กองทุน SSF ส่งผลต่อตลาดหุ้นขนาดไหน!?

เรื่องที่นักลงทุนควรรู้อย่างกองทุนเพื่อการออมระยะยาวใหม่ (SSF) มาทดแทนกองทุนรวมระยะยาว LTF ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป


รายงานพิเศษ

เรื่องที่นักลงทุนควรรู้อย่างกองทุนเพื่อการออมระยะยาวใหม่ (SSF) มาทดแทนกองทุนรวมระยะยาว LTF ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป หลังจากที่กองทุน LTF ครบกำหนดใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2562

ด้วยข้อเสนอจากกระทรวงการคลังผ่านทางมติ ครม. อนุมัติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2562 เนื่องจากมองว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน SSF ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาวที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จะให้บุคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และต้องไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษีนั้น ๆ โดยเป็นการปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีจากเดิมของ LTF ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน

ประกอบกับกองทุน SSF จะมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานกว่าเดิม โดยใช้ระยะเวลาลงทุน 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ จากเดิมของกองทุน LTF ที่ 7 ปีปฏิทิน

รวมถึงการลงทุน SSF นั้นจะเปิดกว้างให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท  โดยไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่อยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง ขณะที่ทางกองทุน LTF กำหนดต้องมีการลงทุนในหุ้นไทยสัดส่วนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 65%

นอกจากนี้ผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ แล้วเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากปฏิบัติตามเงินไขที่กำหนด โดยผู้ลงทุนสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ได้ 5 ปี (ปี 2563-2567) โดยเมื่อครบ 5 ปี กระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการฯ เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

สิ่งที่ต้องขบคิดต่อมา คือ ในกรณีการลงทุนในกองทุน SSF จะเปิดกว้างให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภทอย่างไม่มีข้อจำกัดเหมือนกองทุน LTF ที่ต้องมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% นั้น อาจเป็นผลดีต่อผู้ลงทุนเองก็จริง แต่อาจไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไทยสักเท่าไรนัก เพราะเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินที่อาจไหลไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยมากขึ้น

และถ้าหากย้อนหลังไปดู 4-5 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินจากกองทุน LTF เข้ามาซื้อหุ้นราว 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้การปรับแนวทางกองทุน LTF ในครั้งนี้มองว่าอาจเป็นแนวลบต่อตลาดหุ้น เพราะการลงทุนใน LTF เป็นเหมือนบันไดก้าวแรกของผู้ลงทุนใหม่หลายราย แต่หากปรับให้ต้องถือครองยาวขึ้นสำหรับผู้ลงทุนที่ยังมีรายได้น้อยอาจสนใจลงทุนลดลง

ส่วนแรงผลักดัน SET ช่วงปลายปียังให้ความหวังไว้กับแรงซื้อกองทุน LTF ที่มักจะกระจุกตัวในช่วยท้ายของปี ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 14 ปี ที่แรงซื้อ LTF กว่า 45.1% มักจะกระจุกตัวในเดือนสุดท้ายของทุกปี และด้วยสถิติการซื้อขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันย้อนหลัง 10 ปี พบว่าในเดือนธันวาคม สถาบันมักซื้อสุทธิเฉลี่ยหุ้นไทยสูงสุดของปีถึง 1.31 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิถึง 9 ใน 10 ปี เลยทีเดียว

แล้วเมื่อเปลี่ยนแปลงเป็นกองทุน SSF เม็ดเงินจะยังสามารถไหลเข้าตลาดหุ้นดังกองทุน LTF หรือไม่ ?

ยิ่งไปดูความคิดเห็นจากทางโบรกฯ หลาย ๆ สำนัก เช่น บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า คาดว่าเม็ดเงินจากกองทุน SSF จะเข้าตลาดหุ้นน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงกองทุน LTF เนื่องจากกองทุน SSF ไม่ได้จำกัดว่าต้องลงทุนแต่เพียงในหุ้นเท่านั้น รวมทั้งไม่กำหนดขั้นต่ำในการซื้อและไม่ต้องซื้อกองทุนต่อเนื่อง อีกทั้งยังนำไปนับรวมกับวงเงินลดหย่อนกับกองทุนอื่น เช่น RML แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีภาษี นับว่าจำกัดวงเงินในการซื้อลงทุนด้วย

เหมือนกับ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า จากที่กองทุน SSF มาแทนกองทุน LTF เป็นลบต่อตลาดหุ้น เนื่องจากคาดว่าเม็ดเงินใหม่ที่จะเข้าตลาดหุ้นน้อยลง และมองว่ากองทุนมีแรงจูงใจน้อยลงเพราะใช้เวลาถือนานกว่าเดิม และ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า กองทุน SSF ออกมาแทนกองทุน LTF จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นน้อยลงจากเดิม เนื่องจากกองทุน SSF สามารถลงทุนสินทรัพย์ใดก็ได้ไม่เหมือนกองทุน LTF ที่ต้องลงทุนในหุ้นไม่น้อยว่า 65% และยังถือครองนานถึง 10 ปี นานมากกว่ากองทุน LTF เพียง 7 ปี

เอาเป็นว่าเงื่อนไขการออมระยะยาวในรูปแบบใหม่ของ SSF จะช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดหุ้นมากน้อยแค่ไหนในอนาคตข้างหน้า !!!!

Back to top button