พาราสาวะถี

วิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้เครียดมากพออยู่แล้ว แต่การชี้แจงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 น่าจะทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก จนไม่รู้ว่าจะทำให้โรคเครียดที่เจ้าตัวยอมรับเองว่าเป็นโรคนี้อยู่จะกำเริบขึ้นมาหรือไม่ ลำพังการตั้งข้อกังขาจากพรรคฝ่ายค้านไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะตีกรรเชียงกันไปได้ แต่เมื่อเป็นความสงสัยจากคนในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองมันทำให้อธิบายต่อสังคมได้ลำบาก


อรชุน

วิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้เครียดมากพออยู่แล้ว แต่การชี้แจงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 น่าจะทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก จนไม่รู้ว่าจะทำให้โรคเครียดที่เจ้าตัวยอมรับเองว่าเป็นโรคนี้อยู่จะกำเริบขึ้นมาหรือไม่ ลำพังการตั้งข้อกังขาจากพรรคฝ่ายค้านไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะตีกรรเชียงกันไปได้ แต่เมื่อเป็นความสงสัยจากคนในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองมันทำให้อธิบายต่อสังคมได้ลำบาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ดังมาจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ที่ท้ายที่สุดแม้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะบอกว่าได้คุยกับ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคแล้วและอ้างว่าเข้าใจกันแล้ว แต่เมื่อนักข่าวถามต่อถึงความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลยังดีอยู่หรือไม่ กลับไม่มีคำตอบ ซึ่งก็แปลความได้สองทางคือ เบื่อ ไม่อยากตอบเพราะถามซ้ำซากทั้งที่ความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา อีกอย่างคือเวลานี้มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในรัฐบาลจริง และไม่รู้ว่าจะลงเอยกันอย่างไร

ยิ่งถ้าย้อนกลับไปฟังคำขู่ของ วิษณุ เครืองาม ทั้งต่อเรื่องร่างพ.ร.บ.งบประมาณและร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทหากไม่ผ่านก็มีทางให้เลือกแค่สองทางคือ ยุบสภา” กับ ลาออก” มันก็เหมือนการดักคอพวกเดียวกันว่าจะกล้าหือหรือไม่ แต่มาถึงนาทีนี้การตีหน้ายักษ์กระทืบเท้าขู่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลเหมือนช่วงสองปีแรก ในส่วนของภูมิใจไทยนั้น การอภิปรายของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณกันอย่างตรงไปตรงมา

รับไม่ได้กับงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกปรับลดวลีทองของส.ส.ผู้ทรงอิทธิพลรายนี้ก็คือ “หรือสำนักงบประมาณคิดว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่รักนายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่าหัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ” เมื่อนักข่าวนำประโยคนี้ไปถามกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ “ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของหัวหน้าพรรคที่จะไปพิจารณา​เอง”

อ่านทางได้กับคำตอบของเสี่ยหนูที่จะอ้างว่าเป็นเรื่องของส.ส. ส่วนท่าทีในการร่วมรัฐบาลต้องไปพูดคุยกันในพรรค แต่ท่วงทำนองของส.ส.พรรคนี้ที่แสดงออกมันก็เป็นภาพสะท้อนว่าทนไม่ได้กับการถูกกดทับและรวบเอาอำนาจในการที่หัวหน้าพรรคของตัวเองจะได้โชว์ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ไปไว้ในมือของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจทั้งหมด แม้คนที่ถูกริบอำนาจไปจะยืนยันว่าไม่ได้มีความรู้สึกว่าถูกรวบอำนาจก็ตาม เพราะมันเป็นการพูดภาคบังคับที่ต้องว่ากันตามสคริปต์

ไม่เพียงแต่ชาดาเท่านั้นที่อภิปรายร่างงบประมาณปี 65 ด้วยทำนองที่ไม่พอใจ กรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง คนที่ออกมาพูดประเด็นอย่าทำให้คนต่างจังหวัดรู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้เป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ ก็ไม่พอใจต่อการจัดสรรงบประมาณเที่ยวนี้เหมือนกัน ถึงขั้นประกาศว่า “การจัดทำงบปีนี้พิลึกพิลั่นจริง ๆ” และไม่มีใครรู้ว่าการจัดทำงบประมาณครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลและรัฐสภาแห่งนี้ก็ได้ หากเป็นครั้งสุดท้าย อยากเห็นว่าจัดสรรงบเพื่อแก้ปัญหาและพาชีวิตคนไทยไปสู่ภาวะปกติ

ทิ้งทวนให้เป็นปริศนาอีกต่างหาก ขณะที่ก่อนหน้านั้นก็ทิ่มหมัดตรงไปยังสำนักงบประมาณว่า เรากำลังทำสงครามกันอยู่ เราอยู่ในสงครามโรค อาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองทัพมีอยู่นั้นไม่สามารถเอาชนะกับสงครามครั้งนี้ได้ แต่อาวุธเพียงอย่างเดียวคือการสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข เพื่อเป็นหลักประกันในการต่อสู้กับโควิด การจัดลำดับงบประมาณสะท้อนถึงการจัดความสำคัญ หากสำนักงบประมาณเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาของโควิดเพื่อประชาชน กระทรวงสาธารณสุขคงไม่ถูกจัดไว้ในลำดับที่ 6

ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าตัวยังวกกลับมาเรื่องการจัดสรรวัคซีนที่รัฐบาลโดยศบค.มุ่งมั่นที่จะนำมาแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิดในกทม. แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยในการแก้ปัญหาของสองหน่วยงานว่า  หวังว่าการแก้ไขปัญหาระหว่าง กทม.กับศบค.จะทำงานร่วมกันและหยุดปัญหาในเมืองหลวงได้ อย่าให้เหมือนเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ตอนบ่ายกทม.ประกาศผ่อนปรนกิจการ 5 ประเภทให้ดำเนินการได้ แต่ตอนเย็นศบค.กลับยกเลิกการผ่อนปรนดังกล่าว “นี่คือความล้มเหลว ความบกพร่อง ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาร่วมกันได้”

ส.ส.ภูมิใจไทยกับการตั้งข้อสังเกตในการจัดสรรงบประมาณอาจเกิดจากความไม่พอใจที่กระทรวงสาธารณสุขในความดูแลของพรรคตัวเองถูกปรับลดงบประมาณไป แต่กรณีของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตบนหลักฐานและความห่วงใยที่หากเป็นฝ่ายค้านพูดก็จะถูกลากให้ไปเป็นประเด็นทางการเมือง โดย พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเก่าแก่ จี้จุดในประเด็นความเป็นห่วงเรื่องวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล

น่าสนใจในข้อสังเกต ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจชี้แจงว่า จะแก้ไขปัญหาเรื่องงบลงทุนโดยการเพิ่มแหล่งลงทุนโดยเฉพาะการกู้เงินตามพ.ร.บ.หนี้มากขึ้น นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหางบประมาณ แต่จะทำให้ระบบงบประมาณยิ่งอ่อนแอลง การที่พยายามจะหลบค่าใช้จ่ายโดยไปใช้พ.ร.ก.กู้เงิน จะทำให้รัฐสภาไม่ได้ตรวจสอบ ประชาชนไม่ทราบ การประกาศใช้พ.ร.ก. แล้วนำงบไปใช้เลยจะทำให้ระบบงบประมาณเกิดความเสียหายมาก ดังนั้น ยืนยันว่าพ.ร.ก.กู้เงินไม่ใช่หลักงบประมาณที่ดี

ที่ต้องขีดเส้นใต้กันไว้และรอดูบทสรุปหลังการลงมติก็คือ ถ้าสภาอนุมัติงบฯ ปี 65 เท่ากับเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลทำผิดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งพ.ร.บ.วินัยการคลังระบุชัดจะต้องดูแลเรื่องพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณที่ดีในการจัดทำงบประมาณประจำปี แต่การแถลงของท่านผู้นำยังมีความไม่สมบูรณ์ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นความจงใจทำผิดพ.ร.บ.หรือไม่ เพราะพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังปี 61 มาตรา 10 (1) ระบุชัดว่า นายกฯ ต้องแถลงฐานะการคลัง แต่ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแถลงเพียงพูดถึงตัวเลขหนี้พูดถึงตัวเลขกี่ตัวที่ไม่ใช่ฐานะการคลัง หรือเป็นเพราะว่ารู้อยู่แล้วทำอะไรก็ไม่ผิด เพราะปลายที่จะตรวจสอบใครจะกล้าหือกับผู้มีพระคุณ

Back to top button