ดาวรุ่งตลาดเกิดใหม่

จู่ ๆ ตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยกลายเป็นดาวเด่นดวงใหม่ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจในชาติที่ถือเป็นตลาดเกิดใหม่ของโลก ที่กำลังมีวิกฤตค่าเงินเปราะบาง ที่ทำให้เกิดแรงเทขายเพื่อถอนตัวเป็นกระแสหลัก


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

จู่ ๆ ตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยกลายเป็นดาวเด่นดวงใหม่ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจในชาติที่ถือเป็นตลาดเกิดใหม่ของโลก ที่กำลังมีวิกฤตค่าเงินเปราะบาง ที่ทำให้เกิดแรงเทขายเพื่อถอนตัวเป็นกระแสหลัก

ความกังวลเกี่ยวกับภาวะไร้เสถียรภาพในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ไม่ได้ย่างกรายเข้ามากร้ำกราย หรือรบกวนพื้นฐานของเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นไทยกี่มากน้อย หากไม่นับผลทางจิตวิทยา

ดัชนี MSCI EM Index รวมทั้งคำกล่าวของนักวิเคราะห์ในหลายตลาดนับแต่นิวยอร์ก โตเกียว ฮ่องกง สิงคโปร์จนถึงลอนดอน ต่างพากันคาดการณ์ว่า ตลาดเกิดใหม่ยังคงได้รับแรงกดดันในสัปดาห์นี้ อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนหลังจากที่ตุรกีและอาร์เจนตินาพยายามใช้มาตรการต่าง ๆ หลังจากที่เกิดวิกฤตหนักในเดือนที่ผ่านมา

ธนาคารกลางตุรกีส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ โดยระบุว่าทางธนาคารกลางจะทบทวนนโยบายการเงินในการประชุมประจำเดือน เพื่อควบคุมความเสี่ยงต่อเสถียรภาพราคา หลังจากมีการเปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งแตะระดับ 17.9% ในเดือน ส.ค.เมื่อเทียบรายปี โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2546

ทางด้านอาร์เจนตินานั้น ประธานาธิบดีเมาริซิโอ มาครี ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีการส่งออกครั้งใหม่ รวมทั้งยุบบางกระทรวงเมื่อวานนี้ เพื่อยุติความผันผวนทางเศรษฐกิจ

ในกรณีของไทยกลับตรงกันข้าม มุมมองของนักกลยุทธ์ กองทุนเก็งกำไร และสื่อด้านเศรษฐกิจระบุว่า ไทยนั้นหากนับในบรรดาชาติที่ย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ (มีจีดีพีต่อปีค่อนข้างต่ำยาวนาน) แล้วถือว่าแย่น้อยที่สุดในโลก

เหตุผลหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ การที่มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศค่อนข้างสูงมาก ต่างกันลิบลับจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

ข้อมูลล่าสุดจาก ธปท. ระบุว่า ยามนี้ ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของไทยในรูปต่าง ๆ รวมทั้งหมดคือ 6.842 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 2.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก มากกว่า เยอรมนี ฝรั่งเศส แต่เป็นรองสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

นอกจากนั้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลเผด็จการทหารไทยจะดูแลเศรษฐกิจดีพอสมควร แม้ไม่ถึงขั้นดีเลิศ เพราะไม่นานมานี้ สภาพัฒน์ (สศช.) แถลงว่าไทยมีจีดีพีไตรมาส 2/2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6% จากปีก่อน รวมครึ่งปีขยายตัว 4.8% คงคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 4.2-4.7% คาดส่งออกขยายตัวได้ถึง 10% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น การลงทุนรวมเพิ่ม 3.6% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.9% การส่งออกขยายตัว 12.3%

ล่าสุดวานนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน สิงหาคม อยู่ที่ 83.2 จาก 82.2 ในเดือนกรกฎาคม โดยความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 64 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 70.2 จาก 69.1 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 78.3 จาก 77.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 101.2 จาก 100.2

รายงานระบุว่า ความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่ง มาจากปัจจัยบวกหลายทางครบครัน นับแต่ 1) ตัวเลข จีดีพี ของ สศช. หรือสภาพัฒน์ ไตรมาส 2/2561 เติบโต 4.6% และคาดการณ์ GDP ปีนี้ไว้ที่ 4.5% 2) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% 3) ตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคม ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี 4) เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และ 5) พืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น

จุดเด่นเหล่านี้ถูกหักกลบด้วยปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว, สถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม และความกังวลปัญหาสงครามการค้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุว่า การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการ เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากที่ปรับลดลงชั่วคราวในช่วง 3 เดือนที่แล้ว เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตที่กลับมาสู่ระดับ 100 อย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 64 เดือน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้น และหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 4.5%

แม้เรื่องที่มีคนกังวลว่า เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น ยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในภาคดังกล่าวนี้รายได้ของประชาชนผูกพันกับภาคอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการเกษตรมากกว่า จึงทำให้เศรษฐกิจขยายตัวโดดเด่นกว่าภาคอื่น ๆ ไม่มีนัยสำคัญต่อระดับความเชื่อมั่น

ดัชนีความเชื่อมั่นนี้ แม้จะเป็นตัวแปรทางด้านจิตวิทยามากกว่าข้อเท็จจริง ก็สะท้อนว่า คนในสังคมไทยที่สำรวจมานั้น พออนุมานได้ว่า เศรษฐกิจไทยไม่ถึงกับเศร้าหมองเสียทีเดียว

อย่างน้อยก็สามารถมองอนาคตด้วยความหวัง คล้ายกับมุมมองของคนภายนอกสังคม

คำถามข้อเดียวคือจะยั่งยืนแค่ไหน 

ดูเหมือนจะยังไม่มีคนตอบได้ หรือถึงตอบก็ไม่น่าเชื่อถือ

Back to top button