เกมหมากล้อมของทรัมป์

การบรรลุข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา (USMCA) ฉบับใหม่ ซึ่งจะนำมาใช้แทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟตา (North American Free Trade Agreement--Nafta) มีความหมายมากกว่าที่บอกว่า ทำให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดนมของแคนาดามากขึ้น และเปิดโอกาสให้แคนาดาส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้น เพราะโดยภาพรวมแล้ว นี่คือการรุกคืบในเกม “หมากล้อม” สไตล์โดนัลด์ ทรัมป์และพลพรรคในทำเนียบขาว


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

การบรรลุข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา (USMCA) ฉบับใหม่ ซึ่งจะนำมาใช้แทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟตา (North American Free Trade Agreement–Nafta) มีความหมายมากกว่าที่บอกว่า ทำให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดนมของแคนาดามากขึ้น และเปิดโอกาสให้แคนาดาส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้น เพราะโดยภาพรวมแล้ว นี่คือการรุกคืบในเกม “หมากล้อม” สไตล์โดนัลด์ ทรัมป์และพลพรรคในทำเนียบขาว

การบรรลุข้อตกลงได้ ทำให้เรื่องราวที่มีคนติดตามว่าชะตากรรมของบริษัทเครื่องบินแคนาดาอย่าง Bombardier ที่โบอิ้งหมายมั่นปั้นมือจะกำจัดให้พ้นทางมานานแล้วถูกกลบเกลื่อนไปแล้ว ยังทำให้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่เกิดจากหลักการเรื่องสร้างกลุ่มการค้าพหุภาคีระดับภูมิภาคอย่าง NAFTA ล่มสลายไปอย่างไม่เป็นทางการโดยปริยาย

ก่อนหน้าการตกลงกับแคนาดาสำเร็จ สหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงทวิภาคีกับเกาหลีใต้ และกำลังชักชวนหรือจูงใจให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมบรรลุข้อตกลงทวิภาคีด้วย

เป้าหมายที่เห็นได้ชัดคือ ปิดล้อมและโดดเดี่ยวจีน

ท่าทีเช่นนี้เห็นได้จากการที่ทรัมป์เอ่ยปากว่า การเจรจาการค้ากับจีนยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเท่าใดนัก เพราะเชื่อว่าในท้ายสุด หากสามารถโดดเดี่ยวจีนได้ ก็คงบีบคั้นให้จีนเดินเซื่อง ๆ มาขอเจรจา “สมยอม” เสมือนลูกไก่ในกำมือ คงต้องติดตามว่าจีนจะแก้เกมออกจากวงหมากล้อมของสหรัฐฯ นี้อย่างไร และได้มากน้อยแค่ไหน

ข้อตกลง USMCA นี้ มีสาระสำคัญที่ไม่ต่างจากข้อตกลงที่สหรัฐฯ ทำไว้กับเม็กซิโก เมื่อต้นเดือนสิงหาคม กล่าวคือมี 34 หมวด ควบคุมการค้าเป็นมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 32 ล้านล้านบาท ข้อตกลงมีอายุ 16 ปี และกำหนดให้มีการทบทวนทุก ๆ 6 ปี ซึ่งถือว่าสหรัฐฯ ได้เปรียบมาก

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณา สาระหลักที่ถูกเปิดเผยออกมาจากข้อตกลงทวิภาคีสหรัฐฯ-เม็กซิโก เดิมจะพบว่ามีรายละเอียดดังนี้

– มีการเพิ่มเติมรายการสินค้าเดิมที่เคยระบุไว้ใน NAFTA ประกอบด้วยสินค้าทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าที่มีธุรกรรมผ่านเครือข่ายดิจิทัล และข้อขัดแย้งระหว่างนักลงทุน (investor disputes) เป็นต้น

– สินค้าที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องเป็นสินค้าที่ร่วมผลิตทั้งในสหรัฐฯ และ/หรือเม็กซิโก รวมกันไม่ต่ำกว่า 75% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าข้อกำหนดใน NAFTA

– ชิ้นส่วนและรถยนต์ ระบุว่า 40-45% ของรถยนต์แต่ละคันจะต้องผลิตจากโรงงานที่มีค่าแรงคนงานขั้นต่ำสูงกว่าชั่วโมงละ 16 ดอลลาร์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรงงานในเม็กซิโกที่มีค่าแรงต่ำกว่าได้สิทธิประโยชน์

– ข้อตกลงทวิภาคีนี้จะมีช่วงเวลาบังคับใช้​ 16 ปี แต่จะมีการทบทวนข้อตกลงทุก 6 ปี โดยไม่ระบุถึงเงื่อนไขหมดอายุโดยอัตโนมัติกำกับด้วย

ต้นแบบจำลองของข้อตกลงทวิภาคีกับเม็กซิโก (ที่เห็นได้ชัดเจนว่าสนองผลประโยชน์ฝ่ายเดียวของทุนอเมริกัน) และล่าสุด USMCA ถือเป็นเค้าลางสำหรับการเจรจาทวิภาคีกับชาติคู่ค้าที่ตกเป็นเป้าหมายทั้งที่บรรลุไปแล้วอย่างเกาหลีใต้ และในอนาคตต่อไป (เช่น ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์) อย่างคาดเดาไม่ยาก

ในตอนแรก ดูเหมือนว่าแคนาดาอาจถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมข้อตกลงที่จะนำมาใช้แทนข้อตกลงนาฟตาที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีและรายละเอียดในช่วงไม่นานมานี้

หากไม่นับท่าทีปลื้มจนออกนอกหน้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขข้อตกลงนาฟตา มาเป็นเวลานาน ได้ทวีตข้อความว่าข้อตกลงใหม่นี้ “ยอดเยี่ยมมาก” เพราะช่วยแก้ไข “ข้อบกพร่องและความผิดพลาด” ของข้อตกลงนาฟตา ถือว่านี่คือกติกาใหม่ของการเมืองด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ทำให้องค์การค้าโลกหรือ WTO เป็นแค่เสือกระดาษโดยปริยาย รอวันนับถอยหลัง

ในทางหลักการของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นี่คือชัยชนะครั้งสำคัญของลัทธิทวินิยมทางการค้า (trade bilateralism) ที่จะเข้ามาเบียดขับลัทธิพหุนิยมทางการค้า (trade multilateralism) จนหมดพลังลงไป

อีกด้านหนึ่ง นี่คือการล่มสลายของฉันทามติวอชิงตัน (Washington Concensus) ที่สหรัฐฯ ในสมัยจอร์จ บุชผู้พ่อ กำหนดเอาไว้หลังยุติสงครามเย็น พร้อมกับเริ่มต้นระบบโลกใหม่ ที่อเมริกากลายเป็น “มหาอำนาจเดี่ยว” ไร้คู่ต่อกร

ความพยายามของโดนัลด์ ทรัมป์ที่บรรลุเป้าหมายบางส่วนของการปิดฉากยุคสมัยของนักทฤษฎีโลกาภิวัตน์โลกสวยที่ชูธง “พหุภาคี ดีกว่าทวิภาคี” เพื่อกลับสู่โลก “ตีนติดดิน” เต็มตัว ว่าหมาป่าย่อมมีอำนาจเหนือลูกแกะวันยังค่ำ กลับกลายเป็นการผลักดันให้จีนกลางป็น “กองหน้าของขบวนแถวโลกาภิวัตน์” อย่างเลี่ยงไม่พ้น

ประเด็นคือ จีนจะยอมตนเป็น หรือมีสภาพจำยอมเป็น “ลูกแกะ” ในการเจรจาทวิภาคีกับ “หมาป่า” สหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด ยังคงต้องติดตามแบบภาพยนตร์ซีรี่ส์ขนาดยาวมาก พร้อมกับคำเตือนสติเก่าแก่ที่ว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร”

X
Back to top button