พาราสาวะถี

ไม่ได้สร้างความฮือฮาให้กับคนที่รับข่าวสารต่อการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งของ 4 รัฐมนตรีกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนประชุมครม.เมื่อวันวานแต่อย่างใด โดยจะมีผลตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากมีเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการมาตั้งนานแล้ว แม้ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จะอ้างว่า การลาออกครั้งนี้เป็นเรื่องบรรทัดฐานใหม่ที่สร้างขึ้นมาก็ตาม


อรชุน

ไม่ได้สร้างความฮือฮาให้กับคนที่รับข่าวสารต่อการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งของ 4 รัฐมนตรีกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนประชุมครม.เมื่อวันวานแต่อย่างใด โดยจะมีผลตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากมีเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการมาตั้งนานแล้ว แม้ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จะอ้างว่า การลาออกครั้งนี้เป็นเรื่องบรรทัดฐานใหม่ที่สร้างขึ้นมาก็ตาม

ความจริงหากจะแสดงสปิริตและทำให้คนเห็นว่าไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นจนวินาทีสุดท้าย ควรจะไขก๊อกกันตั้งแต่มีชื่อเข้าไปเป็นผู้บริหารของพรรคสืบทอดอำนาจแล้ว การดึงจังหวะยื้อเวลามาจนแค่ไม่กี่สิบวันก่อนจะเลือกตั้ง มันทำให้คนส่วนใหญ่มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเหนือจากการรักษาความได้เปรียบทางการเมือง

ที่จะมาอ้างว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง ไม่เคยใช้เวลาราชการไปพูดเรื่องทางการเมือง ก็แค่มารยาทเท่านั้น หากแต่โดยพฤตินัยและการรับรู้ของคนทั่วไปก็เข้าใจว่าทั้ง 4 คนมีฐานะอย่างไรในรัฐบาล แม้จะบอกว่าบางช่วงที่พูดในเวลาราชการเป็นการลางานไปก็ตาม ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลนี้มีอำนาจเต็ม คนที่เป็นรัฐมนตรีจะทำอะไรก็ได้ ตามคำพูดอันหนักแน่นของ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรรัฐบาลเผด็จการ

วันนี้การลาหรือไม่ลาออกของ 4 รัฐมนตรีจึงไม่ใช่สาระสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจแต่อย่างใด เพราะการที่รัฐบาลนี้ยังมีอำนาจเต็ม สามารถที่จะแต่งตั้งโยกย้าย อนุมัติใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างสบายใจ มิหนำซ้ำ ยังมีมาตรา 44 อยู่ในมือ เหล่านี้ต่างหากที่ประชาชนเฝ้าจับตามอง เพราะถือเป็นจุดชี้วัดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง

ดังนั้น ข้อเสนอแนะจาก ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อการให้บิ๊กตู่ปฏิเสธการได้รับเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักและสังคมต่างยกมือสนับสนุน เพราะการรับคำเชิญก็เท่ากับว่าหัวหน้าเผด็จการจะต้องเผชิญกับคำถามมากมายที่ไม่มีทางทำให้คนที่ไม่สนับสนุนตัวเองและแม้กระทั่งคนที่อยู่ตรงกลางเข้าใจได้

ส่วนที่ใครบางคนพากันยกหางว่า หากบิ๊กตู่เข้าสู่อำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้งแล้วนั้น จะเป็นการเดินตามรอย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อย่างที่อรชุนเคยบอกไปแล้วว่ามันเทียบเคียงกันไม่ได้ และก็ทำให้เห็นภาพอีกครั้งจากคำอธิบายของปริญญา เพราะการที่ “ป๋า” นั่งนายกฯของประเทศนานถึง 8 ปีครึ่งนั้น ไม่ได้มาจากการยึดอำนาจ

นอกจากนั้น พลเอกเปรมก็ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่ามีการสืบทอดอำนาจ และไม่ได้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง แม้คำอธิบายของปริญญาจะบอกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ที่บังคับใช้ในขณะนั้นไม่มีกติกานี้ก็ตาม แต่อย่างน้อยการเข้าสู่อำนาจของป๋าเปรมเวลานั้น ก็เกิดจากการเชื้อเชิญของพรรคการเมือง ที่ช่วงชิงความได้เปรียบกันในสภาหลังการเลือกตั้งไปแล้ว

ขณะที่หัวหน้าเผด็จการ ณ ปัจจุบัน นอกจากที่มาของอำนาจจะเกิดจากการรัฐประหาร ทำลายรัฐธรรมนูญแล้วร่างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาเองทั้งหมด อันเป็นการเอื้อต่อกระบวนการสืบทอดอำนาจแล้ว ยังมีการประกาศตัวว่าเข้ามาเป็นกรรมการ มาห้ามศึกยุติความขัดแย้งทั้งหมด แต่ทำไปทำมาและถ้าเดินตามสิ่งที่กำลังจะเป็นไปทั้งหมด ก็เท่ากับว่านี่คือคู่ขัดแย้งเสียเอง คนกลางกลายเป็นกลางกระเท่เร่ไปเสียฉิบ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการทักท้วงใด ๆ ไม่น่าจะเป็นผล เพราะฟังถ้อยแถลงของหัวหน้าเผด็จการหลังการประชุมครม.วันวานแล้ว แนวโน้มก็คือการตอบรับคำเชิญเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันซึ่งไม่รู้ว่าดีหรือไม่ หรือจะเป็นที่พอใจของฝ่ายใดหรือเปล่าคือเจ้าตัวย้ำว่า ถ้าตอบรับร่วมงานการเมืองจะไม่มาในรูปแบบของนายกฯคนนอกแน่นอน

ตรงนี้พอจะเข้าใจได้ หากมาในรูปแบบนั้น ไม่มีใครการันตีได้ว่าสถานการณ์หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร โดยเมื่อพิจารณาจากเงื่อนเวลาที่พลเอกประยุทธ์บอกคือ จะตัดสินใจตอบรับหรือไม่ในห้วงวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ ก็เป็นการสอดรับกับสิ่งที่ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐบอกในวันที่ลาออกจากรัฐมนตรีว่า พรรคจะได้ข้อยุติเรื่องแคนดิเดตนายกฯในห้วงเวลาดังกล่าว

แม้จะเข้าใจกันว่านั่นคือเงื่อนเวลาบังคับจากกกต.ที่ให้แต่ละพรรคส่งรายชื่อนายกฯก็ตาม ทั้งหมดที่แสดงออกกันเวลานี้ไม่ต่างอะไรจากการเล่นละคร เพียงแต่ยุคสมัยนี้ไม่อาจตบตาประชาชนได้ เช่นเดียวกับการยืนยันไม่ลาออกจากทั้งตำแหน่งนายกฯและหัวหน้าคสช.ของบิ๊กตู่ เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีใครคาดหวัง เพราะใครจะยอมขาลอยในภาวะของการสู้รบ

ส่วนเรื่องที่อ้างว่าให้ฝ่ายกฎหมายไปดู สิ่งใดทำได้สิ่งใดทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมประชาชน การประชุมครม.นอกสถานที่ การจัดรายการคืนความสุขทุกวันศุกร์ หรือแม้แต่การเปิดแอ็กเคาต์ในเฟซบุ๊กและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก็เป็นเพียงการแก้เกี้ยวหรือพิธีกรรมเพื่อทำให้สังคมเห็นว่า พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้มีความเป็นกลางทางการเมืองแล้วเท่านั้น

เพราะความเป็นจริงสิ่งที่พ่นมาจากปากของผู้นำเผด็จการต่างหากที่จะเป็นตัวชี้วัดว่า วางตัวเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ เห็นได้จากการพูดจาปราศรัยกับประชาชนเวลาไปต่างจังหวัดจะติดดาบ พาดพิงถึงพรรคอื่นพร้อมชูทางเลือกที่คนทั่วไปก็รับรู้ได้ว่าหมายถึงพรรคการเมืองใด พฤติกรรมเหล่านี้ต่างหากที่ควรเลิกมากกว่าที่จะไปเสาะแสวงหาข้ออ้างทางกฎหมายเพื่อทำให้ตัวเองดูดี

อย่างน้อยก็ดีเหมือนกันที่จากนี้ไปจะได้ไม่ต้องทำตัวเป็นอีแอบ พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาซึ่งคนส่วนใหญ่ก็รู้กันตั้งนานแล้วว่าเป็นของใคร ก็จะได้เลิกเสแสร้งอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับรัฐบาลเผด็จการ แน่นอนว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองก็จะเด่นชัดยิ่งขึ้นกับการเลือกระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ ที่จะวางตัวลำบากและต้องหาทางพาตัวเองกลับมามีที่ยืนให้ได้คือประชาธิปัตย์ จะทำอย่างไรไม่ให้ถูกมองว่าเป็นพวกแทงกั๊ก ขุดสร้างทำทางให้ตัวเองเป็นทางเลือกที่ 3 คงจุดกระแสไม่ขึ้นนั่นเป็นเพราะกรรมที่เคยทำมา

Back to top button