พาราสาวะถีอรชุน

ประชุมนัดแรกกันไปเรียบร้อยสำหรับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนที่ถูกยกให้เป็นอรหันต์ เพื่อทำการเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศ นำไปสู่การลงประชามติของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อจำแนกแยกแยะจากจำนวนทั้งหมด พบว่า มีนักกฎหมาย 11 ราย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ 2 ราย ด้านรัฐศาสตร์ 3 ราย ด้านความมั่นคง 4 ราย และด้านสื่อสารมวลชน 1 ราย


ประชุมนัดแรกกันไปเรียบร้อยสำหรับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนที่ถูกยกให้เป็นอรหันต์ เพื่อทำการเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศ นำไปสู่การลงประชามติของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อจำแนกแยกแยะจากจำนวนทั้งหมด พบว่า มีนักกฎหมาย 11 ราย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ 2 ราย ด้านรัฐศาสตร์ 3 ราย ด้านความมั่นคง 4 ราย และด้านสื่อสารมวลชน 1 ราย

แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ เหนือสิ่งอื่นใดคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.จะนำพาคณะ ร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรเพื่อให้อยู่ในกรอบของมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งถูกมองว่าตีกรอบประชาธิปไตย ขณะที่เจ้าตัวก็ประกาศว่าต้องให้เป็นที่ยอมรับของสากล นี่แหละคือเรื่องยากและอุปสรรคไม่น้อย เหมือนอย่างที่เจ้าตัวบอกไว้

ถ้ายึดกรอบร่างรัฐธรรมนูญตามมาตราดังว่า นั่นก็เท่ากับผลที่ออกมาย่อมไม่แตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด โดยเฉพาะการชูประเด็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือคปป. ถ้าจะต้องเดินหน้ามีชัยคงไม่ดึงเชือกให้ตึงพร้อมที่จะขาดผึงเหมือน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จนถูกคว่ำในชั้นสปช.

ระดับปรมาจารย์ที่ขึ้นชื่อว่าเนติบริกรชั้นครู คงไม่ปล่อยให้ตัวเองพร้อมคณะเหาะเหินเกินลงกา นั่นหมายความว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่มีเดิมพันสูงเช่นนี้ ต้องไม่ใช่เพียงแค่ให้คสช.ยอมรับเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ทุกคนในประเทศรวมทั้งนานาชาติเข้าใจและคล้อยตามด้วย เว้นเสียแต่จะไม่สนใจเสียงนกเสียงกา ทำให้เป็นปัญหาเพื่อการอยู่ยาว

โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายกว่าคราวร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคว่ำคือหนนี้ร่างแล้วจะต้องนำไปสู่กระบวนการทำประชามติ ถ้าคิดว่าเสียงของมวลมหาประชาชนที่ยืนเคียงข้างรัฐบาลคสช.จะเพียงพอ ก็ให้พึงสังวรไว้ว่า เสียงที่ต่อต้านก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน แล้วประเภทจะสร้างวาทกรรมให้รับไปก่อนเพื่อเลือกตั้งค่อยมาแก้ทีหลัง คงไม่มีประชาชนคนไหนหน้าโง่ให้หลอกได้เป็นหนที่สอง

ยิ่งจะไปใช้กลไกพิเศษทำสงครามโฆษณาชวนเชื่อ คงต้องไปถามหน่วยงานด้านความมั่นคงและสำนักข่าวกรองทั้งหลายว่า มันง่ายเหมือนสมัยที่ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวหรือไม่ คนไทยยุคดาวเทียมและการสื่อสารไร้พรมแดน วันนี้ทั่วทุกหัวระแหงรับรู้ข่าวสารรวดเร็วพร้อมๆกันคนเมืองหลวง มิหนำซ้ำ คนที่ติดตามข่าวสารอย่างเข้มข้น ยังรู้ลึกและรู้จริงกว่าคนกรุงที่เห่อเหิมตามกระแสเสียอีก

คลี่รายชื่อกรธ.ที่มองเหมือนว่ามีความหลากหลาย แต่ถ้าวัดหัวจิตหัวใจก็น่าจะเห็นว่าเป็นเช่นไร เช่นเดียวกับสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เอาเฉพาะกลุ่มที่มาจากอดีตสปช.ที่มีมากถึง 62 คน จะเห็นได้ว่า มาจากคนที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด 41 คน ตรงเป๊ะตามโผที่หลุดออกมาก่อนหน้านี้ ขณะที่คนซึ่งเห็นชอบได้เกินกว่าที่คาดคือ 20 คน และคนที่งดออกเสียงได้เข้ามาร่วม 1 คนนั่นก็คือ อำพล จินดาวัฒนะ

ตรงนี้มีนัยยะอย่างไร ด้านหนึ่งคือมองได้ว่ากรณีของคนที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นบทพิสูจน์ว่าที่ทำลงไปเพราะใบสั่งหรือยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพราะทั้งหมดจะไปปรากฏในท่วงทำนองของการนำเสนอความเห็นว่าด้วยการปฏิรูป ยึดกรอบของคนหมู่มากหรือทำเพื่อคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด สิ่งสำคัญที่จะสลัดพ้นการสร้างรัฐราชการได้หรือไม่

ต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากจำนวนของอดีตสปช.แล้ว ยังมีสัดส่วนของทหารและอดีตข้าราชการรวมทั้งข้าราชการที่ยังอยู่ในตำแหน่งเมื่อรวมกันแล้วมีเสียงเกินครึ่ง สามารถใช้เสียงข้างมากลงมติให้ผลเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามต้องการ ส่วนตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่เข้าไปคงเป็นได้แค่ไม้ประดับ ยิ่งบางคนเห็นดีเห็นงามกับคณะรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น ทุกอย่างจึงมีแต่ความสวยงาม

โดยเฉพาะตัวแทนจากม็อบกปปส. ขนาดร่างรัฐธรรมนูญที่คนเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตยยังหลับหูหลับตาเชียร์ ล่าสุดถึงขั้นยกย่องว่ามีชัยคือดีไซเนอร์ชั้นยอดที่ออกแบบรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นโอกาสดีในการวางรากฐานของการปฏิรูปประเทศไทยในอนาคต เป็นการพูดโดยไม่ดูปูมหลังว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมือของเนติบริกรใหญ่นั้นบางฉบับถึงขั้นทำให้คนไทยต้องเสียเลือดเนื้อกันทีเดียว

ปมว่าด้วยโครงการอินเทอร์เน็ตซิงเกิล เกตเวย์ ปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงขนาดไหน เห็นได้จากการออกมาให้ข่าวแทบจะรายวันของรัฐมนตรีในรัฐบาลทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง ถึงขนาด ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศต้องร่วมวงชี้แจงด้วยถือว่าไม่ธรรมดา แม้เวลานี้ปฏิกิริยาจากนานาชาติยังไม่มี ลองให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการแล้วเดินหน้าดูสิ จะได้รับรู้ว่าท่าทีของต่างประเทศนั่นเป็นอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีจำนวนไม่น้อยแสดงความเห็นห่วงว่า การใช้ระบบการสื่อสารช่องทางเดียวอาจจะส่งผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เพราะในระบบการสื่อสารช่องทางเดียวนี้ หากผู้มีอำนาจมีความประสงค์จะตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของทุกคนในประเทศ สามารถดำเนินการได้อย่างสบายๆและสามารถปิดกั้นข้อมูลต่างๆได้อย่างสะดวกโยธิน

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็คงต้องยกเอาคำพูดของ บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐอเมริกาที่กล่าวบนเวทีสหประชาชาติที่ผ่านมาช่วยย้ำเตือนความจำของผู้มีอำนาจอีกครั้งว่า “คุณขังฝ่ายตรงข้ามได้ แต่คุณขังความคิดเขาไม่ได้ คุณควบคุมการเข้าถึงข้อมูลได้ แต่คุณเปลี่ยนความเท็จให้เป็นความจริงไม่ได้” และ “รัฐบาลที่ปราบปรามคนที่แสดงความเห็นต่างอย่างสงบไม่ได้แสดงความเข้มแข็ง แต่กำลังแสดงความอ่อนแอ สุดท้ายรัฐบาลที่กลัวประชาชนของตนเองจะต้องพังทลายลงไปในที่สุด”

Back to top button