BEM รวย (และจะรวย) ค่าโง่รัฐอีกเพียบ!!

ปิดฉากลงไปหนึ่งเรื่องสำหรับ “ค่าโง่” ซึ่งปัจจุบันยังมีให้สะสางอีกหลายกรณี ต่างกรรมต่างวาระกันไป


สำนักข่าวรัชดา

ปิดฉากลงไปหนึ่งเรื่องสำหรับ “ค่าโง่” ซึ่งปัจจุบันยังมีให้สะสางอีกหลายกรณี ต่างกรรมต่างวาระกันไป

ล่าสุด กรณีข้อพิพาท ระหว่างคู่สัญญา “โครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด” คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สังกัดภายใต้กระทรวงมหาดไทย และ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด

เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL เดิม ซึ่งก็คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในปัจจุบัน

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 ก.ย. 2561) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตฯ สำนักงานศาลยุติธรรม

ระบุให้กทพ.ชำระเงินแก่ “ทางด่วนกรุงเทพ” เป็นค่าชดเชยรายได้ กรณีมีการสร้าง “ดอนเมืองโทลล์เวย์” ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต ขึ้นมาแย่งลูกค้ากับทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ดของกลุ่มช.การช่าง

ก็ถือว่าไปเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุน สุดท้ายภาครัฐดันลงไปสร้างแข่งแบบตีเส้นคู่ขนาน พาดเหนือ-ใต้ ด้วยซะเองแบบนี้

ถูกเรียกเป็น “ค่าโง่โทลล์เวย์”…ก็คงไม่ผิดกระไรนัก

ที่สำคัญราคาค่างวดของค่าโง่ที่ว่านี้แพงระยับถึง 1.79 พันล้านบาท แบ่งเป็นค่าชดเชยรายได้ที่ลดลง สำหรับปี 2542 จำนวน 730,800,000 บาท และ 1,059,200,000 บาท สำหรับปี 2543

นี่ยังไม่นับรวมดอกเบี้ยตั้งแต่มีการฟ้องร้องคดีนี้ และยังมีอีกหลายคดีซึ่งอาจกลายเป็นค่าโง่(เพิ่มเติม) ที่จะคอยตามหลอกหลอนองค์กรรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะกทพ. ซึ่งปัจจุบันสังกัดอยู่ใต้กระทรวงคมนาคม ในอนาคตด้วย

กรณีนี้คณะอนุญาโตฯ ชี้ขาดชัดเจนว่า ดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงดังกล่าว เป็นทางแข่งขันที่ทำให้ปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของ “ทางด่วนบางปะอิน” ลดลงจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งมีผลกระทบตามสัญญา!!!

แน่นอนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ออกมาตามคำชี้ขาดนั้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟ้องร้อง ซึ่งแน่นอนเช่นกันว่านั่นหมายถึง BEM

แต่จะเป็นประโยชน์มากน้อย หรือช้าเร็วแค่ไหน คงต้องไปดูในส่วนของเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษา โดยเฉพาะที่ว่าจะชำระกันเมื่อไหร่อย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยในส่วนของรายละเอียด

ส่วนการประเมินมูลค่าเพิ่มต่อหุ้นคงไม่ถือเป็นเรื่องยากเย็นอะไรนัก เพียงเอาจำนวนเงินชดใช้ตามการตัดสินที่สิ้นสุดของคดี 1.79 พันล้านบาทตั้ง แล้วหารด้วยหุ้น BEM ทั้งหมด จำนวน 15,285 ล้านหุ้น

คำตอบที่ได้ออกมาก็ตกอยู่ราว 11.71 สตางค์ต่อหุ้น…แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันหุ้น BEM ซื้อขายกันบน “พีอีเรโช” ที่ 40.54 เท่า!!! และตัวเลขนี้ยังไม่รวมในส่วนของดอกเบี้ยด้วย

นี่ไม่ใช่การสื่อความว่าราคาหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้นตาม “มูลค่าเพิ่มต่อหุ้นคูณด้วยค่าพีอี” แต่จะหมายถึงว่าราคาหุ้นคงปรับตัวสูงขึ้น “มากกว่า” เงินสดที่จะได้รับจากค่าชดเชย อย่างแน่นอน

ส่วนจะมากน้อยเป็นเท่าไหร่นั้น คงขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ตามหลัก “ดีมานด์-ซัพพลาย” ซึ่งสะท้อนผ่านแรงซื้อขายของตัวหุ้น รวมถึง “แวเรียเบิล” หรือตัวแปรต่อปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ด้วย

แต่เวลานี้ไม่ต้องนับรวมรายได้พิเศษจากคดีความ ก็ถือว่าอยู่ในช่วงแนวโน้มขาขึ้นอยู่แล้ว

ลำพังแค่ตัวเลขกำไรสุทธิช่วงไตรมาส 3/2561 ที่ถูกประเมินว่าจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากจำนวนผู้ใช้บริการทางด่วน-รถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และกำไรพิเศษที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้น CKP รวมถึงการรับรู้กำไรจาก TTW ก็น่าจะเพียงพอต่อการสนับสนุนให้ราคาหุ้น BEM สามารถปรับตัวขึ้นไปได้มากกว่านี้

เช่นนั้น จึงน่าจับตาว่า “พีอีเรโช” ที่พุ่งพรวดขึ้นมาอยู่ที่ระดับเกินกว่า 40 เท่า น่าจะเป็นการขึ้นมาตอบรับกับการเติบโตของผลการดำเนินงานในระยะสั้นถึงกลางต่อจากนี้

…และดีไม่ดี อาจเป็นการปรับขึ้นมารอรับกับคดีที่สิ้นสุดลงไปแล้ว ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะวิ่งสูงขึ้นไปอีก เพื่อไปรอรับกับคดีอื่นในอนาคตด้วย

เพราะล่าสุด ได้ยินมาแว่ว ๆ ว่าอีกอย่างน้อย 2-3 คดีที่มีลักษณะคล้ายคลึงในแง่ของการชดเชยค่า(โง่) กำลังจะมีความชัดเจนเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ น่ะซี

อิ อิ อิ

Back to top button