เมื่อปัญญาประดิษฐ์เป็นเจ้าของสิทธิบัตร?

Cap & Corp Forum ปัญญาประดิษฐ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือใ …


Cap & Corp Forum

ปัญญาประดิษฐ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยวิจัยและพัฒนาเพื่อการสร้างนวัตกรรมมาเป็นระยะเวลานาน และด้วยความก้าวหน้าของอัลกอริทึมแบบระบบการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) ปัญญาประดิษฐ์จึงสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยและปัญญาประดิษฐ์ที่ร่วมวิจัยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ปัญญาประดิษฐ์หรือเครื่องจักรอาจเคยเป็นเพียงเครื่องมือของนักวิจัย ในปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นได้ทำให้เครื่องจักรเปลี่ยนเป็นนักวิจัยได้เองโดยที่ในกระบวนการวิจัยนั้นอาจไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงเลย

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ถูกเปลี่ยนสถานะจากเครื่องมือของมนุษย์ไปเป็นนักวิจัย (จักรกล) ในการพัฒนานวัตกรรมเสียเอง จึงเกิดประเด็นทางกฎหมายตามมาว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นจะมีสถานะเป็น “ผู้ประดิษฐ์” (Inventor) ในระบบกฎหมายสิทธิบัตรเช่นเดียวกับมนุษย์ได้หรือไม่ รวมถึงการมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ของปัญญาประดิษฐ์ที่จะเกิดมีขึ้นภายใต้ระบบกฎหมายสิทธิบัตรด้วย

ประเด็นท้าทายขอบเขตของระบบกฎหมายสิทธิบัตรต่อการยอมรับถึงสถานภาพของปัญญาประดิษฐ์ถูกนำขึ้นสู่กระบวนการจดทะเบียนสิทธิบัตรของสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (European Patent Office, EPO) และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหราชอาณาจักร (United Kingdom Intellectual Property Office, UKIPO) อันเกี่ยวเนื่องกับการประดิษฐ์จำนวน 2 รายการ โดยในการประดิษฐ์นี้ในแบบคำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นต่อ EPO และ UKIPO ได้ระบุว่า ผู้ประดิษฐ์ คือ เครื่องจักรที่ชื่อว่า “DABUS” โดยเจ้าตัว DABUS เองก็เป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรเช่นกัน โดยมันถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้เป็น Artificial Inventor โดยเฉพาะ (รายละเอียดเพิ่มเติม http://imagination-engines.com) โดยผู้ที่ทำการประดิษฐ์ DABUS ขึ้นมาคือ Stephen L. Thaler

DABUS มีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ในการคำนวณ สืบค้นฐานข้อมูลจำนวนมหาศาล และสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นตามที่ถูกออกแบบมา Stephen L. Thaler ต้องการให้ DABUS เป็นเครื่องจักรที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมเช่นเดียวกับมนุษย์และเขาเชื่อว่านี่คือการทำให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถในระดับเดียวกันกับมนุษย์มากขึ้น (Human-level AI, AGI) โดยการประดิษฐ์ของ DABUS ที่ถูกนำไปยื่นขอจดทะเบียนต่อ EPO และ UKIPO นั้น Thaler กล่าวอ้างว่าเป็นการค้นพบของ DABUS โดยที่ไม่มีมนุษย์เข้ามามีส่วนร่วม

UKIPO และ EPO มีคำสั่งปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 และ 27 มกราคม 2563 ตามลำดับ โดยให้เหตุผลไปในทิศทางเดียวกันประการหนึ่งว่า ผู้ประดิษฐ์ตามกฎหมายสิทธิบัตรนั้นต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์สามารถเป็นผู้ประดิษฐ์ได้ นอกจากนี้ EPO ยังให้ความเห็นไว้ด้วยว่าผู้ประดิษฐ์มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายหลายประการ รวมถึงการโอนสิทธิในการขอรับสิทธิบัตรนั้นไปให้แก่บุคคลอื่นด้วย ซึ่ง DABUS ไม่ใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจึงไม่สามารถโอนสิทธิดังกล่าวได้ และไม่มีช่องทางกฎหมายใดหรือมาตรการทางสัญญาใด ๆ ที่จะทำให้ Stephen L. Thaler เป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายหรือสัญญาในการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรต่อ EPO ได้ และ DABUS ไม่สามารถมีสิทธิใด ๆ ทางกฎหมายต่อผลลัพธ์ของการทดลองที่เกิดขึ้นมาได้

สิทธิบัตรเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยการที่รัฐให้สิทธิเด็ดขาดบางประการแก่ผู้ทรงสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรนั้นเป็นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการลงทุนได้ อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม โดยสิ่งที่รัฐได้รับตอบแทนจากการให้สิทธิผูกขาดทางเทคโนโลยีดังกล่าวคือการที่ผู้ทรงสิทธิบัตรต้องเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์นั้นต่อสาธารณะ (Disclosure) ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ดังกล่าวและสามารถต่อยอดการวิจัยได้ ซึ่งย่อมนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่อไป

ตามปกติกฎหมายหรือสัญญาจ้างแรงงานหรือการจ้างวิจัยจะระบุว่าใครบ้างเป็นผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร ถ้าเป็นการประดิษฐ์ของลูกจ้างหรือพนักงานในการงานที่จ้าง ลูกจ้างหรือพนักงานนั้นก็จะเป็น “ผู้ประดิษฐ์” แต่นายจ้างจะเป็นผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร เป็นต้น แต่ในระบบกฎหมายปัจจุบัน เครื่องจักร (ปัญญาประดิษฐ์) ไม่สามารถมีสถานะตามสัญญาจ้างได้ หากจะใช้หลักทั่วไปตามกฎหมายทรัพย์สิน โดยถือว่า การประดิษฐ์ของเครื่องจักรเป็น “ดอกผล” จากทรัพย์ เหมือนกับที่ดอกผลของต้นไม้ โดยปกติย่อมเป็นสิทธิของเจ้าของต้นไม้นั้น ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางนโยบายกฎหมายสิทธิบัตรได้ โดยเฉพาะในฐานะเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัยในการพัฒนานวัตกรรม

กล่าวโดยสรุป ปัญหาในเชิงนโยบายกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของ “การประดิษฐ์ที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์” อาจมีได้ดังนี้

1.กฎหมายไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้บุคคลในการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากผู้ที่พัฒนานวัตกรรมโดยตรงไม่ใช่นักวิจัยแต่เป็นปัญญาประดิษฐ์ และไม่มีเหตุผลทางจริยธรรมที่เพียงพอที่จะให้เจ้าของเครื่องจักรหรือผู้ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นผู้ประดิษฐ์ทั้ง ๆ ที่อาจไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการประดิษฐ์

กรณีของ DABUS ข้างต้นอาจมีข้อสังเกตเพิ่มเติมประการหนึ่ง คือ Stephen L. Thaler เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในตัว AI DABUS และเป็นผู้มาขอรับสิทธิบัตรในการประดิษฐ์ที่เกิดจาก DABUS แต่ในอีกหลาย ๆ กรณีที่อาจจะเกิดขึ้นคือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ได้จำหน่ายปัญญาประดิษฐ์ของตนเองให้แก่บุคคลอื่นไปแล้วและหากปัญญาประดิษฐ์นั้นไปสร้างนวัตกรรมขึ้น การประดิษฐ์ที่ปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวสร้างขึ้นควรจะตกเป็นของใคร

2.สร้างความไม่แน่นอนในระบบกฎหมายเนื่องจากในระบบสิทธิบัตรของแต่ละประเทศอาจจะตีความแตกต่างกัน และอาจส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสิทธิบัตรอีกด้วย

3.หากไม่มีผู้ประดิษฐ์ย่อมส่งผลให้การประดิษฐ์นั้นตกเป็นสมบัติสาธารณะ (Public Domain) หรือไม่ เนื่องจากไม่มีกรอบนโนบายทางกฎหมายในการโอนสิทธิในการประดิษฐ์จากเครื่องจักรมาเป็นของบุคคลได้ ดังนั้น อาจส่งผลให้การประดิษฐ์ที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์ถูกเก็บเป็นความลับมากขึ้นแทนที่จะมีการเปิดเผยการประดิษฐ์ตามกรอบนโยบายของกฎหมายสิทธิบัตร

นอกจากนี้ระบบกฎหมายอาจะต้องแบ่งแยกระหว่าง AI-generated invention และ AI-assisted invention อีกด้วย ว่าจะจัดสรรสิทธิและหน้าที่อย่างไร เพราะในความเป็นจริงก็อาจมีการประดิษฐ์ที่มนุษย์เข้ามามีส่วนร่วมได้มากน้อยต่างกันออกไป ซึ่งในขณะนี้ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ (USPTO) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบในประเด็นของทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์อยู่

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship

American University Washington College of Law

Back to top button