STEC จากดีลดันสู่ดีลดับ.!

จากดีลดันกลายเป็นดีลดับซะงั้น..!! กรณีมติผู้ถือหุ้น STEC ไฟเขียวให้เข้าซื้อกิจการ STIT ซึ่งเป็นผู้จัดหาและจำหน่ายเครื่องจักร


จากดีลดันกลายเป็นดีลดับซะงั้น..!! กรณีมติผู้ถือหุ้นบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ไฟเขียวให้เข้าซื้อกิจการบริษัท เอส ที ไอ ที จำกัด (STIT) ซึ่งเป็นผู้จัดหาและจำหน่ายเครื่องจักร เครื่องมือก่อสร้าง จากบริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI รวมมูลค่า 693.53 ล้านบาท

แต่รอแล้วรอเล่า…ผ่านมาเกือบ 1 ปี ดีลนี้กลับเงียบเป็นเป่าสาก…ร้อนถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้ง 2 บริษัทต้องออกมาทวงถามถึงความคืบหน้าดังกล่าว…

จะว่าไปเคสนี้ถือเป็นบทเรียนการลงทุนที่น่าศึกษา…เพราะจากมติดังกล่าว ทำให้ก่อนหน้านี้เกิดกระแสเข้ามาเก็งกำไรทั้งในหุ้น STEC และ STPI กันคึกคัก…

ในมุมของ STPI คาดหวังจะได้ขายสินทรัพย์ ก็จะมีกำไรพิเศษเข้ามา…ผลพลอยได้ที่ตามมาอาจมีปันผลพิเศษ..!!

ส่วน STEC ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำรับเหมาก่อสร้าง เดิมต้องไปเช่าเครื่องจักรจาก STPI…ดังนั้น การได้บริษัทจัดหาเครื่องจักร เครื่องมือก่อสร้างเข้ามา ก็จะทำให้ต้นทุนลดลง ช่วยเสริมความแข็งแกร่งของบริษัท…

คล้ายกับกรณีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ไปซื้อบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL มาจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM นั่นแหละ…แม้จะเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ตอนนั้นธุรกิจของ ADVANC ผนวกกับ CSL พอไปอยู่ภายใต้ THCOM ทำให้มีความยุ่งยากในการ Synergy ธุรกิจร่วมกัน… ADVANC ก็เลยซื้อ CSL ซะเลย เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น…

เฉกเช่นเดียวกัน หาก STEC ได้เอส ที ไอ ที มา…ก็ถูกมองว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท…

เป็นดีลที่ถูกคาดหวังจากผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้ง 2 บริษัท จึงเข้ามาเก็งกำไรกัน…

สำหรับตัวบริษัท อย่าง STEC ในแง่ของการบริหารจัดการก็คล่องตัวขึ้น เป็นการกระชับการบริหารจัดการ ส่วน STPI ด้วยเป็นธุรกิจรับเหมาฯ เฉพาะทาง การขายกิจการเครื่องจักร เครื่องมือก่อสร้างให้กับ STEC น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ก็ถือเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจให้คล่องตัวขึ้น

เลยเป็นที่มาของมติผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 ฝ่าย…

แต่ก็มีเงื่อนไขเปิดช่องไว้ว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลง…“เนื่องจากมีมติมอบอำนาจให้ “ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ มีอำนาจในการเข้าทำการตกลง การลงนาม หรือการแก้ไขเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการใด ๆ ตามที่เห็นสมควร

ผ่านมาเกือบ 1 ปี ผู้ถือหุ้นอนุมัติแล้ว แต่ดีลไม่เกิด ก็ต้องทวงถาม เนื่องจากลงทุนไปแล้ว แต่กลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นกับบริษัท ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะทวงถาม ถือเป็นเรื่องปกติ

มุมของบริษัทก็ควรชี้แจงถึงความคืบหน้าของดีลเป็นระยะ ๆ ไม่ใช่ทำเนียน จนผู้ถือหุ้นต้องออกมาโวยอย่างนี้…

ล่าสุดก็ชัดแล้ว บอร์ด STEC แจ้งยกเลิกดีลซื้อเอส ที ไอ ทีแล้ว…โดยอ้างผลกระทบจากโควิดทำให้ผลตอบแทนจากเดิมเคยประเมินอยู่ที่ 16.53% ลดฮวบเหลือแค่ 0.16% เท่านั้น (ตามที่ STEC กล่าวอ้าง) จึงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

โอเค…เหตุผลของบอร์ด STEC ถ้าหลับตาข้างหนึ่ง ก็พอรับฟังได้อะนะ…ด้วยสถานการณ์โควิด ต้องปิดแคมป์คนงาน งานก่อสร้างหยุดชะงัก ทรัพย์สินของเอส ที ไอ ทีไม่ถูกใช้งาน ก็ต้องมีการตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์…แต่ช้าแต่ โควิดเกิดมาพักใหญ่แล้วนะ ก่อนจะมีดีลนี้ บอร์ด STEC ไม่มีการประเมินความเสี่ยงไว้เลยเหรอ…แล้วอยู่ ๆ ก็เพิ่งมาประกาศล้มดีลซะงั้น…มันชักยังไง ๆ นะเนี่ย

เอาเป็นว่า จะมีกระบวนการพิเศษอะไรหรือเปล่าที่ทำให้จาก “ดีลดัน” กลายเป็น “ดีลดับ”…อันนี้ไม่รู้

แต่เรื่องนี้เป็นบทเรียนสำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือนักลงทุนให้พึงระลึกไว้เสมอว่า ทุกดีลมีความเสี่ยง..!! ซึ่งกรณีนี้ถ้าฟ้องร้องก็ต้องไปสู้กันในแง่ของกฎหมาย เพราะมติผู้ถือหุ้นในวันนี้ให้สิทธิกรรมการผู้จัดการสามารถแก้ไข และดำเนินการใด ๆ ตามที่เห็นสมควรได้…ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ต้องดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตีความอย่างไร..?

ส่วนมุมของบริษัท ถ้าเงียบเกินไป ก็จะนำมาซึ่งการฟ้องร้องดำเนินคดีจากผู้ถือหุ้นเอาได้

เอาล่ะ…เรื่องนี้จะจบยังไงไม่รู้…แต่ชื่อบริษัท ซี.เจ มอร์แกน จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงินที่ STEC จ้างมาประเมินผลความคุ้มค่าของดีลนี้ คุ้น ๆ…ของใครน้า..ว่าป๊ะล่ะ

…อิ อิ อิ…

Back to top button