ความท้าทาย

ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งปี 2531 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นั่นก็คือข่าวบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือปตท.สผ. เข้าซื้อคืนสัมปทาน “โครงสร้างบี” ในแปลงสำรวจที่ 15 และ 16 ของบริษัท เท็กซัส แปซิฟิค


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์  

ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งปี 2531 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นั่นก็คือข่าวบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือปตท.สผ. เข้าซื้อคืนสัมปทาน “โครงสร้างบี” ในแปลงสำรวจที่ 15 และ 16 ของบริษัท เท็กซัส แปซิฟิค

คนส่วนใหญ่ก็ร้อง “หา…” ไม่เชื่อหู นี่มันข่าวจริงหรือข่าวล้อเล่นกันเนี่ย เพราะไม่เชื่อว่าบริษัทคนไทยจะมีความสามารถในการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติทางทะเลได้

ปตท.สผ.เข้ามาเปลี่ยนชื่อ “โครงสร้างบี” เป็น “โครงการบงกช” หรือ “แหล่งบงกช” ที่นิยมเรียกกัน หลังซื้อคืนมาจากเท็กซัส แปซิฟิค ก็ยังไม่ได้“บินเดี่ยว”ทำเอง แต่มอบหมายบริษัทโททาลจากฝรั่งเศส เป็นผู้ดำเนินการและร่วมทุน ด้วยอัตราการผลิตเริ่มต้น 150 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

โททาลดำเนินการได้ 5 ปี ก็ส่งมอบภารกิจมายังปตท.สผ.ดำเนินการแต่ผู้เดียวในปี 2541 นับจากวันนั้นจนวันนี้เป็นเวลา 25 ปี ปตท.สผ. สามารถพัฒนากำลังการผลิตแหล่งก๊าซบงกชได้สูงถึงวันละ 900 ล้านบีทียู จากจุดเริ่มต้นแค่ 150 ล้านบีทียู

“แหล่งบงกช” นับเป็น “โรงเรียนต้นแบบ” อันอุดมสมบูรณ์ของชาวปตท.สผ. สามารถตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศได้ถึงร้อยละ 20 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศ นับเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่า “คนไทยก็ทำได้” ในเรื่องของการขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเล

ความท้าทายครั้งใหม่ของปตท.สผ.กำลังจะเริ่มขึ้น!!!

นับเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายทีเดียว ที่ปตท.สผ.จะกลายเป็นผู้ชนะประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ เหนือคู่แข่งคนสำคัญอย่างเชฟรอนทั้งในแง่ของการกดราคาขายก๊าซและการให้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

แปลงบงกช ปตท.สผ.เสนอราคา 116 บาท/ล้านบีทียู จากราคาปัจจุบันที่ 214 บาท/ล้านบีทียู และแปลงเอราวัณ เสนอราคาที่ 116 บาทเช่นกัน จากราคาปัจจุบันที่เชฟรอนคิดในราคา 165 บาท

ส่วนข้อเสนอแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับปตท.สผ.ในแปลงบงกชอยู่ที่ 70:30 และในแปลงเอราวัณก็อยู่ที่ 68:32 ด้วยเหตุนี้ ปตท.สผ. จึงชนะห่างคู่แข่งซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเลียมระดับโลกอย่างเชฟรอนชนิดไม่เห็นฝุ่น

รัฐมนตรีพลังงาน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ คาดหมายผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่รัฐและส่วนรวมจะได้รับนับแต่ปี 2565 ที่เริ่มต้นสัญญาใหม่เป็นต้นไป ในระยะเวลา 10 ปีมีดังนี้

ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าหรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถขนส่ง NGV จะถูกลงในอัตรา 550,000 บาทหรือปีละ 55,000 ล้านบาท ซึ่งก็รวมค่าไฟฟ้าที่จำหน่ายประชาชนจะลดลง 17 ส.ต./หน่วยด้วย นอกจากนี้รัฐก็จะมีส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นตามระบบแบ่งปันผลผลิตอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท

รวมแล้วจะก่อประโยชน์โดยรวมประมาณ 650,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีนับแต่พ.ศ.2565 เป็นต้นไป

แต่การที่ปตท.สผ.เสนอขายก๊าซในราคาต่ำ และให้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐในอัตราสูง ก็อาจจะทำให้ปตท.สผ.มีกำไรที่ลดลง อย่างมาก ซึ่งจะต้องควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำ และใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปิโตรเลียม

นี่คือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ชนะ

ความเสี่ยงที่นำไปสู่ความวิตกกังวลอันนี้ สะท้อนให้เห็นจากราคาหุ้น PTTEP ที่ภายหลังการประกาศผลประมูลอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 140 บาท ก็ทยอยรูดต่ำลงมาที่ระดับ 116 บาทในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเบอร์ 1 ปตท.สผ.อย่างพงศธร ทวีสิน ยังคงแสดงทีท่ามั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมจากประสบการณ์แหล่งบงกชกว่า 20 ปี ที่ยืนอยู่บนลำแข้งพึ่งพาตนเองชนิด 100% และก็มีผลสำเร็จของงานมาเป็นลำดับ

ก็จากเริ่มต้นแค่ 150 ล้านบีทียู่ต่อวัน มาเป็น 900 ล้านบีทียูต่อวันนั่นแหละ

นอกจากนั้น ยังสามารถประหยัดต้นทุน ที่ไม่ต้องไปทำการลงทุนเพิ่มอีกแล้ว นั่นก็คือ แท่นขุดเจาะ เครื่องมือขุดเจาะ และระบบบริการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมีราคาสูงมาก

นี่คือความท้าทายใหม่ ที่ไม่ใช่เฉพาะปตท.สผ.ฝ่ายเดียว แต่หากยังเป็นความท้าทายใหม่ในเรื่องของผลประโยชน์ชาติและประโยชน์สุขส่วนรวมด้วย

 

Back to top button