BAM โบรกฯ มองผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

ผลการดำเนินงานของ BAM ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ทำให้ทางบริษัทหันไปตั้งการติดตามหนี้ให้เพิ่มขึ้น ด้วยการมุ่งขาย NPA ที่มีมาร์จิ้นสูง


คอลัมน์คุณค่าบริษัท 

มีการวิเคราะห์กันว่า ผลการดำเนินงานของ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่แสดงว่าธุรกิจของบริษัทกำลังฟื้นตัวขึ้น ทั้งอัตราการเติบโตของกำไร และยอดติดตามหนี้ที่ออกมาน่าผิดหวังในปี 2563 ทำให้ทางบริษัทหันไปตั้งการติดตามหนี้ให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 จาก 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ด้วยการมุ่งขาย NPA ที่มีมาร์จิ้นสูง

แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจะยากลำบากมาก แต่จนถึงในขณะนี้ทั้งยอดติดตามหนี้ รายได้และกำไรยังเป็นไปตามเป้า โดยยอดติดตามหนี้ในครึ่งแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 7.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และบริษัทคาดว่าตัวเลขจะทรงตัวในไตรมาส 3 ปี 2564 ก่อนที่จะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ปี 2564 เนื่องจากมีดีลขาย NPA ในมือหลายดีลที่จะได้ข้อสรุปไตรมาส 4 ปี 2564

นอกจากนี้ ทาง BAM เตรียมจะเข้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และจะซื้อเพิ่มอีกปีละ 5-10% ต่อในปี 2565-2566 เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตระยะยาว ทั้งนี้บริษัทมีเงินสดในมือ 4.5 พันล้านบาท และจะมีเงินสดจากการติดตามหนี้ได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งบริษัทจะใช้เงินสดก้อนนี้ซื้อสินทรัพย์ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ส่วนของ D/E ทางนักวิเคราะห์ยังคงไว้ที่ประมาณ 1.9-2.0 เท่า ในปีนี้และอนาคต 2-3 ปี

ขณะเดียวกัน BAM เผยว่าแผนการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมพานี และตั้งจอยเวนเจอร์ร่วมกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อบริษัทพอร์ต NPA มีความคืบหน้า ซึ่งทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการซื้อ และบริหารหนี้เสีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกำไร โดยโครงสร้างของบริษัทใหม่อาจจะทำให้ BAM สามารถแยกงบดุลออกจากงบรวมของบริษัท และรับรู้รายได้ในรูปส่วนแบ่งกำไรจากจอยเวนเจอร์แทน

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2,853.33 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 2,118.99 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 790.21 ล้านบาท หรือ 0.24 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 109.83 ล้านบาท หรือ 0.03 บาทต่อหุ้น จะเห็นได้ว่าการขายทรัพย์ NPAs มีแนวโน้มดีขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์ Pricing Strategy และ Promotions ผ่านช่องทางการขายออนไลน์

ขณะที่ ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5,017.87 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 4,859.78 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,037.27 ล้านบาท หรือ 0.32 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 774.43 ล้านบาท หรือ 0.24 บาทต่อหุ้น สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี ทางบล.เคจีไอ มองว่าการที่ธนาคารต่าง ๆ มีแนวโน้มจะเทขาย NPL ก้อนใหญ่ออกมาหลังจากที่กลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ทำให้ธุรกิจ AMC มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในครึ่งหลังของปี 2564 ถึงปี 2565 ในแง่ของการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และรายได้จากการติดตามหนี้

นอกจากนั้น มองว่าปัจจัยที่จะขับเคลื่อน BAM ในระยะสั้น จะมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี 2564 และความคืบหน้าของการผนึกพันธมิตรผ่านจอยเวนเจอร์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้น และยังมีส่วนช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวอีกด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากราคาหุ้น BAM ถูกมาก โดยทั้ง P/E และ P/BV ยังมี discount จากหุ้นอื่นในกลุ่มอีกมากกว่าหรือเท่ากับ 60% ดังนั้นจึงปรับเพิ่มคำแนะนำจากถือเป็น “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 22.00 บาท

….

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1,480,000,000 หุ้น 45.79%
  2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 139,986,682 หุ้น 4.33%
  3. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 64,616,125 หุ้น 2.00%
  4. กองทุนเปิด เค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล 34,881,300 หุ้น 1.08%
  5. นายนเรศ งามอภิชน 31,300,000 หุ้น 0.97%

รายชื่อกรรมการ

  1. นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ
  2. นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร, รองประธานกรรมการบริษัท
  3. นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  4. นายสมพร มูลศรีแก้ว ผู้จัดการใหญ่
  5. น.ส.วิไล ตันตินันท์ธนา กรรมการ

Back to top button