บัวบานในโคลนตม

กระแสลมการลงทุนเก็งกำไรในตลาดทั่วโลกต้องเปลี่ยนทิศตามการหักเหชะตากรรมของค่าเงินหลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณประหลาด


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

กระแสลมการลงทุนเก็งกำไรในตลาดทั่วโลกต้องเปลี่ยนทิศตามการหักเหชะตากรรมของค่าเงินหลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณประหลาด

นายพาวเวล กล่าวเมื่อวานซืนว่า เฟดกําลังจับตามองพัฒนาการทางเศรษฐกิจในขณะนี้ และจะ ดำเนินการในสิ่งที่ต้องทํา” เพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไป ซึ่งทำให้นัก อ่านริมฝีปากเฟด” และนักลงทุนสถาบันในนิวยอร์กตีความว่านายพาวเวล อาจต้องการส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยังสอดคล้องกับที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อและเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลงอันเนื่องมาจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ผลพวงเกิดขึ้นทันทีค่าดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตราแล้วยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ

ผลลัพธ์จากดอลลาร์อ่อนทำให้บรรดาผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติหรือฟันด์โฟลว์ที่เชื่อกันว่าเตรียมเงินก้อนใหญ่ระดับ 8 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยสบช่องพากันเร่งซื้อเงินบาทเพื่อนำมาถือหลักทรัพย์ที่กล่าวมาจนล่าสุดค่าบาทแข็งสุดในรอบ 2 เดือนและยังต่ำกว่า 31.50 บาทต่อดอลลาร์ด้วย

ภาวะกระทิงชั่วคราวที่กลับมายังตลาดหุ้นไทยระลอกใหม่จากการที่ดัชนี SET ทะลุข้ามเส้นสัญญาณทางเทคนิคสำคัญยืนเหนือ 1,630 จุดอีกครั้งเปรียบได้กับ บัวบานในโคลนตม” อย่างแท้จริง เพราะสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของตลาดค่อนข้างน่าหดหู่มากกว่าน่าปรีดี

แม้ในทางการเมืองจะมีความชัดเจนว่าพลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปแต่เสียงรัฐบาลผสมที่ง่อนแง่นทำให้เกิดคำถามเรื่องเสถียรภาพในอนาคต แต่ที่สำคัญเศรษฐกิจไทยส่ออาการที่ชัดเจนว่าลำพัง เฮลิคอปเตอร์มันนี่” ไม่น่าจะช่วยอะไรมากนัก

ล่าสุดการที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้ปรับเป้าส่งออกไทยในปี 2562 ใหม่ จากเดิมขยายตัว 3% เหลือ 1% หลังจากยอดส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้ติดลบไปแล้ว 1.9% เนื่องจากเอกชนกังวลปัญหาความยืดเยื้อสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน, เศรษฐกิจโลกชะลอตัว, รวมถึงมาตรการทางการค้าที่สหรัฐฯ ดำเนินกับประเทศอื่นส่งผลกระทบกับการค้าทั่วโลกเช่นขึ้นภาษีสินค้าจากเม็กซิโก 5% ป้องกันการอพยพเข้าสหรัฐฯ, และการคว่ำบาตรห้ามซื้อน้ำมันจากอิหร่านเป็นต้น

อีกด้านหนึ่งข่าวร้ายจากอุตสาหกรรมรากฐานก็เลวร้าย เมื่อ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยจัดทำรายงานผลกระทบของสงครามการค้าต่ออุตสาหกรรมเหล็กหลังพบเหล็กจีนทะลักเข้าไทยและอาเซียนจนทำให้การใช้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศอยู่ในอัตราวิกฤตที่ 38%

ข่าวร้ายดังกล่าวช่วยซ้ำเติมข่าวร้ายเก่าที่มีก่อนหน้านี้ เช่นการที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประกาศปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 62 โต 3.5% จากเดิมที่คาดโตได้ 3.8% ส่วนส่งออกคาดว่าปีนี้เหลือโต 0.5% จากก่อนหน้าคาดโตได้ 3.9% โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

เช่นเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ออกมายอมรับประเมินเป้าส่งออกทั้งปีใหม่ปลายเดือนนี้ลดลง ส่วนธนาคารโลกจับมือกสิกรไทยจ่อปรับลดจีดีพีประเทศไทยใหม่

การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ส่วนหนึ่งเพราะบรรดาทุนเก็งกำไรต่างชาติต่างรู้ทัน จุดอ่อน” อำนาจรัฐไทยได้ดีว่ากระทรวงการคลังไม่มีอำนาจควบคุมนโยบายการเงินที่อยู่ในกำมือเทคโนแครตอย่างผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธปท.ก็มีขีดจำกัดในการแทรกแซงค่าบาท

ข้อจำกัดสำคัญของธปท.ในการบริหารระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวตามเงื่อนไขของการบริหารเสถียรภาพทางการเงินด้วยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ว่า หากเมื่อใดบาทอ่อนธปท.จะมีกำไร แต่ถ้าบาทแข็งธปท.จะขาดทุน

บทบาทซึ่งธปท.ต้องทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนมากเกินไปและยังต้องดูแลสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย ดังนั้นเมื่อมีการซื้อดอลลาร์เข้ามาหรือมีเงินไหล (ฟันด์โฟลว์) เข้ามาจำนวนมากทำให้บาทแข็งเกิน ตามกติกาแล้วธปท.ต้องออกพันธบัตรธปท. (ซึ่งแตกต่างจากพันธบัตรกระทรวงการคลังซึ่งมักจะมีคนสับสนเรื่องนี้มาก) เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของเงินบาท แต่พันธบัตรที่ธปท.ออกมานั้นมีภาระดอกเบี้ยจ่ายถือเป็นต้นทุนในการดำเนินนโยบายการเงิน (ปัจจุบันอยู่ที่ระหว่าง 2-3 % ต่อปี) โดยภาระดอกเบี้ยจ่ายของธปท.เฉลี่ยสามารถหาดูได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อัตราดอกเบี้ยที่ธปท.กำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงและเป็นเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน)

พูดโดยสรุปง่าย ๆ คือนโยบายที่ธปท.ใช้อยู่เป็น 2 เสาหลักคืออัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อรักษาเสถียรภาพคือต้นธารของกลยุทธ์ “2 ขาดทุน” ของธปท. เพราะค่าบาทแข็งเมื่อใดธปท.ก็ขาดทุนจาก 1) การออกพันธบัตรธปท. (จากนโยบายการเงินตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ) และ 2) ขาดทุนจากการทุ่มทุนสำรองแทรกค่าดอลลาร์(จากนโยบายการเงินรักษาเสถียรภาพค่าบาท)

หลายปีมานี้ค่าบาทมักจะแข็งเกินจริงเสมอ ทำให้ธปท.พบขีดจำกัดในการขาดทุน ซึ่งจุดอ่อนนี้กระทรวงการคลังก็ตระหนักดีแม้หลายครั้งกระทรวงการคลังจะเคยตั้งประเด็นเรื่องบาทแข็งกระทบผู้ส่งออกขึ้นมาเป็นเรื่องชวนทะเลาะเบา ๆ ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง เช่นระบุว่าเป็นหน้าที่ของธปท.ที่ต้องดูแลไม่ให้เงินบาทแกว่งตัวมากเกินไป และต้องปรับสมดุลให้เงินบาทอยู่ในระดับเดียวกันกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งของไทย เพราะถ้าหากเงินบาทแข็งค่าเกินไปผู้ส่งออกจะเสียเปรียบคู่แข่งในเวทีการค้าโลก แต่ประเด็นดังกล่าวก็มักเงียบลงเพราะธปท.ไม่สนองตอบ

ปีนี้ค่าบาทไทยถือว่าแข็งสวนทางกับเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ลงถึงขั้นน่าเป็นห่วง โดยที่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนธนาคารกสิกรไทยออกมาระบุว่าว่าค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ในระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าเป็นอันดับที่ 1 หรือมากที่สุดเทียบกับภูมิภาคในช่วง 6 เดือน ซึ่งบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ 3.9% ทั้งนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์สิงคโปร์ในรอบ 5 ปี และแข็งค่าเทียบเงินหยวนของจีนมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ครั้งนั้นยังมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าหากภายในวันที่ 1 มิถุนายนยังไม่มีข้อตกลงการค้าจีน-สหรัฐฯ และ/หรือเฟด มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายลง อาจเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาถือสินทรัพย์เสี่ยงของไทยเพิ่มขึ้นหนุนค่าเงินบาทให้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้

ภาวะบาทแข็งที่สอดรับภาวะกระทิงในสัปดาห์นี้ของตลาดหุ้นไทยตอกย้ำว่าคำเตือนแม่นยำยิ่งนัก

การแข็งค่าผิดปกติของค่าเงินบาทเป็นผลจากความไม่แน่นอนสงครามการค้า และค่าดอลลาร์ทําให้มีการนําเงินมาพักในไทยที่ความเสี่ยงต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง จึงเห็นการไหลเข้ามาพันธบัตรระยะสั้นแล้วบางส่วนมาหากำไรในตลาดหุ้นเป็นของแถม

ค่าบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นจะหลุดระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากธปท.ไม่ยอมแทรกค่าบาทเพราะกลัวขาดทุนหนัก ย่อมทำให้ในอนาคตเหลือทางเลือกแค่ 2 ทางเท่านั้นคือ ธปท.จะต้องยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หรือรัฐบาลยอมกระเป๋าฉีกขาดดุลงบประมาณทุ่มหน้าตักกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประคองตัว

ไม่ว่าทางเลือกไหนล้วนไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลย เพราะอย่างแรกฟันด์โฟลว์จะไหลออกทำให้ดัชนี SET ดิ่งหนักทำนิวโลว์ใหม่ ๆ อย่างหลังจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นสู่จุดอันตราย

ภาวะกระทิงของตลาดหุ้นไทยที่ตามสัญญาณทางเทคนิคแล้วดัชนี SET มีโอกาสทะลุแนวต้าน 1,700 จุดได้ จึงเป็นภาวะ กระทิงเดียวดาย” ที่ไม่สัมพันธ์กับพื้นฐานเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเท่าใดนัก

การเปรียบเทียบเป็น “บัวบานในโคลนตม” จึงไม่เกินจริง

Back to top button