ECL กัดกร่อนกำไรแบงก์.!

ไม่เหนือความคาดหมาย..!! หลัง 5 แบงก์ใหญ่ประกาศงบไตรมาส 3/2563 ออกมา กำไรทรุดกันถ้วนหน้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน...


สำนักข่าวรัชดา

ไม่เหนือความคาดหมาย..!! หลัง 5 แบงก์ใหญ่ประกาศงบไตรมาส 3/2563 ออกมา กำไรทรุดกันถ้วนหน้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน…

แต่กำไรที่ลดลงของแบงก์รอบนี้ เกิดจากการตั้งการ์ดสูง จากการตั้งสำรองที่สูงปรี๊ดดดนั่นเอง…

สาเหตุที่แบงก์ต้องยกการ์ดสูง ก็เพื่อรับมือหลังหมดโปรพักชำระหนี้ที่อาจมีความเสียหาย มีหนี้เสีย หรือ NPL เกิดขึ้น เลยมีการตั้งสำรองไว้สูง

มุมหนึ่งก็เป็นการส่งสัญญาณว่า หลังหมดโปรพักหนี้ 22 ต.ค.นี้ น่าจะมีลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ในบ้านเราจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ดี แต่ถ้าไปดูในแง่ของกำลังซื้อภายในประเทศถือว่ายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร (แม้ภาครัฐจะพยายามงัดสารพัดมาตรการออกมากระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยแล้วก็ตาม)

เมื่อกำลังซื้อไม่มา นั่นหมายถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้ของบริษัทต่าง ๆ ก็จะลดน้อยตามไปด้วย สุดท้ายก็จะไปกระทบต่อรายได้และกำไรของแบงก์ในฐานะเจ้าหนี้…แต่ละแบงก์จึงตั้งกำแพงสูงลิบลิ่วป้องกันไว้ก่อน

เริ่มจากแบงก์ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ที่ไตรมาสนี้ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ECL เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 4,972 ล้านบาท มาไตรมาสนี้เพิ่มเป็น 6,863 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิเหลือแค่ 1,619 ล้านบาท ลดลง 23.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยงวด 9 เดือน ตั้งการ์ดไปแล้ว 16,595 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,877 ล้านบาท

ด้านแบงก์ม่วง ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ตั้งการ์ดสูงถึง 12,955 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาส 3 เหลือแค่ 4,641 ล้านบาท ลดลง 68.6% เมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการบุ๊กกำไรพิเศษจากการขายไทยพาณิชย์ประกันชีวิต แต่หากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรก็ยังลดลง 56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ 9 เดือนแรก แบงก์ม่วงตั้งสำรองไปแล้ว 32,415 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 22,252 ล้านบาท

ฟากแบงก์ดอกบัว ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL แม้ไตรมาสนี้ตั้ง ECL ลดลงจากไตรมาสก่อน แต่ยังตั้งในระดับสูงอยู่ที่ 5,668 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิเหลือแค่ 4,017 ล้านบาท ลดลง 57.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยงวด 9 เดือน BBL ตั้งสำรองไปแล้ว 23,993 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 14,783 ล้านบาท

ส่วนแบงก์เขียว ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK แบงก์นี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้ารายย่อยค่อนข้างเยอะ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงจะเกิดหนี้เสียมากสุด…

แม้ไตรมาสนี้ตั้ง ECL ลดลงจากไตรมาสก่อนที่เคยตั้ง 20,192 ล้านบาท แต่ก็ยังตั้งระดับหมื่นล้าน อยู่ที่ 10,815 ล้านบาท จึงเห็นกำไรแบงก์เขียวหายวับทันที 32.8% เหลือแค่ 6,679 ล้านบาท

ส่วนงวด 9 เดือน KBANK ตั้งการ์ดไปแล้ว 42,879 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 16,229 ล้านบาท

ปิดท้ายด้วยแบงก์ฟ้า ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ก็ยกการ์ดสูงเหมือนกัน โดยไตรมาสนี้ยังตั้ง ECL ในระดับสูงอยู่ที่ 12,414 ล้านบาท ทำให้ไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิเหลือแค่ 3,057 ล้านบาท ลดลง 51.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ 9 เดือน แบงก์ฟ้าตั้งสำรองไปแล้ว 35,649 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 13,279 ล้านบาท

โอ้ว…เรียกว่าแต่ละแบงก์ยกการ์ดสูงกันทั้งน้านนน…

แบงก์จึงตกอยู่ในสภาพกำไรต่ำ…สำรองสูง โดยมี ECL เป็นตัวการสำคัญที่กดกำไรแบงก์…

แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อย ๆ นักลงทุนก็สบายใจว่า แบงก์แข็งแกร่งพอจะรับมือกับหนี้เสียที่ทะลักออกมาหลังหมดโปรพักหนี้ได้อยู่หมัด

ไม่ใช่โชว์ตัวเลขกำไรสวยหรู…แต่ภูมิต้านทานต๊ำต่ำ…

อย่างนั้นก็ไม่ต่างจาก สวยแต่รูปจูบไม่หอม น่ะสิ…

…อิ อิ อิ…

Back to top button