พาราสาวะถี

มีประเด็นให้ต้องถกเถียงกันต่อไปอีกหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาที่วินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง


อรชุน

มีประเด็นให้ต้องถกเถียงกันต่อไปอีกหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาที่วินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เป็นการตีความไว้สองขยัก คือถ้ารัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไปทำประชามติก่อน ถ้าประชามติผ่านโดยประชาชนเห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็ต้องดำเนินการซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะไม่ช้า เพราะมีร่างกันไว้แล้ว สามารถหยิบยกขึ้นมาเสนอและพิจารณากันใหม่ได้ จากนั้นก็นำกลับไปให้ประชาชนลงมติอีกรอบว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขหรือไม่ โจทย์ก็จะย้อนกลับมาที่รัฐบาลพร้อมที่จะจัดให้มีการทำประชามติดังกล่าวหรือไม่ และต้องใช้เวลานานเท่าใด

แต่ด้วยกระบวนการที่กำลังจะดำเนินการกันอยู่ในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 17 มีนาคมนี้คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอ อยู่ที่ว่าที่ประชุมรัฐสภาจะดำเนินการกันได้อย่างรวดเร็ว มีปัญหาอะไรทำให้สะดุดหรือไม่ มาถึงขั้นนี้แล้วคงไม่มีเหตุอะไรที่ทำให้ต้องชักช้า และน่าจะเป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการพิจารณากันมาเสร็จแล้วคือ ในระหว่างการทำประชามตินั้น ทุกฝ่ายสามารถรณรงค์เคลื่อนไหว นำเสนอความเห็นต่อเรื่องที่จะพิจารณาได้อย่างอิสระ เสรี

คงสมใจฝ่ายที่ไปยื่นร้อง อย่างน้อยก็ได้ประวิงเวลายื้อกันออกไป และในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ ก็มีเหตุให้รัฐบาลจะต้องหาช่องมาอ้างว่า งบประมาณมีจำกัด ต้องจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นในการใช้ก่อน นั่นย่อมจะนำมาซึ่งการถกเถียงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ช่วยทำให้พรรคประชาธิปัตย์คลายแรงกดดันไปได้มากโข

เพราะนั่นเท่ากับว่า ไม่ต้องถูกบีบบังคับให้ตัดสินใจ หากศาลวินิจฉัยว่ารัฐสภาแก้ไขไม่ได้ หรือถ้าบอกว่าแก้ไขได้ แล้วจะต้องไปสู่กระบวนการลงมติในวาระสามแล้วส.ว.ลากตั้งพากันคว่ำร่าง เมื่อหวยออกทางนี้ก็มีเวลาหายใจหายคอ แต่อีกด้านก็จะเป็นจุดที่ทำให้คนของพรรคเก่าแก่จะต้องแสดงจุดยืนว่า จะเร่งผลักดันให้เกิดการทำประชามติ หรือแสดงท่าทีว่าเห็นด้วยต่อการให้ทำประชามติเพื่อนำไปสู่ความเห็นว่าประชาชนคิดอย่างไรต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อีกด้านถือเป็นงานถนัดของฝ่ายชอบปฏิบัติการไอโอ เพราะนี่จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะได้แสดงฝีมือเพื่อโน้มน้าว ชักจูงให้ประชาชนไม่เห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าคิดว่ายุคนี้ไม่เหมือนเผด็จการคสช.ที่จะมาปิดปาก ห้ามฝ่ายตรงข้ามรณรงค์หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ขึ้นชื่อว่าเผด็จการไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด โดยเฉพาะเผด็จการสืบทอดอำนาจ วิชาสามานย์นั้นพกกันมาเต็มกระเป๋าอยู่แล้ว ไม่เชื่อก็คอยดูประเภทอย่างหนาเสียอย่าง ทำอะไรก็ได้อยู่แล้ว

ทำนายไว้ล่วงหน้าเลยว่า คำตอบที่จะได้รับจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เนติบริกรข้างกาย รวมทั้งลิ่วล้อในพรรคสืบทอดอำนาจ ก็จะออกไปในโทนทางเดียวกันคือ ต้องพิจารณาความเหมาะสม สถานการณ์ของบ้านเมืองและความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ แต่อีกด้านเมื่อเป็นไปในแนวนี้ ก็จะเป็นเหตุให้กลุ่มก้อนของการเคลื่อนไหวสามารถชูประเด็นที่จะขยายผลสร้างแนวร่วม เพื่อให้แสดงพลังเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน

ผลที่ออกมาจะเรียกว่าบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นก็ว่าได้ หรือประสายุคสมัยใหม่คือวิน-วินทุกฝ่าย เพราะการยื่นคำร้องครั้งนี้ มีข้อกังขากันหลายประการ สิ่งสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถที่จะมีความเห็นไปในทำนองว่าทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าจะสามารถแก้ไขในรูปแบบใดเท่านั้น เมื่อบอกว่าต้องทำประชามติก่อนแก้ก็จะได้เป็นบรรทัดฐานที่ชัดเจน

ส่วนใครที่จะคิดมากไปต่อยอดกันต่อว่า ถ้าประชาชนลงมติให้แก้แล้ว ระหว่างแก้จะมีปัญหาข้อกังขาหรือเรื่องร้องเรียนอะไรทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้อีกหรือไม่ ไม่มีใครเดาใจพวกคนหัวหมอทั้งหลายได้ แต่หากถึงขนาดที่ผ่านประชามติแล้วยังแก้ไขไม่ได้ จุดนั้นก็คิดว่าประเทศไทยไม่น่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ปกติแล้ว และมันก็จะเป็นบทพิสูจน์ด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สถาปนาเพื่อไม่ให้แก้ไขได้ต้องฉีกทิ้งโดยคณะรัฐประหารเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นนั้น

เพื่อนร่วมรัฐบาลสบายใจแล้ว คงเป็นจังหวะที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะได้เดินหน้าลุยปรับครม.เพื่อรักษาทรงทางการเมืองเสียที ที่รีรอชักช้ากันอยู่คือพรรคเก่าแก่ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่า ก็หาเหตุในการรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน ดังนั้น วันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อเคาะในเรื่องดังกล่าวจึงน่าจะได้ข้อยุติ เพราะท่านผู้นำได้ขีดเส้นใต้ไว้แล้วว่าทุกอย่างจะต้องจบภายในสัปดาห์นี้

เรื่องการขอสลับเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยระหว่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยนั้น เดิมทีคาดว่าจะโยกกันระหว่างกระทรวงคมนาคมกับเกษตรและสหกรณ์ แต่ทางภูมิใจไทยยังพอใจต่อคนของตัวเองที่ไปทำหน้าที่ในกระทรวงเกษตรฯ จึงขอขยับไปที่กระทรวงพาณิชย์แทน โดยให้ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์มาช่วยว่าการคมนาคม แล้วให้คนของประชาธิปัตย์ไปช่วยว่าการหัวหน้าพรรคแทน ซึ่งถือเป็นสูตรที่ลงตัว แม้เด็กจากค่ายภูมิใจไทยจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแป้งมันแต่ไม่สามารถสร้างผลงานใด ๆ ได้เลย

มิหนำซ้ำ ยังถูกจัดเป็น พวกรัฐมนตรีที่โลกลืม” อีกต่างหาก ซึ่งก็ไม่ต่างกับ ถาวร เสนเนียม ที่มาเป็นรัฐมนตรีช่วยคมนาคม เพราะงานสำคัญถูกจัดไปอยู่ในการดูแลของเจ้ากระทรวงทั้งหมด การเดินเกมสูตรนี้จะเป็นการนำคนของตัวเองไปเติมเต็มเพื่อเดินหน้าสร้างผลงาน เรียกคะแนนนิยมหวังผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าเต็มที่ เวลานี้ภูมิใจไทยก็ไปลุยเรื่องถนนหนทางในภาคอีสานกันเต็มสูบชนิดว่าได้ทั้งกล่องและของแถม ไม่ต่างจากพรรคเก่าแก้ที่ชูเรื่องแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ภาคใต้หวังใช้โกยคะแนนครั้งหน้า

Back to top button