พาราสาวะถี

หลายคนสงสัยแถลงการณ์ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เรื่องยกระดับการรับมือม็อบ บังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราหมายถึงอะไร หมายความว่า ที่ผ่านมาซึ่งก็มีการดำเนินคดีกับแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมไปจำนวนมากนั้น ไม่ได้มีการใช้กฎหมายทุกมาตรา ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้นอย่างนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นจะถือว่าการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคงเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือกฎหมายที่ว่าหมายถึงมาตรา 112


อรชุน

หลายคนสงสัยแถลงการณ์ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เรื่องยกระดับการรับมือม็อบ บังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราหมายถึงอะไร หมายความว่า ที่ผ่านมาซึ่งก็มีการดำเนินคดีกับแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมไปจำนวนมากนั้น ไม่ได้มีการใช้กฎหมายทุกมาตรา ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้นอย่างนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นจะถือว่าการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคงเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือกฎหมายที่ว่าหมายถึงมาตรา 112

แน่นอนว่า ที่ได้เห็นกันล่าสุดคือมีนักแต่งเพลงรายหนึ่งได้ไปแจ้งความกับปอท.เพื่อให้เอาผิดกับแกนนำราษฎรในการกระทำความผิดมาตราดังกล่าว คำถามก็คือ เรื่องดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น โดยที่อรชุนได้กระตุกมาโดยตลอดว่า หากมองเห็นสิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมว่าเป็นการกระทำความผิดในมาตราดังกล่าว ก็ให้ไปดำเนินการทางกฎหมาย ไม่ใช่การกล่าวหาเพื่อดิสเครดิตหรือลดทอนความน่าเชื่อถือในการเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น

แถลงการณ์ของท่านผู้นำที่ออกมา เป็นเพราะว่าม็อบนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ใช่หรือไม่ หากเป็นประเด็นนี้ก็ถือว่าฝ่ายกุมอำนาจควรต้องพิจารณาตัวเอง เพราะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์จนตัวเองมองว่ากลุ่มเคลื่อนไหวกระทำผิดในสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ได้อย่างไร แล้วเช่นนี้หากมีการใช้มาตรา 112 เพื่อเล่นงานกลุ่มผู้ชุมนุม ปุจฉาตัวโตคือ ฝ่ายรัฐบาลกำลังลากให้คู่ขัดแย้งของตัวเองไปเป็นคู่กรณีของสถาบันอย่างนั้นหรือ

ความจริงสิ่งที่เกิดขึ้นหากรัฐบาล หรือแม้กระทั่งรัฐสภาได้เผชิญหน้ากับปัญหาอย่างมีความจริงใจก่อนหน้านี้ ทุกอย่างอาจจะไม่เดินทางมาถึงวันนี้ ซีกของฝ่ายบริหารนั้นเห็นได้ชัดว่ามีรูรั่วของปัญหาที่สุดท้ายทำให้เรื่องบานปลายไปถึงสถาบัน โดยกระทรวงดีอีเอสที่รับผิดชอบเรื่องโซเชียลมีเดียโดยตรงนั้นถือว่ามีการบริหารจัดการที่ล้มเหลว ปล่อยปละละเลยการตรวจสอบข่าวสาร ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเพราะด้อยประสิทธิภาพ หรือจงใจกันแน่

ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ ที่รัฐมนตรีว่าการซึ่งเป็นอดีตแกนนำม็อบชัตดาวน์ประเทศนั้น ก็แสดงออกให้เห็นว่าเป็นตัวปัญหาอีกรายหนึ่ง หลังลงมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับจนเป็นเหตุให้นักเรียนเลวนัดก่อม็อบเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และมีการประจานสารพัดปัญหาที่ฝ่ายกุมอำนาจก็ยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ โดยเฉพาะเรื่องระบบการศึกษาที่เด็กรุ่นใหม่มองว่าเป็นการวางแผนที่ดับอนาคตของคนเหล่านั้น

นอกจากนี้ การที่กลุ่มเด็กมัธยมออกมาเคลื่อนไหว ก็กลายเป็นเรื่องน้ำท่วมปากสำหรับท่านรัฐมนตรี เพราะอดีตของตัวเองก็เคยสร้างภาพการเมืองในลักษณะที่รุนแรง ยึดส่วนราชการ ชัตดาวน์ประเทศมาแล้ว จึงเป็นเหมือนแม่ปูสอนลูกปู เหมือนกรณีภาพคณะราษฎรไปสาดสีใส่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เหตุการณ์นี้เหมือนเดจาวู เพราะในยุคของม็อบชัตดาวน์ประเทศที่รัฐมนตรีศึกษาเป็นแกนนำนั้น ก็เคยไปกระทำย่ำยีต่อสถานที่แห่งนี้มาแล้ว

ส่วนฝ่ายนิติบัญญัตินั้น ถามว่าต้องรับผิดชอบในแง่ใด ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พลาดมาหนหนึ่งแล้วเมื่อคราว 24 กันยายนที่ผ่านมา กับการตั้งคณะกรรมาธิการยื้อแก้รัฐธรรมนูญแทนที่จะพิจารณารับหรือไม่รับหลักการ ขณะที่เมื่อมีการพิจารณาร่างแก้ไขทั้ง 7 ฉบับล่าสุด หลังการลงมติรับ 2 ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านไปแล้ว สถานการณ์อาจผ่อนคลายลงมาในระดับหนึ่ง แต่การปัดให้สถานการณ์พ้นตัวด้วยการปัดตกร่างแก้ไขของไอลอว์นั้นมันนำมาซึ่งปัญหาที่อาจจะบานปลาย

ไม่ว่าจะอ้างเรื่องของเหตุผลใดก็ตาม สุดท้ายมันก็หนีความรับผิดชอบไม่พ้น ยิ่งการพูดเรื่องปกป้องสถาบัน หากมีการรับร่างดังกล่าวแล้วนำมาพิจารณาตามกระบวนการน่าจะเป็นผลดีมากกว่า ปล่อยให้ขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภาได้ขับเคลื่อนกันอย่างที่เป็นอยู่ และชัดเจนว่าจะหนักหน่วง รุนแรงขึ้นด้วย ขณะที่การประกาศกร้าวของท่านผู้นำฟันธงได้เลยว่าไม่อาจหยุดการชุมนุมได้ มาถึงนาทีนี้ไม่มีใครกลัวเกรงกฎหมายอีกต่อไปแล้ว คนเหล่านั้นจะยังคงเดินหน้าชุมนุมต่อไปจนกว่าจะถึงจุดแตกหัก

อย่างไรก็ตาม ท่วงทำนองที่แข็งกร้าวของฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมนั้น เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกับต้องออกมากระตุกเตือนกันด้วยความห่วงใยด้วยการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองว่า การเมืองคือการหาพวกหาเพื่อน ไม่ใช่การระบายความโกรธแค้นหรือเอาคืนโดยไม่เลือกวิธีการเป้าทางการเมืองต้องชัดเจนและเป็นตัวนำกำกับการต่อสู้ แน่นอนการระบายความโกรธแค้นหรือเอาคืนเป็นเรื่องเข้าใจได้และก็คงมีในฐานะมนุษย์ปุถุชน

แต่ถ้ากำลังต่อสู้ทางการเมือง ก็ควรระมัดระวังไม่ให้มันไปทำลายแนวร่วม โดดเดี่ยวตัวเอง บ่อนเบียนความชอบธรรมของวิธีการต่อสู้ของคนนับหมื่นนับแสนคนที่ร่วมกันช่วยกันยึดมั่นมา ทุนที่คนไม่มีอาวุธ ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีอำนาจทุนมี ก็คือความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งฝ่ายอำนาจรัฐไม่มีเพราะได้อำนาจมาและรักษาอำนาจไว้โดยไม่ชอบธรรม อย่าทำลายจุดแข็งของตัวเองให้ลงไปอ่อนแอเท่าคู่ต่อสู้ อย่าทำลายทุนทางการเมืองที่มีในขณะที่ยังขาดแคลนทุนด้านอื่น ๆ

ถือเป็นคำเตือนที่ฝ่ายผู้ชุมนุมต้องนำกลับไปคิดกันให้รอบคอบ แม้กระทั่งการนัดหมายชุมนุมในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ที่มีหลายคนเป็นห่วงแนะนำให้เปลี่ยนสถานที่ แต่ดูจากจังหวะก้าวแล้วคงไม่มีการถอย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าสนใจว่าก่อนจะถึงวันนั้น สถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป และดูเหมือนว่าจะมีการขยับเช็กความพร้อมกันก่อนถึงวันนัดหมาย จะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์อะไรหรือไม่ไม่มีใครคาดเดาได้ ส่วนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจการออกแถลงการณ์ล่าสุดก็เป็นวิถีของคนหวงและเสพติดอำนาจ คงต้องติดตามกันด้วยใจระทึกว่าสองสามวันนี้เหตุการณ์จะดำเนินการกันไปอย่างไร

Back to top button