พาราสาวะถี

การประชุมรัฐสภาวันนี้ 22 มิถุนายนแม้จะไม่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีกฎหมายสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปถึงการแก้ไขกฎหมายสูงสุด นั่นก็คือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ฝ่ายค้านยังคงปักใจเชื่อว่าขบวนการสืบทอดอำนาจจะดึงจังหวะให้ช้าออกไปหรือไม่ยอมให้ผ่าน เพราะเกรงว่าจะมีการใช้เป็นช่องทางสำหรับการเสนอให้ทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้มีส.ส.ร.หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน


การประชุมรัฐสภาวันนี้ 22 มิถุนายนแม้จะไม่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีกฎหมายสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปถึงการแก้ไขกฎหมายสูงสุด นั่นก็คือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ฝ่ายค้านยังคงปักใจเชื่อว่าขบวนการสืบทอดอำนาจจะดึงจังหวะให้ช้าออกไปหรือไม่ยอมให้ผ่าน เพราะเกรงว่าจะมีการใช้เป็นช่องทางสำหรับการเสนอให้ทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้มีส.ส.ร.หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

การเดินทางมาถึงขั้นนี้แล้ว คงไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้ ยังไงร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ส่วนเรื่องที่ว่าเมื่อผ่านไปแล้วจะมีการเคลื่อนไหวขอให้ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ขึ้นชื่อว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจและมีศรีธนญชัยรอดช่องอยู่ข้างกายแล้ว ไม่มีทางที่จะเดินทางไปถึงจุดนั้นได้อย่างง่ายดายแน่นอน สิ่งสำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะดำเนินการต่อทันทีในวันพรุ่งนี้และมะรืน จะเป็นตัวชี้วัดว่าการแก้ไขทั้งฉบับไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน

พิจารณาแนวโน้มของการโหวตผ่านร่างแก้ไขทั้ง 13 ฉบับแล้ว ฉบับของพรรคสืบทอดอำนาจมีความเป็นไปได้สูงที่สุด เนื่องจากมีตัวชูโรงคือการแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็นสองใบ และเป็นไปตามความต้องการของพรรคการเมืองใหญ่ที่ชื่นชอบแบบนี้อย่างเพื่อไทย ที่พร้อมจะกลับลำยกมือสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากเห็นเป็นระบบที่ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่ผ่านมา

แต่คงประมาทไม่ได้เป็นอันขาดว่าพรรคสืบทอดอำนาจจะปล่อยให้เป็นไปง่าย ๆ แบบนั้น มิเช่นนั้น คงไม่เล่นเกมเสี่ยงเดิมพันสูงขนาดนี้ ถึงขนาดที่ว่าเลขาธิการพรรคคนใหม่ ธรรมนัส พรหมเผ่า ประกาศจะคว้าเก้าอี้ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ต่ำกว่า 200 ที่นั่ง อะไรทำให้มั่นใจขนาดนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่จึงเป็นคำตอบ เพราะถ้าไม่คิดว่าตัวเองจะโกยเก้าอี้ผู้แทนเป็นกอบเป็นกำ ใครจะหน้าด้านไปแก้กฎหมายที่มุ่งหวังตีกันพรรคคู่แข่งเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจกับระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ถ้ายึดตามที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้เสนอย้ำคือเป็นแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 คำถามสำคัญที่จะก้าวข้ามไม่ได้คงหนีไม่พ้นรูปแบบนี้ไม่ใช่หรือที่บรรดาฝ่ายโจมตีระบอบทักษิณจงเกลียดจงชังนักหนา ถึงขั้นที่ชี้นิ้วตราหน้าว่าทำให้เป็นเผด็จการรัฐสภา แล้วไหงรัฐสภาเผด็จการจึงเลือกที่จะนำกลับมาใช้เสียเอง ทั้งที่บัตรเลือกตั้งสองใบก็มีหลายรูปแบบโดยเฉพาะแบบที่จะสะท้อนคะแนนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

ถ้าเปรียบเทียบกันให้เห็นภาพก็คือ แบบคู่ขนาน หรือ MMM : Mixed-member majoritarian ตามรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจก็ตอกย้ำมาตลอดว่า เป็นการผูกขาดการเมืองไว้กับพรรคใหญ่ กลุ่มทุน และนักการเมืองอาชีพ ตัดหนทางพรรคทางเลือก จนทำให้เกิดระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ดังนั้น จึงน่าสงสัยว่า ระบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นปัญหาทั้งระบบจริงหรือเป็นอุปสรรคสำหรับพรรคสืบทอดอำนาจเท่านั้น

ส่วนระบบบัตรเลือกตั้งสองใบอีกแบบก็คือ ระบบสัดส่วนผสม หรือ MMP : Mixed-member proportional ระบบนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เขียนร่างไว้แต่ไปไม่ถึงฝันเพราะเขาอยากอยู่ยาว ซึ่งรูปแบบนี้จะสอดคล้องกับความต้องการของพรรคก้าวไกล เพราะจะทำให้ประชาชนสามารถเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ใช่ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 40 แต่จะมีการแก้ไขวิธีการคำนวณให้ได้สัดส่วนส.ส.ที่ถูกต้องตามที่ประชาชนเลือกเพื่อแก้ปัญหาเสียงตกน้ำ

กระนั้นก็ตาม การออกมาดักคอพวกเดียวกันเองอย่างพรรคเพื่อไทยของแกนนำพรรคก้าวไกลที่ระบุว่า จะไปสมคบคิดกับพรรคสืบทอดอำนาจและส.ว.เพื่อโหวตรับร่างแก้ไขที่เสนอโดยซามูไรกฎหมาย เพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือครองเสียงข้างมากโดยไม่สนใจว่าจะมีเสียงของประชาชนจำนวนมากตกน้ำหรือไม่ ก็ถูกตีโต้กลับทันทีว่า อดีตพรรคอนาคตใหม่เองก็มีความเป็นห่วงเสียงของตัวเองเหมือนกัน ถ้าใช้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 60 ได้ยิ่งดี เนื่องจากพรรคตัวเองได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ

มาถึงตรงนี้ คงหนีความจริงไม่พ้นแม้จะเห็นกันอยู่ว่า ท่วงทำนองของพรรคสืบทอดอำนาจเป็นอะไรที่น่าเกลียด วันหนึ่งมองว่าพรรคหนึ่งชนะแน่ ฉันเขียนกติกาอะไรก็ได้ให้พรรคนั้นไม่ชนะ พอวันหนึ่งคิดว่าฉันจะชนะแน่ ฉันก็เขียนกติกาอย่างที่ว่าเขาแล้วเอามาใช้เอง ประเทศนี้มันอยู่กันแบบนี้อยู่แล้ว ขนาดที่ยอมกลืนน้ำลายตัวเองที่เที่ยวด่านักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว แต่สุดท้ายก็ใช้พลังดูดนำเอานักการเมืองเล่านั้นมาสมสู่อยู่กับพรรคตัวเอง แล้วจะไปเรียกร้องถามหาความหวังจากไหน

คำว่าไม่ยุติธรรม เอารัดเอาเปรียบ ไม่เห็นหัวประชาชน ก็เป็นวาทกรรมการเมือง อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้พูด เหมือนการประกาศยึดมั่นในระบบรัฐสภา เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่ทุกครั้งก็จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองที่ประกาศเช่นนี้เป็นพวกอีแอบที่ร่วมขับเคลื่อนกับฝ่ายเผด็จการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำลายระบอบบประชาธิปไตยด้วยน้ำมือตัวเอง จนกระทั่งเวรกรรมมีจริงทำให้จากพรรคใหญ่เป็นได้แค่พรรคระดับกลาง และไม่รู้ว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นแค่เพียงพรรคขนาดเล็กหรือไม่

ขณะเดียวกัน คงต้องยอมรับกันอีกประการว่า จังหวะเวลาต่อการขับเคลื่อนของพรรคสืบทอดอำนาจนั้นมันช่างเหมาะเจาะเสียเหลือเกิน เพราะเวลานี้คนส่วนใหญ่ใจจดใจจ่ออยู่กับสถานการณ์โควิด-19 และปมวัคซีนที่ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก จนไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมือง จึงเป็นทางสะดวก ซึ่งเรื่องวัคซีนต้องย้ำกันต่อเนื่องว่าเป็นความล้มเหลวในเรื่องของการบริหารจัดการ ที่อ้างว่าไม่ได้คำนวณแค่จำนวนประชากรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูสถานการณ์ในพื้นที่ประกอบด้วย

คำตอบคือ มันไม่เป็นความจริงหลักฐานคือ เสียงโวยจาก วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาครในพื้นที่การระบาดยังหนักขอวัคซีนสามแสนโดสได้มาแค่หลักหมื่น จนประชาชนต้องติดแฮชแท็กขอคืนวัคซีนกันทั้งจังหวัด ไม่ต่างจาก สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย ก็โวยเหมือนกัน ตรังมีผู้ติดเชื้อระดับท็อปเทนของประเทศแต่ได้วัคซีนแค่หลักพันโดส ขณะที่มีความพยายามจะจัดให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศแต่ถูกจับได้เลยต้องกลับลำกันอย่างไร้อย่างไร ไม่มีเส้น ไม่มีโกง พ่นน้ำลายมาใครจะเชื่อ

Back to top button