริยาย

ปิดฉากยุคสมัยของนักทฤษฎีโลกาภิวัตน์โลกสวยที่ชูธง “พหุภาคี ดีกว่าทวิภาคี” เบ็ดเสร็จ เพื่อกลับสู่โลก “ตีนติดดิน” เต็มตัว ว่าหมาป่าย่อมมีอำนาจเหนือลูกแกะวันยังค่ำ

ในแง่รูปธรรม การยอมจำนนของ “ลูกแกะ” อย่างเม็กซิโกในการเจรจาทวิภาคีกับ “หมาป่า” สหรัฐฯ เป็นสถานการณ์ปกติอยู่แล้ว เพราะอำนาจต่อรองในการเจรจาต่างกันลิบลับ

แต่ในทางทฤษฎีแล้ว การสมยอมดังกล่าว ทำให้คนหวนย้อนไปถึงปรากฏการณ์ที่แคทเธอลีน แอนน์ พอร์เตอร์ นักเขียนฝ่ายซ้ายอเมริกันก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนไว้ในเรื่องสั้นชื่อ Flowering Judas (มีแปลเป็นไทยว่า ดอกจูดาสแห่งการทรยศ) ที่สะท้อนภาพของจิตใจนักปฏิวัติต่อการกระทำของนายอัลบาโร่ โอเบรย่อน อดีตนักปฏิวัติเก่า ที่อาศัยสถานการณ์ระหว่างสงครามกลางเมืองในเม็กซิโก ตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ขึ้นสู่อำนาจเป็นประธานาธิบดี แล้วชูคำขวัญ “การปฏิวัติโอเบรย่อน” แต่มีเนื้อหาตรงกันข้าม

ค.ศ. 1923 โอเบรย่อน แอบทำข้อตกลง “ขายชาติ” เรียกว่า “สนธิสัญญาบุคคาเรลลี่” (Bucareli Treaty) ที่มีเนื้อหามอบสัมปทานน้ำมันบนดินและในเขตทะเลอ่าวเม็กซิโกให้กับเอกชนอเมริกัน เพื่อแลกกับผลตอบแทนในรูปเงินรายได้มาหล่อเลี้ยงนโยบายปฏิวัติของเขาและพลพรรค

การทำสนธิสัญญาถูกเปิดเผยออกมา ทำให้อดีตนักปฏิวัติที่ร่วมในรัฐบาลขณะนั้นในฐานะ รมว.คลัง นายอดอลโฟ เดอ ลา อูเอร์ต้า ลาออกและนำขบวนการขบถต่อต้านโอเบรย่อนกลายเป็นสงครามกลางเมืองใหม่ โอเบรย่อนได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากกลุ่มทุนและรัฐบาลอเมริกัน จัดส่งอาวุธ รวมทั้งเครื่องบินมาช่วยยิงถล่มและระเบิดกลุ่มขบถจนพ่ายไป

การทรยศอันลือลั่นของ “จูดาส” โอเบรย่อนไม่ได้ทำให้อำนาจของเขายั่งยืน เพราะกลุ่มนักปฏิวัติหันไปใช้วิธีการลอบสังหารจนโอเบรย่อนเสียชีวิตในตำแหน่งในเวลาต่อมา

เพียงแต่การทรยศของเม็กซิโกล่าสุดยามนี้ แตกต่างจากการขายชาติแบบโอเบรย่อนในอดีต เพราะยังมี “เศษเนื้อข้างเขียง” เหลือให้แทะอยู่บ้างพอสมควร

สาระหลักที่ถูกเปิดเผยออกมาจากข้อตกลงทวิภาคีสหรัฐฯ-เม็กซิโก มีรายละเอียดดังนี้

– มีการเพิ่มเติมรายการสินค้าเดิมที่เคยระบุไว้ใน NAFTA ประกอบด้วยสินค้าทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าที่มีธุรกรรมผ่านเครือข่ายดิจิทัล และข้อขัดแย้งระหว่างนักลงทุน (investor disputes) เป็นต้น

– สินค้าที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องเป็นสินค้าที่ร่วมผลิตทั้งในสหรัฐฯ และ/หรือเม็กซิโก รวมกันไม่ต่ำกว่า 75% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าข้อกำหนดใน NAFTA

– ชิ้นส่วนและรถยนต์ ระบุว่า 40-45% ของรถยนต์แต่ละคันจะต้องผลิตจากโรงงานที่มีค่าแรงคนงานขั้นต่ำสูงกว่าชั่วโมงละ 16 ดอลลาร์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรงานในเม็กซิโกที่มีค่าแรงต่ำกว่าได้สิทธิประโยชน์

– ข้อตกลงทวิภาคีนี้จะมีช่วงเวลาบังคับใช้​ 16 ปี แต่จะมีการทบทวนข้อตกลงทุก 6 ปี โดยไม่ระบุถึงเงื่อนไขหมดอายุโดยอัตโนมัติกำกับด้วย

ต้นแบบจำลองของข้อตกลงทวิภาคีกับเม็กซิโก (ที่เห็นได้ชัดเจนว่าสนองผลประโยชน์ฝ่ายเดียวของทุนอเมริกัน) น่าจะถูก ถือเป็นเค้ารางสำหรับการเจรจาทวิภาคีกับชาติคู่ค้าที่ตกเป็นเป้าหมายในอนาคตต่อไปอย่างคาดเดาล่วงหน้าได้ มีเพียงการเจรจาเงื่อนไขกับชาติคู่กรณีที่มีขนาดต่างออกไปคือจีนเท่านั้นที่อาจจะมีความซับซ้อนที่ไม่ง่ายดายนัก เพราะจีนไม่ใช่ “ลูกแกะ” ที่หมาป่าจะเล่นงานได้ง่าย ๆ

นั่นหมายความว่านิยาม “สงครามการค้า” ที่เรียกกัน อาจจะต้องเปลี่ยนไป เพราะคำว่า “สงครามการค้า” นั้น อาจจะใช้กับกรณีจีนได้ชาติเดียว (อาจจะยกเว้นกรณีสหภาพยุโรป) ส่วนชาติอื่น ๆ ที่เหลือในโลก เป็นแค่ลูกแกะที่พร้อมสิโรราบให้โดนัลด์ ทรัมป์และพลพรรคโดยปริยาย แม้อาจจะมีเสียงขู่ฟอดบ้าง ก็ไม่ต่างจาก “…เห่าใบตองแห้ง” ธรรมดา

ภายใต้สถานการณ์ที่ยามนี้คนอเมริกันเลิกหรือลดทอนหลักการเรื่อง “ระเบียบโลกใหม่ในกระแสโลกาภิวัตน์” และ “ฉันทามติวอชิงตัน” ที่มีสมการหลายชั้นของผลประโยชน์ เพื่อกลับมาทำมาหากิน “แบบบ้าน ๆ” กับตัวเลขดุลการค้า การยอมตนของชาติเล็ก ๆ ที่ต้องยอมกลืนน้ำลายแห่งอหังการชาตินิยม หันไปเป็น “จูดาส” แบบเม็กซิโก จึงเป็นกระแสใหม่ที่เลี่ยงได้ยาก

ดอกจูดาสจึงมีโอกาสบานสะพรั่งทั่วโลกในอนาคตอันใกล้ แต่อย่าได้เชื่อว่าจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม

สิงโตที่ยอมกินหนอนแก้หิว ย่อมมีคนเกรงกลัวน้อยลง

Back to top button