‘ข้าวยากหมากแพง’ กำลังมาเยือน

แม้ว่าหลายบริษัทได้แถลงผลประกอบการในช่วงนี้ว่า ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วได้ดี แต่ส่วนใหญ่ก็ได้เตือนว่า “ต้นทุน” กำลังสูงขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรในปีนี้ได้ และบริษัทจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าว


แม้ว่าหลายบริษัทได้แถลงผลประกอบการในช่วงนี้ว่า ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วได้ดี แต่ส่วนใหญ่ก็ได้เตือนว่า “ต้นทุน” กำลังสูงขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรในปีนี้ได้ และบริษัทจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าว

เสียงเตือนเรื่องต้นทุนพุ่ง เริ่มดังถี่ขึ้นในช่วงนี้ โดยเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (พีแอนด์จี) ได้เตือนว่า อาจได้รับผลกระทบจากค่าขนส่งและค่าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ แม้จะคาดการณ์ว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ดังนั้นบริษัทจะอาศัยการขึ้นราคา และลดต้นทุน เพื่อรองรับผลกระทบที่จะมีต่อกำไร

พีแอนด์จีต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุน เยื่อกระดาษ เรซิ่น และโพลีโพรพิลีน นอกจากนี้ยังคาดว่า ค่าขนส่งจะสูงขึ้น  100 ล้านดอลลาร์ โดยจะสูงขึ้นเป็นหลักในสหรัฐฯ เนื่องจากขาดแคลนคนขับรถ

นอกจากพีแอนด์จีแล้ว ยูนิลีเวอร์ และเรกคิทท์ เบนคีเซอร์ กรุ๊ป ก็เป็นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคอีกสองบริษัทที่ได้เตือนว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะกดกำไรบริษัทในปีนี้เช่นกัน

ธุรกิจเบียร์ ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน บริษัทแอนเฮาเซอร์-บุสช์ อินเบฟ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่สุดของโลก เผยว่า ยอดขายเบียร์ในช่วงไตรมาสสองเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนค่าขนส่งและกระป๋องที่สูงขึ้นได้จำกัดกำไรของบริษัท

ไฮเนเก้น บริษัทเบียร์อันดับสองของโลกเตือนว่า ต้นทุนโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น เช่น ข้าวบาเลย์ น้ำตาล และอลูมิเนียมเพื่อผลิตกระป๋อง จะเริ่มส่งผลกระทบต่อบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะมีผลกระทบมากในปีหน้า เมื่อสัญญาในการบริหารความเสี่ยงไม่สามารถบรรเทาราคาที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป นอกจากนี้ต้นทุนด้านการตลาดก็จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อบาร์เริ่มเปิดอีกครั้ง

บีเอ็มดับเบิลยู และโฟล์คสวาเกน เตือนว่า ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนชิป จะกระทบผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่ เดมเลอร์ เตือนว่าวิกฤตเหล่านี้อาจลากยาวไปจนถึงปีหน้า

ต้นทุนในการขนส่ง และต้นทุนโภคภัณฑ์ทุกอย่าง ตั้งแต่ น้ำมันปาล์ม จนถึงพลาสติก เพิ่มขึ้น เพราะเกิดการชะงักงันอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน ยังมีอุทกภัยครั้งใหญ่ในยุโรปและในมณฑลเหอหนานของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เกยตื้นในคลองสุเอซ วิกฤตซัพพลายเชนและวิกฤตชิปปิ้ง

ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น บีบให้บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคหลายแห่งต้องโยนภาระไปให้ผู้บริโภค ด้วยการขึ้นราคาสินค้า ข้อมูลของนีสเซนไอคิว ชี้ว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ปรับตัวขึ้นพอประมาณ ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา และแรงกดดันกำลังก่อตัวเพิ่มขึ้น

หลายบริษัทได้ส่งสัญญาณว่า จะขึ้นราคาสินค้าในช่วงปลายปีนี้ และในปีหน้าแล้ว ตัวอย่างเช่น บริษัท Hormel Foods ได้ขึ้นราคาเนยถั่ว Skippy และผลิตภัณฑ์ไก่งวง ขณะที่คิมเบอร์ลี่-คลาร์ก ซึ่งผลิตกระดาษทิชชู่คลีเน็กซ์และสก็อตต์ กล่าวว่า สินค้าประมาณ 60% จะมีราคาสูงขึ้น

ราคาสินค้าที่สูงขึ้นนี้เป็นสาเหตุให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนมิถุนายน และทำให้อัตราเงินเฟ้อต่อปีของสหรัฐฯ สูงกว่าเป้า 2% ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ตั้งไว้ ในขณะนี้นักวิเคราะห์ กำลังจับตาด้วยความอยากรู้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางส่วนใหญ่ กดให้ต่ำไว้มานานจะยังคงอยู่ในระดับเดิมได้หรือไม่ เมื่อเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น

หากธนาคารกลางต่าง ๆ เริ่มขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อเมื่อไหร่ ก็จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์  และผลกระทบจะยิ่งมากเป็นเท่าทวีคูณต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้

โควิดก็ยังไม่ลด รัฐก็หมดเงินเยียวยาแล้ว แถมจะต้องเจอ ภาวะ “ข้าวยากหมากแพง” อีก ชาวบ้านตาดำ ๆ จะรับมือกันไหวหรือเนี่ย !

Back to top button