คนไทยกับตลาดความเชื่อ

จากกระแสข่าวการตื่นตูมทางความเชื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเรื่องราวดูดาวพลูโต จังหวัดนครสวรรค์ ที่ร่ำลือไปถึงขั้นติดต่อสื่อสารติดต่อพูดภาษาต่างดาวกันเลยทีเดียวหรือ “ร่างทรง 4.0-ร่างทรง 5G” ที่ลุกลามกันไปถึงขั้น “ร่างทรงวิดีโอคอลล์” รับรักษาโรคภัยไข้..นี่ยังไม่รวมร่างทรงสารพัดเทพหรือเรื่องโหราศาสตร์ โชคลาง ที่แปรเปลี่ยนตามยุคสมัยอีกด้วย


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

จากกระแสข่าวการตื่นตูมทางความเชื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเรื่องราวดูดาวพลูโต จังหวัดนครสวรรค์ ที่ร่ำลือไปถึงขั้นติดต่อสื่อสารติดต่อพูดภาษาต่างดาวกันเลยทีเดียวหรือ “ร่างทรง 4.0-ร่างทรง 5G” ที่ลุกลามกันไปถึงขั้น “ร่างทรงวิดีโอคอลล์” รับรักษาโรคภัยไข้..นี่ยังไม่รวมร่างทรงสารพัดเทพหรือเรื่องโหราศาสตร์ โชคลาง ที่แปรเปลี่ยนตามยุคสมัยอีกด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงพฤติกรรมคนไทยบางส่วน ให้ความสำคัญกับโชคชะตา ความเชื่อเรื่องโหรา ศาสตร์ หรือความเชื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเพื่อการแสวงหาประโยชน์หรือความสบายใจหรือตามน้ำ ตามกระแส ในลักษณะไม่เชื่อแต่ไม่ลบหลู่อะไรทำนองนั้น

สำหรับความเชื่อโชคลางที่ได้รับความนิยม 5 อันดับคือ 1)โหราศาสตร์ ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเรียน การงาน การ เงิน และความรัก ซึ่งแต่ละช่วงอายุจะมีความคาดหวังเรื่องโชคลางที่ต่างกัน วันเดือนปีเกิดเป็นศาสตร์ที่คนเชื่อที่สุด 2)สี เป็นการสร้างความสบายใจและสนับสนุนเรื่องการเรียนการงาน โดยเฉพาะพนักงานบริษัทจะเชื่อในศาสตร์นี้กันมาก คนเชื่อเรื่องสีนำโชคจากสีตามดวงชะตาวันเกิด

 3)ฮวงจุ้ย ที่เป็นศาสตร์ที่คนเชื่อว่ามีเหตุและผล ช่วยเรื่องความปลอดภัยและการเรียนการงาน อีกทั้งเป็นศาสตร์ที่นักธุรกิจเชื่อกันมาก 4)ตัวเลข โดยผู้ชายเน้นโชคลาภ แต่ผู้หญิงจะเน้นเสริมความมั่นใจ เลข 9 ถือว่าเป็นเลขมงคล ส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญกับเบอร์โทรศัพท์และฤกษ์แต่งงานเป็นพิเศษ 5)เครื่องราง ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองและสร้างความมั่นใจ ที่สำคัญเครื่องรางต้องมีเรื่องราวความเป็นมาจะยิ่งมีความน่าเชื่อถือ

จากกรณีดังกล่าวจึงกลายเป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือทางการตลาด” ที่บรรดาเจ้าของสินค้า นำมาประยุกต์ใช้เพื่อเรียก ร้องความสนใจจากลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอและใช้กับสินค้าหลากหลายมากยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “การตลาดความเชื่อ (Faith Marketing)” นั่นเอง..

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมาจนถึงปัจจุบันคือ การเลือก “เบอร์มงคล” จากบรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ เฉกเช่น“เลขทะเบียนมงคล” ที่ถึงขนาดที่กรมการขนส่งทางบกและสำนักงานกสทช. มีการเปิดประมูลกันเลยทีเดียว นั่นจึงทำให้เกิดการใช้ความเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้นและบุผนังยี่ห้อ “โสสุโก้” นำเอาความเชื่อ มาทำการตลาด โดยให้ลูกค้าเลือกใช้โทนสีกระเบื้องให้ถูกโฉลกกับธาตุประจำวันเกิดทั้ง 4 ธาตุ เช่น ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดิน เพื่อเสริมสิริมงคลและนำพาสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต ทำให้ผู้บริโภค “ตัดสินใจเลือกซื้อง่ายขึ้น” หรือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตัดสินใจด้วย

นักการตลาดมองว่า “ความเชื่อความศรัทธา ด้านโหราศาสตร์อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะหาฤกษ์คลอดลูก ดูฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน เลขทะเบียนรถ รวมถึงความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ตำแหน่งที่วางสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยเฉพาะกับคน Gen X หรือ Gen Y ที่ซึมซับความเชื่อจากบรรพบุรุษ หรือมีปัญหาความเครียดสะสมจนต้องหาที่พึ่งทางใจ เพื่อหาทางออก หรือต้องการเสริมบารมีให้ตนเอง”

ยิ่งช่วงเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้..จะเป็นแรงกระตุ้นให้ “ตลาดความเชื่อ” กลายเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว..!!

Back to top button