‘รถไฟสายสีส้ม’ ยิ่งช้ายิ่งเสียโอกาส.!

การปรับเปลี่ยนทีโออาร์ระหว่างการประมูล กลายเป็นต้นเหตุทำให้การประมูล “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 142,000 ล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องหยุดชะงักเสียเอง ด้วยความไม่ชอบมาพากลเปิดขายซองประมูลไปแล้ว แต่มีการเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกใหม่


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

การปรับเปลี่ยนทีโออาร์ระหว่างการประมูล กลายเป็นต้นเหตุทำให้การประมูล “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 142,000 ล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องหยุดชะงักเสียเอง ด้วยความไม่ชอบมาพากลเปิดขายซองประมูลไปแล้ว แต่มีการเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกใหม่

นั่นจึงเป็นที่มาของการร้องเรียนและมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง จนศาลฯ มีคำสั่งให้รฟม.ทุเลาการบังคับตามเกณฑ์คัดเลือกใหม่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา แต่รฟม. แก้เกี้ยวทางกฎหมายด้วยการ “ยกเลิกประมูล” (ด้วยไม่อาจรอฟังคำพิพากษาจากศาลได้) เพื่อเป็นเหตุแห่งการร้องศาลเพื่อจำหน่ายคดีดังกล่าวออกไป

อีกนัยหนึ่งคือเพื่อสร้างความชอบธรรม ที่จะมีการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายใต้เงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ ที่ระบุเงื่อนไข “คุณสมบัติทางเทคนิค” ที่ถูกกังขาและร่ำลือกันว่าเสมือนใส่พานถวายให้เอกชนบางรายเลยก็ว่าได้

แต่ดูเหมือนเรื่องการประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” จะเงียบหายไป หลังถูกเอกชน นั่นคือกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ยื่นฟ้องผู้ว่ารฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กรณีแก้เกณฑ์ (ระหว่างการประมูล) และยกเลิกประมูลโครงการดังกล่าว

เช่นเดียวกับ “สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย” ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อตรวจสอบว่า “การเปลี่ยนแปลงทีโออาร์หลังขายซองประมูลไปแล้ว เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการกีดกันการเสนอ  ราคา (ฮั้วประมูล) หรือไม่.!?” และ DSI  มีมติให้ส่งผลสอบสวนไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เพื่อไต่สวนเอาผิดกันต่อไป.!

ปมเหตุแห่งคดีความดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารระดับสูงจากรฟม.ยอมรับว่า กรณี DSI ยื่นสำนวนสอบสวนให้ปปช. ไต่สวนโครงการนี้ และกรณีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำสั่งให้รับคำฟ้องของ BTS ไว้พิจารณาไต่สวนนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ นั่นหมายถึงหากศาลทุจริตฯ มีคำสั่งให้ดำเนินการไต่สวนโครงการดังกล่าว จะเป็นเหตุให้ผู้ว่ารฟม.และกรรมการคัดเลือกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที นั่นทำให้ “การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม” รอบใหม่ ต้องหยุดชะงักลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลจากความล่าช้าดังกล่าว..อาจทำให้รฟม.ต้องสูญเสียงบประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท เพื่อดูแลรักษาระบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จช่วงภายในปี 2565 ที่สำคัญประชาชน (ที่กระทรวงคมนาคม มักใช้เป็นข้ออ้างเพื่อหาความชอบธรรมต่าง ๆ) ต้องสูญเสียโอกาสการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มแบบระบบไปอย่างน่าเสียดาย

เป็นไปได้หรือไม่ว่า..เรื่องนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะนายกรัฐมนตรีอาจจำเป็นต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ หรือใช้อำนาจผ่านทางมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงคมนาคมและรฟม. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ใหม่ ภายใต้เงื่อนไขทีโออาร์เดิม (ไม่มีปัญหาทางกฎหมายและผ่านการทำประชามติแล้ว) เพื่อผ่าทางตันดังกล่าว

ส่วนที่ว่า “ความเสียหาย” จากการกระทำของรฟม. เรื่อง “การเปลี่ยนเงื่อนไขระหว่างประมูล” ภายใต้การเห็นดีเห็นงามจากกระทรวงคมนาคม ที่มีรัฐมนตรีว่าการชื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จะมากหรือน้อยแค่ไหน..ก็เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบกันไป และเชื่อผลของคำสั่งศาลคดีทุจริตฯ และผลมติจากปปช. น่าจะได้เค้าลางแล้วว่า “การแก้ไขทีโออาร์” และ “การล้มประมูล” เกิดความเสียหายอย่างไร และสำคัญทำเพื่อใครหรือไม่..!?

Back to top button