ทรัมป์’ต้องการอะไรจากการค้าโลก?

รายงานพิเศษ ท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อ …


รายงานพิเศษ

ท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่ได้รับแรงขับเคลื่อนจากความเชื่อของเขาที่ว่าประเทศอื่น ๆ ปฏิบัติทางการค้าต่อสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นธรรม

หลักฐานสำคัญที่สนับสนุนความเชื่อของเขาคือ การขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯ “ซื้อ” จากนานาประเทศมากกว่า “ขาย”  โดยเขาได้อ้างถึงการขาดดุลว่าเป็นการสูญเสียเงินและในทวิตเตอร์อันหนึ่งเขาได้ระบุว่า การขาดดุลการค้า 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีเป็นผลมาจากการทำการค้าอย่างบ้าคลั่งกับจีน และเขาสัญญาว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป  เป้าหมายเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของทรัมป์คือต้องลดการขาดดุล

ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ได้พูดถึงการขาดดุลการค้ากับคู่ค้าทั้งหมดที่มีมูลค่าเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีว่า เป็นสิ่งที่ “ไม่สามารถยอมรับได้” และกล่าวว่า “เราจะเริ่มลดการขาดดุลเหล่านั้นลงให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

อย่างไรก็ดี มันไม่ลดลง !! ตัวเลขที่ทรัมป์อ้างถึงเป็นตัวเลข “การค้าสินค้า” เท่านั้น และมันได้เพิ่มขึ้นทั้งสองปีเต็มนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่ง

สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 750,000 ล้านดอลลาร์ในปีสุดท้ายของประธานาธิบดีบารัก โอบามา และขาดดุล 887,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 และได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ การขาดดุลเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ตาม

ทรัมป์ได้โฟกัสไปที่ “การขาดดุลทวิภาคี” โดยมักชี้ว่ามันเป็นหลักฐานที่แสดงว่าประเทศอื่นปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมากสุดโดยเพิ่มขึ้นในสองปีแรกที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ส่วนในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้มันลดลง แต่เป็นเพราะทั้งการนำเข้าและการส่งออกได้ลดลงโดยการนำเข้าลดลงมากกว่า

นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเนื่องจากสองประเทศได้ขึ้นภาษีซึ่งกันและกันเป็นจำนวนมาก

ถ้าอย่างนั้น จะถือว่าเป็นความสำเร็จของประธานาธิบดีทรัมป์ใช่หรือไม่ ?

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่คิดเช่นนั้นหากคิดแค่ว่าความสมดุลทางการค้าทวิภาคีเป็นสิ่งที่สำคัญจริง ๆ

การขาดดุลในระดับทวิภาคีไม่รับประกันว่าจะลดการขาดดุลโดยรวมได้  การขาดดุลกับจีนอาจจะลดลงแต่กับประเทศอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น เช่น กับเวียดนาม เม็กซิโก และไต้หวัน เป็นต้น

มีข้อเท็จจริงที่ว่า การได้ดุลการค้ากับโลกที่เหลือส่วนใหญ่ ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสรรคที่ประเทศต่าง ๆ ตั้งขึ้นมาขวางกั้นสินค้าซึ่งกันและกัน แต่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าประเทศ “ซื้อ” สินค้าและบริการมากกว่า “ผลิต” หรือไม่

ศาสตราจารย์ เกรด แมนคิว จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า หากคุณต้องการลดการขาดดุลการค้า แนวทางที่จะต้องทำคือทำให้การใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการผลิตลดลง

ไม่ใช่ไปคุกคามคู่ค้าทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทำในสิ่งตรงกันข้าม

การลดภาษีของเขาได้ช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าในขณะนี้อาจจะเบาบางลงแต่มันก็ไม่น่าแปลกใจที่การขาดดุลการค้าควรจะเพิ่มขึ้นเพราะว่าชาวอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือธุรกิจได้ใช้เงินมากขึ้นและส่วนหนึ่งใช้ไปกับสินค้านำเข้า

มีแนวคิดในทางเศรษฐศาสตร์ที่รู้จักกันว่า “สมมติฐานการขาดดุลแฝด” (twin deficits hypothesis) แนวคิดนี้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกับการขาดดุลการค้า หรือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่นับรวมถึงธุรกรรมการเงินบางส่วน

การถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่จบลง แต่ความคิดที่ว่าการลดหย่อนภาษีในบางสถานการณ์อาจนำไปสู่การขาดดุลการค้าที่มากขึ้นเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้อย่างแท้จริง

ดังนั้นเมื่อเชื่อมโยงสิ่งที่ทรัมป์ได้ดำเนินการเข้าด้วยกัน  การลดภาษีของเขาจึงทำให้ยากที่จะลดการขาดดุลการค้า

อย่างไรก็ดีนั่นไม่ได้เป็นการชี้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้ทำบางอย่างที่มีความสำคัญในแง่ที่ว่า  มุมมองของเขาเกี่ยวกับการค้า อาจจะสะท้อนถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ในบางแห่ง

อีสเธอร์ ดูโฟล เจ้าของรางวัลโนเบล กล่าวว่า มีมุมมองตามสัญชาตญาณเกี่ยวกับการค้าในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่านั่นควรจะดีต่อทุกคน แต่เธอกล่าวว่า  มันไม่ใช่ความจริง

ดูโฟล กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการค้าช่วยหนุนการเติบโตโดยรวมแต่มันก่อให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงาน ซึ่งนั่นไม่ใช่ความเห็นใหม่และมันไม่ได้หมายความว่า คุณสามารถย้อนเวลากลับหรือพลิกผันเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเช่นนั้นด้วยการตั้งอุปสรรคการค้าใหม่ ๆ

(เรียบเรียงจากบีบีซี)

Back to top button