พาราสาวะถี

หลักการที่แกว่งไกว ลื่นไหลไปตามอำนาจที่กดทับ มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากหลักกู ทุกอย่างมิอาจจะสร้างความเชื่อมั่น เรียกความศรัทธาจากประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ หลายคนชักเริ่มจะสงสัยหลักการและบรรทัดฐานการทำงานของกกต.แล้วว่า ยึดโยงอะไรกันแน่ หรือว่ากลัวมาตรา 44 จึงพิจารณาและกำหนดมาตรการอันเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่อยู่กับร่องกับรอย


อรชุน

หลักการที่แกว่งไกว ลื่นไหลไปตามอำนาจที่กดทับ มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากหลักกู ทุกอย่างมิอาจจะสร้างความเชื่อมั่น เรียกความศรัทธาจากประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ หลายคนชักเริ่มจะสงสัยหลักการและบรรทัดฐานการทำงานของกกต.แล้วว่า ยึดโยงอะไรกันแน่ หรือว่ากลัวมาตรา 44 จึงพิจารณาและกำหนดมาตรการอันเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่อยู่กับร่องกับรอย

กรณีสมาชิกและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เคยมีประกาศห้ามช่วยผู้สมัครส.ส.หาเสียง แต่ล่าสุด เปลี่ยนใหม่ให้ช่วยพรรคการเมืองหาเสียงได้ อ้าว ! ไหงพลิกแพลงตะแคงฟ้ากันง่าย ๆ แบบนี้ หรือเป็นเพราะมีกรณีร้องเรียนพรรคพลังประชารัฐเอาผู้นำท้องถิ่นมาขึ้นเวทีแล้วเป็นเรื่องเป็นราว เลยไม่ห้ามมันเสียอย่างงั้น แค่เรื่องขี้ปะติ๋วยังยืนยันหลักการของตัวเองไม่ได้ แล้วเรื่องใหญ่ ๆ  มันจะไหวและไว้ใจได้หรือ

ตอนนี้ยังมีเรื่องที่กกต.จะต้องเคาะอันเกี่ยวกับพรรคสืบทอดอำนาจโดยตรง 2 กรณีคือ ทางฝ่ายพรรคสืบทอดอำนาจยื่นถามว่าจะให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยหาเสียงและขึ้นเวทีดีเบตได้หรือไม่ แน่นอนว่า คำตอบที่ได้มันจะมีผลไปต่ออีกกรณีที่มีคนยื่นร้องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐกับการเสนอชื่อบิ๊กตู่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ด้วย

เพราะทั้งสองเรื่องมันเกี่ยวพันกันไปโดยปริยาย หากกกต.รับรองว่าผู้นำเผด็จการสามารถช่วยหาเสียงได้ หมายความว่า ความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีผู้ยื่นร้องว่าน่าจะขัดต่อกฎหมายไม่สามารถถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ต้องยุบพรรคสืบทอดอำนาจก็จะไม่มีความหมายไปในทันที อยู่ที่ 7 เสือที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากสภาเผด็จการว่าจะตัดสินใจกันอย่างไร

หากจะเป็นประเภทบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น คือ ขอผู้มีอำนาจว่าไม่ต้องไปช่วยหาเสียงหรือขึ้นเวทีดีเบตได้ไหม เพราะทุกวันนี้ การที่ไปตรวจราชการจังหวัดนั้นภาคโน้นแบบถี่ยิบก็ถือเป็นการหาเสียงไปในตัวอยู่แล้ว และยังมีรายการทุกคืนวันศุกร์พร้อมกับการปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่ออยู่ทุกวัน เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอที่ไม่ต้องทำอะไรกันอีกแล้ว

แต่หากเป็นความประสงค์ของพรรคสืบทอดอำนาจที่จะใช้ความได้เปรียบเทกระจาดกันโค้งสุดท้าย โดยการให้ผู้นำเผด็จการไปขึ้นเวทีเพื่อกวาดคะแนนเสียงจากประชาชน ตรงนั้นก็ช่วยไม่ได้ อยู่ที่ผู้ซึ่งทำท่าว่าจะทำให้หลักการแกว่งไกว เลือกที่จะรักษาหน้าตาองค์กรหรือยอมทำตามคำบัญชาและร้องขอของพรรคพวกเผด็จการ บางทีคำตอบของคนทั่วไปก็คาดเดากันได้ไม่ยาก

ความจริงความเห็นของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทยต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรที่ดูแลการเลือกตั้งถือว่าน่าสนใจไม่น้อย อะไรก็แล้วแต่ ควรมีหลัก สิ่งที่ต้องย้ำกันตรงนี้คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องยุติธรรม ไม่ซื้อเสียง ไม่โกงและต้องไม่ใช้อำนาจรัฐ ถ้าทำได้ เราจะเห็นความหวังของการเลือกตั้งครั้งนี้

ด้วยความที่ร้างเวทีเลือกตั้งมานานเกือบ 8 ปี หากไม่นับการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะไปเมื่อปี 2557 ถือว่าประชาชนมีความตื่นตัวกันไม่น้อย เป้าหมายของกกต.ที่ตั้งว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย และหากเป็นเช่นนั้นจริง จากตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51.4 ล้านคน หมายความว่า จะมีผู้ออกไปหย่อนบัตรไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน และมีผลต่อคะแนนเสียงไม่ตกน้ำที่จะทำให้พรรคการเมืองได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ขยับไปอยู่ที่ตัวเลขร่วม 80,000 เสียงต่อส.ส. 1 ที่นั่ง

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าคนในเมืองหรือชนบท ไม่ว่าคนระดับไหน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาปากท้อง ต่างฝากความหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้มากที่สุด ดังนั้น ผู้มีอำนาจหรือผู้มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง โปรดอย่าทำลายความหวังของประชาชน ต้องจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ปราศจากการซื้อเสียงและการโกงทุกรูปแบบ

แม้แต่ อิทธิพร บุญประครอง ประธานกกต.เองก็ยอมรับว่า มีเรื่องร้องเรียนต่อการทุจริตการเลือกตั้งโดยเฉพาะการวางตัวไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่รัฐ ณ เวลานี้มากกว่า 200 คดี ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับข้อกล่าวหาและเสียงครหาว่า การเลือกตั้งครั้งมีการใช้อำนาจรัฐอย่างมากมาย มีการซื้อเสียงอย่างมโหฬาร แต่กลายเป็นว่าผู้ที่อำนวยการให้เกิดการเลือกตั้งมองไม่เห็น ถ้าไม่แสดงบทบาทหรือจัดการให้เป็นรูปธรรม ตรงนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตหลังเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปถึงประเด็นให้ผู้นำเผด็จการขึ้นเวทีดีเบตกับแคนดิเดตนายกฯ พรรคอื่น แม้กกต.จะอนุญาต คงเป็นเรื่องยากอีกว่าจะมีการรับคำเชิญไปร่วมเวทีต่าง ๆ หรือไม่ ต้องไม่ลืมว่า ผู้นำเผด็จการนั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยรับฟัง ขนาดนักข่าวจะถามยังต้องให้เขียนใส่กระดาษ ไม่ชอบให้ใครมาจี้ถาม แล้วจะไปขึ้นเวทีดีเบตให้ถูกต้องอย่างนั้นหรือ

ขณะเดียวกัน ยังนึกภาพไม่ออกอีกเช่นกัน หลังการสืบทอดอำนาจที่ผู้นำเผด็จการจะเป็นผู้นำประเทศอีกกระทอก เวทีอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นไปในลักษณะใด เพราะเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา เรามีแต่สภาเวทีที่ประชุมกันโดยปล่อยให้ผู้นำพูดฝ่ายเดียวแล้วตามมาด้วยการสดุดี สรรเสริญ กันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นเวทีแห่งความเห็นต่างเหมือนเวทีสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา

อาการของคนที่ชอบใช้อำนาจแบบเด็ดขาดมาตลอดทั้งชีวิต มันจะหยุดได้ด้วยการเป็นนักการเมืองอาชีพเพียงแค่ชั่วข้ามคืนคงยาก เห็นได้จากการตอบคำถามเรื่องส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผู้นำเผด็จการถึงขั้นหัวเสียพร้อมสวนกลับนักข่าวว่า 250 เสียงไม่มีสมองหรืออย่างไร แน่นอนว่าคงไม่มีใครเถียงเรื่องความรู้ความสามารถ แต่การสยบยอมอยู่ใต้อุ้งตีนเผด็จการกับการใช้สมองนั้นมันคนละเรื่องกัน

สิ่งที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.พูดถึงประเด็นนี้น่าจะตรงจุดที่สุด ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่เสนอตัวอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐและตั้งส.ว. ก็เชื่อว่าส.ว.จะมีสมอง สามารถทำได้ตามเจตนารมณ์ รู้ผิดชอบชั่วดี แต่เมื่อตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วสามารถแต่งตั้งส.ว.ได้ 250 เสียง จะมีใครโง่ไปแต่งตั้งคนที่จะไปเลือกคนอื่นเป็นนายกฯ อย่างนั้นหรือ และคนที่ถูกเลือกก็จะไปเลือกคนอื่นไม่เลือกคนที่ตั้งตัวเองให้มีตำแหน่งอันทรงเกียรติอย่างนั้นหรือ ตรรกะง่าย ๆ แบบนี้เด็กอมมือที่ไม่ต้องใช้สมองคิดยังตอบได้

X
Back to top button