คนดีในกรงทอง

หลังเลือกตั้งที่มีคำถามเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการนับคะแนน เริ่มมีคนสร้างกระแสเก่ากลับมาเล่าใหม่ ด้วยคำพูดซ้ำซากแผ่นเสียงตกร่อง ที่ยากจะนับว่าพูดกันกี่ปีแล้ว


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

หลังเลือกตั้งที่มีคำถามเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการนับคะแนน เริ่มมีคนสร้างกระแสเก่ากลับมาเล่าใหม่ ด้วยคำพูดซ้ำซากแผ่นเสียงตกร่อง ที่ยากจะนับว่าพูดกันกี่ปีแล้ว

“….ถวายคืนพระราชอำนาจ…ฆ่าพวกล้มเจ้า…สู้เพื่อในหลวง…ไม่ชอบไปอยู่ประเทศอื่น…โค่นทุนสามานย์…”

ได้ยินแล้วเลี่ยนยิ่งกว่ากินคอหมูย่างติดกัน 3 มื้อรวด กับภาวะอัมพฤกษ์ทางปัญญาของคนบางกลุ่มในสังคมที่ติดเชื้อละเมอฝันของจวงจื่อไม่ยอมหาย

จวงจื่อปราชญ์เต๋ารุ่นเดียวกับขงจื่อ หลับฝันไปว่า เขากลายร่างเป็นผีเสื้อ โผกระพือปีกไปมาสุขสมกับตัวเองดังใฝ่ฝัน จนลืมไปว่าเขาคือใคร ทันใดนั้น เขาสะดุ้งตื่นขึ้นมาพบว่าตนเองคือจวงจื่อ แต่เขาก็ยังคับข้องใจต่อมาไม่วายว่า แท้จริงแล้วเขาคือใครกันแน่ ระหว่างจวงจื่อที่เป็นผีเสื้อหรือผีเสื้อที่ฝันว่าเป็นจวงจื่อ เพื่อค้นหาความหมายว่า การเป็นจวงจื่อและผีเสื้อ จะต้องมีอะไรร่วมกันบางอย่างและต่างกันบางอย่าง

ปริศนาของจวงจื่อ ไม่ต่างอะไรเลยกับคำสาปแช่งของซินเดอเรลล่า ที่ชักนำเด็กสาวไร้เดียงสาจำนวนมากตกอยู่ใต้กับดักของความละเมอฝันในมายาคติแห่งรักจอมปลอมที่แยกไม่ออกระหว่างราคะกับรัก จนเสียคน (แต่ได้เด็ก) นับไม่ถ้วนมาแล้วนั่นเอง

เสน่ห์แห่งคำสาปของซินเดอเรลล่า อยู่ที่มันมีพลังในการสร้างความหลงผิดทั่วไปให้เด็กสาวเชื่อว่า ตนเองสามารถหลบหนีจากโลกและครอบครัวที่แห้งแล้ง ค้นพบชายที่อบอุ่นหล่อเหลา มีเสน่ห์ แม้จะน่าเบื่อ ไม่รับผิดชอบ กะล่อน และเห็นแก่ตัว

เงื่อนไขสำคัญของคำสาปซินเดอเรลล่า ขมวดปมอยู่ที่ ขอเพียงแค่มีความฝันและจินตนาการอันเพริดพริ้งอย่างแน่วแน่มั่นคง แล้วในค่ำคืนหนึ่งสาวใช้ผู้ยากก็จะถูกอำนาจวิเศษเสกเป่าเนรมิตให้กลายสภาพเป็นสาวโฉมสะคราญ ที่ย่างเท้าเข้าไปในงานเลี้ยงอันหรูหราเป็นจุดสนใจอันโดดเด่น โดยเจ้าชายรูปงามต้องมนต์ในทันใดแบบรักแรกพบ ถึงกับให้สัญญาจะปกป้องเธอให้มีสุขชั่วนิรันดร  แต่แล้วเมื่อช่วงเวลาอันแสนสุขจากมนต์เสกเป่าสิ้นสุดลง เธอก็ทิ้งรองเท้าแก้วเอาไว้ต่างหน้า เพื่อที่เจ้าชายจะได้ตามหาเธอในซอกหลืบของโรงครัวอันคละคลุ้งในเวลาต่อมา เพื่อนำไปครองรักกันตราบชั่วอายุขัย

ทำนองเดียวกันกับความเชื่อว่าคนดีสามารถปกครองประเทศเหนือกว่าคนอื่น แม้จะได้ตำแหน่งมาด้วยกลโกงหน้าด้าน ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่า เป็นเรื่องเหนือจริงยิ่งกว่าทำให้ท้าวธฤตราษฎร์มองเห็นความชั่วของทุรโยธน์

ในช่วงยุคมืดของสงครามเย็น อาร์เธอร์ มิลเลอร์ นักเขียนบทละครชื่อดังอเมริกัน (ที่พวกเราคุ้นเคยกับ “อวสานเซลส์แมน” อย่างดี) เขียนบทละครสะเทือนใจเรื่อง “เหตุเกิดที่วิชี่” ที่เปิดหน้ากากความขี้ขลาดและอำมหิตทางศีลธรรมของคนตาบอดทางการเมืองและสังคมอย่างแทงใจดำ

ในห้องทรมานของตำรวจลับนาซี ผู้ใหญ่ 9 คน วัยรุ่นอายุ 15 อีกคน เป็นฝรั่งเศสเชื้อสายยิวเหลือคนเดียวที่เป็นคนผู้ดีออสเตรียที่ไม่ใช่ยิว ถูกควบคุมมาโดยตำรวจลับของรัฐบาลหุ่นวิชี่ที่ฮิตเลอร์เชิดอยู่เบื้องหลังยามสงครามโลกครั้งที่สอง ในห้องเดียวกันโดยไม่แจ้งข้อหา แต่ก็รู้ทั้งคนควบคุมและถูกควบคุมว่า ปลายทางของคนเหล่านี้ คุกรมแก๊สพิษที่ใดสักแห่ง

สิ่งที่พวกเขาทั้ง 15 คน ต้องการอย่างมากคืออยู่รอดโดยมีใบอนุญาตผ่านทาง

ผู้ควบคุมห้องคือ นายพันบ้าอำนาจนาซี ที่ไม่สามารถบอกได้ว่า การควบคุมตัวคนเหล่านี้มาด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือ เผ่าพันธุ์ หรือทั้งสองอย่าง แกนกลางของเรื่องจึงอยู่ที่ประเด็นของเสรีภาพในการเลือก ระหว่างการสยบยอมเพื่อเอาตัวรอด หรือ การต่อสู้กับอำนาจดิบโดยมีความเสี่ยง

คนยิว 8 ใน 9 คนต่างมีปูมหลังที่ต้องซ่อนเอาไว้ ดังนั้น จึงพยายามหาเหตุผลมาอธิบายความชอบธรรมของตนเองในการสยบยอมอย่างปราศจากข้อสงสัย มีอยู่คนเดียวเท่านั้นที่คิดจะหลบหนี แต่กลับถูกคนยิวอื่นขัดขวางเอาไว้ เพราะข้ออ้างว่า หากหนีไปได้ 1 คน ที่เหลือจะตายหมด แต่หากเลือกสยบยอมจะปลอดภัยในระยะสั้น แม้ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยในระยะยาวก็ยังถือว่าดีกว่า

นักธุรกิจยิวยอมรับว่า คนเยอรมันมีเหตุผลและเคารพกติกาเสมอ ตราบใดที่คนฝรั่งเศสเคารพกติกา ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น ขณะที่กรรมกรรถไฟ ปลอบใจตนเองว่าเขาเคยทำงานในโปแลนด์มาก่อน มีเพื่อนมากมายที่นั่น หากถูกส่งไปค่ายยิวในโปแลนด์ จะมีคนมาช่วยให้เขารอดได้จึงไม่ต้องการดิ้นรนต่อสู้

พ่อครัวยิวประจบผู้คุมว่า เขารู้ที่ซ่อนของอาหารที่กักตุนเอาไว้ หากได้รับใบผ่านทางให้ปล่อยตัวไป

ส่วนผู้ดีออสเตรีย ซึ่งถูกรังเกียจโดยยิวทั้งหมด ได้ยอมรับโดยไม่มีข้อแม้ว่า สิ่งที่นาซีและคนเยอรมันทำกับยิวในฐานะ “มนุษย์ต้องห้าม” อย่างเหมารวม คือความล้มเหลวทางศีลธรรมที่เกินจะรับได้ สิ่งที่เขาคาดหวังก็คือ การไถ่บาปทำได้ด้วยความเอื้ออาทรและประโยชน์ร่วมกัน

ไคลแมกซ์เกิดเมื่อผู้ถูกควบคุมตัวบางคนคิดจะหนี ยิวทั้งหมดจึงสมคบคิดกันส่งข่าวให้ผู้คุมรู้อย่างลับ ๆ จนการหลบหนีไม่สำเร็จ แต่ผู้คุมพลิกเกมด้วยการตัดสินใจปล่อยตัวผู้ดีออสเตรียออกไป เพราะเห็นว่าการกักตัวเขามีประโยชน์ต่ำกว่าคนยิวที่ถูกควบคุม และมอบใบผ่านทางที่ได้มาเพื่อหนีไปได้

จุดจบของเรื่อง ยิวที่เหลือทั้งหมดถูกนำไปเข้าห้องรมแก๊ส  ทิ้งคำถามไว้ว่า การยอมตนเป็นเหยื่อที่สยบยอมต่ออำนาจโดยไม่ขัดขืน ด้วยจิตสำนึกหลงผิดอย่างเพ้อพกว่า การสมรู้ร่วมคิดกับอำนาจเผด็จการ เพื่อสมอ้างเป็นคนดีท่ามกลางสังคมเลว ไม่ตระหนักว่านั่นคือการยื่นดาบอาญาสิทธิ์ให้ศัตรูของเสรีภาพและยุติธรรม

คนดีที่พยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ จะผยองแค่ไหน ขึ้นกับจำนวนของ “ตัวไทแต่ใจทาสเข้าเทียมแอกอนาถา เป็นสำคัญ

Back to top button