แบรนด์ราษฎร

#แบนโออนุชิต พุ่งขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตภพ หลังโพสต์หนุนให้ใช้ ม.112 เพียงชาวเน็ตยังขำ ๆ ไม่รู้จะแบนยังไง เพราะช่วงนี้ไม่มีงานแสดง ไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

#แบนโออนุชิต พุ่งขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตภพ หลังโพสต์หนุนให้ใช้ ม.112 เพียงชาวเน็ตยังขำ ๆ ไม่รู้จะแบนยังไง เพราะช่วงนี้ไม่มีงานแสดง ไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า

ไม่เหมือนแบนสปอนเซอร์ทีวี ทำเงินหายเดือนละหลายล้าน แล้วไปซ้ำเติมความขัดแย้งภายใน ผู้ถือหุ้นใหญ่อึดอัดว่าเนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่ง เพื่อนยังเอากระดูกมาแขวนคอ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

โดยปกติ เวลามีการเคลื่อนไหวไล่รัฐบาล มีความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองฝ่าย ธุรกิจบริการ ดาราคนดังทั้งหลาย มักไม่กล้าแสดงออกว่าเข้าข้างฝ่ายไหน เพราะนอกจากกลัวผู้มีอำนาจไม่พอใจ ยังกลัวเสียลูกค้าแฟนคลับที่มีทั้งสองฝ่าย

ยกเว้นสมัยม็อบนกหวีดปิดเมือง ซึ่งมีอำนาจหนุนหลัง รัฐบาลง่อนแง่น แถมเป็น “ม็อบคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี” เอเยนซี่โฆษณาส่วนใหญ่ก็เป็น “สลิ่ม” ดาราคนดังโผล่ไปร่วมคับคั่ง

แต่ครั้งนี้ เกิดปรากฏการณ์สวนทาง ดารานักร้องรุ่นใหม่ ไปจนถึงนางงาม ประกาศตัวอย่างเปิดเผย บางรายอย่าง “แอมมี่” กลายเป็นแกนนำ “วันทูทรีโฟร์ไฟว์I Here Too” ฮิตสนั่นในม็อบ “ทราย” เป็นศูนย์รวมท่อน้ำเลี้ยง “โฟกัส จีระกุล” กลับมาเป็นขวัญใจ ทั้งที่มีอาชีพขายของออนไลน์

“ปฏิรูปผิวใหม่ เพื่ออนาคตผิวใส” เธอกล้าขึ้นป้ายอลังการ สะท้อนว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่กระทบยอดขาย อาจตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

จะว่าโฟกัสโหนกระแสก็ไม่ใช่ เพราะแต่ละถ้อยคำที่โพสต์ แสดงความเข้าใจและความกล้าอย่างน่าทึ่ง เช่น ยกเลิก 112 สิเดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

ดารานักร้องทุกคนที่แสดงจุดยืนก็เช่นกัน อย่าลืมว่านี่คือม็อบเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ไม่แน่จริงไม่กล้าหนุนหรอก

ที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น BNK เพราะ FC เป็นคนรุ่นใหม่ แม้แอมมี่ถูกยกเลิกงาน ถอนตัวจากคอนเสิร์ตเขาใหญ่ ก็น่าจะเพราะผู้จัดเกรงใจอำนาจรัฐ ไม่ใช่คนแห่คืนตั๋วอย่างที่สื่อบางสำนักอ้าง แฟนคอนเสิร์ตก็คนรุ่นใหม่ทั้งนั้น

ความขัดแย้งครั้งนี้แบ่งโลกแบ่งวัยชัดเจน คนไปม็อบหนุนม็อบส่วนใหญ่คือ Gen Y Gen Z อายุ 14-15 ถึง 30 กว่า ที่เป็นกำลังซื้อ ขณะที่พวกมินเนี่ยนสูงวัยไม่ค่อยใช้จ่าย หรือใช้คนละตลาดกัน สมมติเช่นภัตตาคารจีนคงไม่กล้าประกาศหนุนม็อบ

พลังคนรุ่นใหม่ที่แสดงออกผ่านกำลังซื้อนั้นน่าทึ่ง เช่น “ด้อมเกาหลี” ระดมเงินบริจาคให้ม็อบกว่า 4 ล้านบาท เลิกโฆษณารถไฟฟ้า เอาป้ายมาติดสามล้อ

เงินบริจาคให้ม็อบให้แกนนำ ก็มหาศาลเช่นกัน ส่วนใหญ่มาจากออนไลน์รายละไม่กี่สิบกี่ร้อยบาท หรือช่วงหนึ่งก็บริจาคเป็นสัญลักษณ์ 24.75 บาท แต่รวมกันน่าจะหลักสิบล้าน

สื่อคับแคบเอาภาพแกนนำกินบุฟเฟต์หัวละ 2 พันไปกระพือ ราวกับหลอกเงินชาวบ้าน แหม่ เป็นแกนนำแล้วโดน 112,116 โทษจำคุกรวมกันร้อย ๆ ปี ถ้าอยากตีตั๋วไปเที่ยวเชียงใหม่ภูเก็ต ล่องเรือสำราญ ก่อนขึ้นศาลเสี่ยงคุกตะราง คนบริจาคก็ยินดี

นี่ไม่ใช่ม็อบคนจนหรือม็อบพอเพียง เป็นม็อบคนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่ ที่มีกำลังซื้อ มีไลฟ์สไตล์ แม้แบนธุรกิจยักษ์ใหญ่ไม่ได้ แต่ธุรกิจออนไลน์ โฆษณาออนไลน์ ถ้าไปทะเล่อทะล่าสวนม็อบ ก็เจ็บตัวได้ง่าย ๆ

ซึ่งไม่ใช่บุลลี่ความเห็นต่าง เพราะเห็นต่างพูดได้ แต่อย่าสนับสนุนให้ใช้อำนาจรุนแรง ใช้กฎหมายอย่างอยุติธรรม หรือเหยียดคนไม่เท่ากันอย่างอดีตดาราคอมเมนต์ “พิการซ้ำซ้อน” ต่อให้ไม่ใช่เรื่องการเมือง ก็โดนทัวร์ลง

ตรงกันข้าม ธุรกิจที่ไม่ต้องอิงหรือเกรงอำนาจรัฐ มุ่งตลาดคนรุ่นใหม่ หากประกาศจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพเท่าเทียม “แบรนด์ราษฎร” ก็เป็นโอกาสแจ้งเกิดด้วยซ้ำ

เหลือแต่ผู้มีอำนาจ ที่ยังไม่รู้ว่าพลังคนรุ่นใหม่เข้มแข็งกว้างขวางเพียงไร

Back to top button