ราคา ‘น้ำมันพืช’ ร้อนฉ่า

ราคาอาหารโลกปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีในปีนี้  FAO เพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งในสามนับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว โดยเป็นเพราะราคาน้ำมันพืชพุ่งสูงขึ้น


ราคาอาหารโลกปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีในปีนี้  ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO  เพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งในสามนับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะ ราคาน้ำมันพืชพุ่งสูงขึ้น

ราคาน้ำมันพืชได้ปรับตัวขึ้น 80% นับตั้งแต่กลางปี 2563  และดัชนีน้ำมันพืชโลกของ FAO ปรับตัวขึ้น 91% นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่า จะสูงขึ้นอีกเมื่อมีการเปิดเศรษฐกิจใหม่หลังล็อกดาวน์ เพราะจะทำให้การบริโภคอาหารและเชื้อเพลิงที่มาจากพืชสูงขึ้น

แต่เหมือนบุญมีแต่กรรมบัง เกษตรกรตั้งแต่ปาล์มน้ำมัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมล็ดคาโนลาในแคนาดา ดอกทานตะวันในยูเครน จนถึงถั่วเหลืองในสหรัฐฯ กำลังพบกับอุปสรรคนานัปการ เช่น ขาดแคลนแรงงาน เกิดคลื่นความร้อน และมีศัตรูพืช  ซึ่งกำลังทำให้สต๊อกน้ำมันพืชโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลา และน้ำมันเมล็ดทานตะวัน อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบทศวรรษ

มาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับสองของโลกรองจากอินโดนีเซีย กำลังประสบกับปัญหาในการผลิตอย่างรุนแรง จนน่าจะทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มทั่วโลกลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบห้าปี

มาเลเซียส่งออกน้ำมันปาล์มประมาณ 33% ของการส่งออกทั่วโลก แต่ผลผลิตเฉลี่ยจากปาล์มในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ลดลงเหลือ 7.15 ตันต่อเฮกตาร์ จาก 7.85 ตันเมื่อหนึ่งปีก่อน และข้อมูลจากคณะกรรมการน้ำมันปาล์มของมาเลเซียชี้ว่า ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยเหลือ 1.41 ตันต่อเฮกตาร์ จาก 1.56 ตันในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สวนปาล์มน้ำมันหลายแห่งกำลังเก็บเกี่ยวโดยมีกำลังแรงงานเพียงสองในสามหรือต่ำกว่านั้น หลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียห้ามคนงานอพยพจากอินโดนีเซียและเอเชียใต้เข้าไปทำงาน เจ้าของสวนปาล์มหลายสิบรายโอดครวญว่า การขาดแคลนแรงงานบีบให้พวกเขาต้องยืดเวลาตัดปาล์มจาก 14 วันเป็น 40 วัน ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพของปาล์ม และเสี่ยงที่จะทำให้ปาล์มบางส่วนเสียหาย

มีรายงานว่าในรัฐซาราวัค บริษัทสวนปาล์มจำนวนหนึ่งตัดปาล์มลดลงประมาณ 50% เพราะไม่มีคนตัด และบางบริษัทกำลังเลื่อนปลูกปาล์มใหม่และปิดโรงอนุบาลเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เพื่อที่จะสับเปลี่ยนกำลังคน

ขณะเดียวกัน สวนปาล์มยังถูกบีบให้ขึ้นค่าแรงราว 10% เพื่อรักษาคนงานเอาไว้ เพราะว่าการมีแรงงานมาดูแลสวนน้อย มันหมายถึงว่าจะมีศัตรูพืช เช่น หนู มอด และหนอนปลอก มากขึ้น

ปัญหาในมาเลเซียเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความยุ่งยากที่ผู้ผลิตน้ำมันพืชหลาย ๆ ชนิดในหลายทวีปกำลังเผชิญ ในขณะที่ดีมานด์กำลังแข็งแกร่ง

แม้ว่าอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานเหมือนกับมาเลเซีย และคาดว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องจากมีการปลูกปาล์มมากขึ้น แต่โรงงานหีบปาล์มก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิดเช่นกัน

ผลการวิจัยโภคภัณฑ์ของรีฟินิทีฟชี้ว่า น้ำมันปาล์มในปีนี้ทั้งหมดจากอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 90% ของน้ำมันปาล์มทั่วโลก จะอยู่ที่ประมาณ 66.2 ล้านตัน ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าจะลดลงมากกว่านี้อีก หากการขาดแคลนแรงงานและศัตรูพืชเลวร้ายลงไปอีก

ในขณะเดียวกัน เกษตรกรในภาคกลางของแคนาดากำลังเผชิญกับภาวะดินแห้งเลวร้ายสุดในรอบหนึ่งร้อยปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ส่งผลให้ตราสารเมล็ดคาโนลาสูงสุดตลอดกาลในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม  และคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในบริเวณทุ่งหญ้าของแคนาดาเมื่อเดือนกรกฎาคม ทำให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ต้องลดประมาณการผลผลิตคาโนลาลงประมาณ 4.2 ล้านตัน โดยเหลือ 16 ล้านตัน ต่ำสุดนับตั้งแต่ฤดูกาล  2012-2013

ผู้ปลูกถั่วเหลืองในสหรัฐฯ ก็ประสบปัญหาความแห้งแล้ง กระทรวงเกษตรลดประมาณการการผลิตจากเดือนก่อนหน้า ประมาณ 1.8 ล้านตันในเดือนสิงหาคม และปัญหานี้คาดว่าจะทำให้สต๊อกน้ำมันถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบ 8 ปี และการส่งออกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ จะต่ำสุดในรอบทศวรรษ

แม้คาดว่าการเพาะปลูกถั่วเหลืองในบราซิลจะทำสถิติสูงสุด 144.06 ล้านตันในฤดูกาล 2020/21 และ ผู้ผลิตเมล็ดทานตะวันในยูเครน จะเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 18% หลังจากที่เกิดความแห้งแล้งในปี 2563 แต่แนวโน้มการผลิตน้ำมันพืชโดยรวมยังคงต่ำและสต๊อกน่าจะตึงตัวเพิ่มอีก ซึ่งจะทำให้ตลาดน้ำมันพืชตึงตัวไปจนถึงปีหน้า และจะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อเมื่อมีการปรับขึ้นราคา

คนที่น่าจะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันพืช น่าจะเป็นโรงงานผลิตน้ำมันเมื่อมีการปรับราคาขึ้น แต่เกษตรกรที่ปลูกพืชน้ำมันไม่น่าจะได้รับอานิสงส์มาก เพราะปัญหารุมเร้าดังที่ได้ว่ามา และคนที่จะรับกรรมมากที่สุด คือผู้บริโภคที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิดอยู่แล้ว การดีดตัวของราคาน้ำมันพืช คงจะสร้างความลำบากให้มากขึ้นไปอีก เพราะน้ำมันพืช มีความสำคัญต่อการปรุงอาหาร และใช้เป็นไขมันในสินค้าหลัก ๆ ในชีวิตประจำวันหลายอย่างมาก

Back to top button