พาราสาวะถี

เรียกประชุมกันวันหยุดวันที่คาร์ม็อบนัดรวมพลบีบแตรไล่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้พ้นจากตำแหน่ง แน่นอนว่าผลสะเทือนคงไม่มีอะไรแต่จำนวนคนที่เข้าร่วมอย่างน้อยก็เป็นภาพสะท้อนของความไม่พอใจจากประชาชนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการประชุมในฐานะผู้อำนวยการศบค.ของท่านผู้นำ ไม่ต้องมาทำเป็นขยันเหมือนทำงานไม่มีวันหยุด เพราะความจริงสิ่งที่เคาะกันออกมาแค่ขยายเวลาล็อกดาวน์หรือยกระดับมาตรการเข้มหรือคลายล็อกบางอย่าง มันไม่ใช่ทางออกของปัญหา


เรียกประชุมกันวันหยุดวันที่คาร์ม็อบนัดรวมพลบีบแตรไล่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้พ้นจากตำแหน่ง แน่นอนว่าผลสะเทือนคงไม่มีอะไรแต่จำนวนคนที่เข้าร่วมอย่างน้อยก็เป็นภาพสะท้อนของความไม่พอใจจากประชาชนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการประชุมในฐานะผู้อำนวยการศบค.ของท่านผู้นำ ไม่ต้องมาทำเป็นขยันเหมือนทำงานไม่มีวันหยุด เพราะความจริงสิ่งที่เคาะกันออกมาแค่ขยายเวลาล็อกดาวน์หรือยกระดับมาตรการเข้มหรือคลายล็อกบางอย่าง มันไม่ใช่ทางออกของปัญหา

สิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะจะต้องใช้สติปัญญาซึ่งบอกได้ว่าช้าไปแล้วนั้น คือการเร่งหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน เพราะถ้ายึดตามแนวทางการต่อสู้กับโควิด-19 ของทุกประเทศทั่วโลก ต่างพุ่งเป้าไปยังวัคซีน เนื่องจากถือว่าเป็นทางออกจากวิกฤติการระบาดของโรคร้ายนี้ และเป็นหนทางเดียวที่จะนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ โดยที่ผู้นำประเทศไทยและลิ่วล้อต่างก็ทราบดี แต่ไม่ขวนขวายหรือกระตือรือร้นที่จะแสวงหาวัคซีนที่ดีมาฉีดให้ประชาชน

ความผิดพลาดแรกที่ตอกย้ำกันคือแทงม้าตัวเดียวได้แอสตร้าเซเนกาที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่ในเวลานี้ เพราะปริมาณที่ได้รับจากการจัดซื้อทั้งที่อ้างว่าเป็นประเทศที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผู้ผลิตให้ผลิตเอง และหวังจะเป็นฮับวัคซีนในอาเซียน แต่ผลก็เป็นอย่างที่เห็น ผิดพลาดประการต่อมาคือซื้อวัคซีนคุณภาพต่ำอย่างซิโนแวคมาฉีดให้ประชาชน โดยที่ต่างก็ยอมรับกันแล้วว่าฉีดไป 2 เข็มไม่สามารถสู้กับโควิดกลายพันธุ์เดลต้าได้

ส่วนการที่อ้างว่าก็ได้มีการเร่งเจรจาหาวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้ามาฉีดให้แล้วไง คำถามตัวโตที่ตอบไม่ได้ก็คือ มันทันต่อสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นหรือไม่ ไร้วิสัยทัศน์ เขลาและยังขลาดอีกต่างหาก กับการออกคำสั่งปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อและประชาชน โดยอ้างเฟคนิวส์มาข่มขู่ไม่ให้คนนำเสนอสิ่งที่เป็นการบริหารงานล้มเหลวของตัวเอง ภาพของคนนอนตายกลางถนน รอความตายที่บ้าน เหล่านี้มันคือความจริงที่รับไม่ได้หรือมีใครรับจ้างมาตายอย่างนั้นหรือ

เรื่องของวัคซีนหากเป็นประชาชนแสดงความเห็นก็บอกว่าไม่รู้จริง ไม่มีข้อมูล ถ้าเช่นนั้นบทความของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอของนักวิชาการ 6 รายที่นำโดย สมชัย จิตสุชน น่าจะฉายภาพความผิดพลาดต่อการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลได้อย่างชัดเจน จั่วหัวของบทความดังกล่าวน่าสนใจ ถ้าวัคซีนจะเป็นทางออกจริง ต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพเพียงพอ ยิ่งคุณภาพสูงเท่าไร (โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อด้วยเพิ่มเติมจากเพียงป้องกันการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลและป้องกันการตาย) โดยยังปลอดภัยเพียงพอ ก็ยิ่งดีเท่านั้น

แต่ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่มีวัคซีนหรือ วัคซีนมาช้า ซึ่งในกรณีของไทยดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น มีหลายประเทศเพื่อนบ้านของเราได้รับวัคซีนบางชนิดที่คนไทยหลายคนเรียกร้อง เช่น วัคซีนไฟเซอร์และโมเดิร์นนา เร็วกว่าหรือในปริมาณมากกว่าประเทศไทย ในขณะที่ในประเทศไทยมีการอธิบายมาตลอดว่าที่หาวัคซีนดังกล่าวไม่ได้เพราะปริมาณการผลิตของบริษัทมีจำกัด ถูกประเทศร่ำรวยซื้อไปจนหมดแล้ว ไม่เหลือให้ประเทศอื่นเท่าไร ทำให้ไทยไม่ได้สั่งซื้อวัคซีนกลุ่มนี้ในตอนแรกในขณะที่หลายประเทศสั่งก่อนหน้า

ในตอนแรกหลายคนก็ยอมรับคำอธิบายนี้ แต่ในระยะหลังที่ประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงไทยเริ่มได้รับวัคซีนกลุ่มนี้ด้วยก็น่าจะแสดงถึงจุดอ่อนในกระบวนการจัดหาวัคซีนของไทย ในบทความดังกล่าวยังได้ยกตัวอย่างประเทศฟิลิปปินส์ที่มีบริบทใกล้เคียงกับไทย ประเด็นที่น่าสนใจคือ ฟิลิปปินส์เคยติดข้อจำกัดจากกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อจองวัคซีนได้ ยกเว้นว่าประธานาธิบดีให้ความเห็นชอบ และปลดล็อกข้อจำกัดได้ในเดือนพฤศจิกายนช้ากว่าไทยเสียอีก

แต่ฟิลิปปินส์สามารถจัดหาวัคซีนได้มากกว่าไทยพอสมควร โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้ฟิลิปปินส์จัดหาวัคซีนได้มากคือ การที่เอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดหาวัคซีนอย่างมาก และเริ่มมีบทบาทเร็ว เช่น การซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนกาในเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 2.6 ล้านโดสเป็นการจัดซื้อของบริษัทเอกชนทั้งหมด เพื่อนำมาฉีดให้พนักงานและครอบครัว รวมถึงการซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนกาในเดือนมกราคม 2564 อีกกว่า 14 ล้านโดสที่เกิดจากเอกชนร่วมลงเงินกับรัฐบาลท้องถิ่น

คำถามก็คือแล้วประเทศไทยมัวทำอะไรในช่วงเวลาที่ฟิลิปปินส์ปลดล็อกและเร่งดำเนินการจัดหาวัคซีน ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังคงหลงใหลได้ปลื้มแม้กระทั่งบัดนี้กับคำชมของต่างประเทศที่บอกว่าไทยรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดี ทั้งที่ เวลานี้ระบบสาธารณสุขของประเทศใกล้จะเข้าสู่ภาวะล่มสลายเต็มทน ทั้งนี้ บทความของทีดีอาร์ไอชุดนี้ไม่ได้มีข้อเสียงติติงเท่านั้น แต่ได้นำเสนอทางออกในการปรับกระบวนทัพการจัดหาวัคซีนด้วย

โดยสร้างทีมจัดหาวัคซีนใหม่ที่มีความหลากหลายมากกว่าปัจจุบันที่เป็นเพียงแพทย์เท่านั้น โดยควรมีทั้งกระทรวงต่างประเทศ ทูต บุคลากรสาธารณสุข โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เช่น กระทรวงต่างประเทศสามารถมีส่วนร่วมเต็มตัวไม่ใช่ทำหน้าที่แบบ งานฝาก เหมือนทุกวันนี้ หรือเสริมทีมจัดหาวัคซีนปัจจุบัน เหมือนระบบ two-tracks ของสิงคโปร์ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และทีมจัดหาวัคซีนต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ไม่ติดระบบราชการมากเกินไป

การซื้อวัคซีนไม่จำเป็นต้องซื้อจากบริษัทเสมอไป แต่อาจขอซื้อจากประเทศที่จองไปแล้วแต่เหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะจองมากเกินแต่ประชาชนเขาไม่อยากฉีดยี่ห้อที่จอง อาจทำการแลกเปลี่ยนวัคซีนที่บางประเทศเหลือฉีดโดยขอยืมมาก่อนแล้วอาจซื้อคืนให้ทีหลัง โดยใช้โควตาการซื้อที่เรามีอยู่แต่ได้มาช้า และใช้กลวิธีทางการทูตทุกลักษณะและในเชิงรุก ในการขอซื้อหรือขอรับบริจาคจากมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทย แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครฟัง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน คนที่มีสติปัญญาควรคิดได้และทำมาก่อนหน้าแล้วเพื่อป้องกันความเสียหายต่อชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม อย่างที่ไม่ควรเสียเช่นปัจจุบัน

Back to top button