ต่ำแล้ว แต่ยังมีต่ำกว่าพลวัต2015

คณะกรรมการเฟดฯ มีทั้งหมด 17 คนสามารถออกเสียงลงมติทุกครั้งได้ไม่เกิน 10 คนและคน 9 ใน 10 ที่มีสิทธิออกเสียงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เงื้อง่ามานานหลายเดือนคงไม่ใช่ถูกใบสั่งเหมือนคนในชาติกำลังพัฒนาบางแห่งเป็นแน่แต่มีเหตุผลที่อธิบายตรงๆ ไม่ได้


คณะกรรมการเฟดฯ มีทั้งหมด 17 คนสามารถออกเสียงลงมติทุกครั้งได้ไม่เกิน 10 คนและคน 9 ใน 10 ที่มีสิทธิออกเสียงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เงื้อง่ามานานหลายเดือนคงไม่ใช่ถูกใบสั่งเหมือนคนในชาติกำลังพัฒนาบางแห่งเป็นแน่แต่มีเหตุผลที่อธิบายตรงๆ ไม่ได้

หลังจากข่มสติได้ในระดับหนึ่งแล้ว ตลาดหุ้นตลาดพันธบัตรทั่วโลกออกมาขานรับว่า การตัดสินใจด้วยคะแนน 9 ต่อ 1 ไม่ขึ้นดอกเบี้ยนั้นถูกต้องแล้ว สิ่งที่เฟดฯ เห็นก่อนใครสุดได้ทำให้ทุกคนเห็นเช่นกัน

สิ่งที่เฟดฯ เห็นคือการร่วงผล็อยของราคาสินโภคภัณฑ์ที่จะเป็นปัจจัยถ่วงรุนแรงในอนาคตพาเศรษฐกิจโลกกลับสู่ภาวะเงินฝืดระลอกใหม่ได้ง่ายมาก เริ่มจากเงินฝืดในชาติกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ลามไปสู่ชาติต่างๆ ลงท้ายที่สหรัฐฯ เอง

ปัญหาอนาคตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่เงินฝืดและเศรษฐกิจขาลง ไม่ใช่เงินเฟ้อและเศรษฐกิจขาขึ้นดังที่ทฤษฎีการเงินเก่าคร่ำครึพยายามอธิบาย เพราะเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งเอาไว้ยากจะบรรลุได้ แม้ในชาติที่เศรษฐกิจฟื้นตัวตลาดแรงงานเข้าสู่ระดับจ้างงานเต็มที่แล้วอย่างสหรัฐฯ แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ล้นเกินความต้องการของตลาด บ่งบอกถึงกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่ไม่เต็มที่ทำให้ยากที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะขึ้นค่าจ้างให้พนักงานได้

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (ยกเว้นราคาทองคำที่ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามตลาดผันผวนรุนแรง) นับแต่ราคาน้ำมันที่ร่วงอย่างหนักสู่ระดับเมื่อ 10 ปีก่อน ตามมาด้วยแร่โลหะและสินค้าเกษตรที่ร่วงผล็อยในอัตราใกล้เคียงกัน สะท้อนประเด็นสำคัญคือ 1) ด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้นเกินความต้องการ 2) อุปสงค์ที่หดตัวลงโดยเฉพาะจากจีนที่เกิดจากเศรษฐกิจหดตัวลงจากระดับสูงสู่ปานกลาง และสต๊อกสินค้าวัตถุดิบมากเกินขีดจำกัดจะเพิ่มความสามารถในการรองรับ

ในกระแสโลกาภิวัตน์ ห่วงโซ่เศรษฐกิจที่โยงใยลึกซึ้งระหว่างกัน ทำให้ปรากฏการณ์จากชาติหนึ่งส่งผลสะเทือนไปสู่ชาติอื่นแพร่กระจายในลักษณะ “ฝนตกทางโน้นหนาวถึงคนทางนี้” ได้ง่ายกว่าในอดีตหลายเท่า

ตัวอย่างล่าสุดเมื่อวันพุธ แผ่นดินไหวและสึนามิที่ชิลีทำให้ราคาทองแดงพุ่งพรวดในตลาดเพราะชิลีเป็นชาติส่งออกทองแดงใหญ่อันดับหนึ่งของโลก แต่เมื่อมีการแถลงว่าเหมืองทองแดงในชิลีปลอดภัยทุกแห่งไม่มีลดการผลิตลง ราคาทองแดงก็ถูกถล่มขายทิ้งออกมาเมื่อวันศุกร์

คำอธิบายพ่วงท้ายของเฟดฯที่ว่า “ความผันผวนในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะทำให้มีแรงกดดันในช่วงขาลงต่อเงินเฟ้อในระยะใกล้” จึงมีผลสะเทือนที่ตลาดจะตีความทางลบด้วยการขายหุ้นพลังงานสินค้าโภคภัณฑ์และบริษัทข้ามชาติทั้งหลายทิ้งไป เพราะเชื่อว่าผลประกอบการของหุ้นดังกล่าวจะลดลงและราคาหุ้น (รวมทั้งตราสารหนี้ของบริษัทที่ออกมาในท้องตลาด) จะถูกปรับลดเกรดตามไปด้วย

คำกล่าวไม่นานมานี้ที่ว่านางเจเน็ต เยลเลนและพวกในคณะกรรมการเฟดฯ กำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ว่า สร้างข่าวดีให้เป็นข่าวร้าย และข่าวร้ายกลายเป็นข่าวดี พ้นสมัยไปอย่างรวดเร็วเพราะจากนี้ไป ไม่ว่าข่าวจะดีหรือร้ายตลาดตีความทางลบหมด

เหตุผลก็เพราะสถานการณ์จริงของเศรษฐกิจโลกกำลังมีแนวโน้มเข้าสู่ห้วงเวลาถดถอยครั้งใหม่จากการที่สมดุลเสียหายจากอุปทานล้นเกินอุปสงค์ สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์เกือบทุกชนิด       

ราคาน้ำมันคือตัวอย่างชัดเจน ทุกชาติที่เป็นผู้ผลิตรู้ดีว่าอุปทานของการผลิตน้ำมันยามนี้เพิ่มสู่ระดับสูงสุดครั้งใหญ่ จนล้นเกินอุปสงค์วันละ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (แม้จะมีข่าวเกินจริงเรื่องจีนสร้างคลังเก็บน้ำมันมหึมาเพื่อรับมืออนาคต) แต่ก็ไม่มีใครคิดจะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ยกเว้นสหรัฐฯ บางครั้ง เพราะห่วงว่าจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเสียหาย

เวเนซุเอลาที่กำลังมีเศรษฐกิจเข้าขั้นล้มละลาย พยายามหาทางให้โอเปกเปิดการเจรจากับชาติต่างๆ ลดกำลังการผลิตเป็นข่าวฉุดราคาขึ้นจากเหวได้ไม่เกินสัปดาห์ก็ไปไม่รอดเพราะชาติตะวันออกกลางโดยเฉพาะคูเวตและซาอุดีอาระเบียไม่เล่นด้วย อ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ว่า ตลาดน้ำมันจะสามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลได้เอง แต่อาจจะต้องใช้เวลา

การแข่งขันเร่งผลิตน้ำมันให้ล้นโลกคือปฏิบัติการ”เห็นโลงศพก็ไม่หลั่งน้ำตา”ที่ผิดหลักการและความสมเหตุสมผลของทุนนิยมโลก ทำให้นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ มองโลกทางร้ายว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะไม่ขึ้นเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเวลา 5 ปีข้างหน้าและอาจจะร่วงลงไปที่ระดับ 20 ดอลลาร์ได้หากสถานการณ์ไม่กระเตื้องขึ้น

แรงเหวี่ยงขาลงของราคาน้ำมันดังกล่าวคือแรงฉุดให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นร่วงลงเป็นลูกโซ่ไปด้วย มีการประเมินว่า อาจจะอย่างต่ำ 2-3 ปีกว่าที่ราคาสินค้าดังกล่าวจะเริ่มผงกหัวขึ้น แต่ในระยะสั้นและระยะกลางราคาต้องดิ่งลงไปอีก

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะดำดิ่งลงไปนี้ ส่งผลเสียโดยตรงต่อเศรษฐกิจของชาติส่งออกหรือผลิตสินค้าดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง และการเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อบรรเทาความรุนแรงเป็นเรื่องยากลำบากเพราะจะมีความวุ่นวายทางการเมืองตามมาเป็นผลพวงที่เลี่ยงไม่พ้นเพราะสินค้าพวกนี้มักจะเป็นสินค้าการเมืองในตัวมันเอง

มุมมองของเฟดฯ ต่อการไม่ขึ้นดอกเบี้ย จึงเป็นมุมมองแบบ birds ‘  eye view ที่ลึกซึ้งและบ่งบอกอนาคตที่มืดมนพอสมควรเลยทีเดียว

มุมมองนี้ทำให้อนาคตของสินค้าโภคภัณฑ์ไทย พลอยหดหู่ไปด้วย หุ้นยางพารา หุ้นเหล็ก หุ้นอาหาร หุ้นส่งออกชิ้นส่วน หุ้นวัสดุก่อสร้าง หากจะถูกนักลงทุนขายทิ้งออกมาในช่วงจากนี้ไปก็ไม่น่าแปลก เพียงแต่ในสภาวะเช่นนี้ก็ยังคงมีหุ้นบางรายการที่ซ่อนเร้นจุดแกร่งเอาไว้เป็น  “อัญมณีในกองกรวด”

ใครที่เคยคิดว่าปีนี้เล่นหุ้นยากมาก จากนี้ไปจะเจอโจทย์ที่ยากกว่าเดิมหลายเท่าโดยเฉพาะหุ้นว่าด้วยโภคภัณฑ์เพราะอาจจะเข้าข่ายตาดีได้ตาร้ายเสียกันโดยไม่ได้เจตนา

ส่วนดัชนีตลาดนั้นที่ว่าต่ำแล้วอาจจะมีต่ำกว่าได้อีก อย่าคิดว่าจะเป็นไปไม่ได้   

 

Back to top button