POMPUI กรณีศึกษาธรรมาภิบาลแฉทุกวันทันเกมหุ้น

บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ POMPUI ที่กำลังอยู่ในบัญชีบริษัทที่ต้องฟื้นฟูกิจการ และหยุดการซื้อขายในตลาดมายาวนาน นับเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อวานนี้


บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ POMPUI ที่กำลังอยู่ในบัญชีบริษัทที่ต้องฟื้นฟูกิจการ และหยุดการซื้อขายในตลาดมายาวนาน นับเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อวานนี้

นายสลิล โตทับเที่ยง กรรมการคนหนึ่งของ POMPUI ในฐานะตัวแทนของพี่น้องตระกูล โตทับเที่ยง ซึ่งร่วมถือหุ้นในบริษัทแม่ของ POMPUI คือบริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ได้หอบหนังสือหลักฐานเข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินการเบื้องต้นเรียกค่าเสียหายจากนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท 100 ล้านบาท

ข้อกล่าวหาคือ “บริหารงานโดยไม่สุจริตหลายครั้ง

สำหรับนิติบุคคล หรือ บริษัทจำกัดเอกชนทั่วไป ข้อกล่าวหาดังกล่าว อาจจะถือเป็นเรื่องไม่ผิดปกติ เพราะสามารถว่าไปตามกระบวนพิจารณาคดีความกันตามกฎหมาย แต่ข้อกล่าวหาในกรณีบริษัทมหาชนจดทะเบียนเช่นนี้ เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง เพราะเท่ากับเข้าข่ายว่าผู้ถูกกล่าวหา สอบตกในเรื่องคะแนนธรรมาภิบาลหรือ CG อย่างจังเบอร์

ศาลรับฟ้องเมื่อใด นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง คงจะต้องหลุดจากทุกตำแหน่งใน POMPUI โดยปริยาย ตามกติกา แต่ก่อนถึงจุดนั้น ต้องพิสูจน์ว่า หากมีการทุจริต ทำไมผู้ตรวจสอบบัญชีผ่านให้ตลอด เป็นโจทย์ที่ไม่อาจซี้ซั้วเชื่อ

ความจริงแล้วเรื่องราวข้อพิพาทระหว่างพี่น้องตระกูล โตทับเที่ยง นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเป็นข่าวใหญ่ในสื่อจำนวนมาก แต่ละฝ่ายของคู่กรณีก็นำเหตุผลมาโจมตีอีกฝ่าย และ ป้องกันตัวเองเต็มที่ ถือเป็นศึกสายเลือดที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ระดับ ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของ จังหวัดตรัง ที่เป็นรากฐานของธุรกิจตระกูลนี้มายาวนาน 2 ชั่วอายุคน นับแต่ยุคผู้ก่อตั้ง นายโต๋ว ง่วนเตียว และนางยิ่ง โตทับเที่ยง ผู้วางรากฐานให้ลูกจนเป็นกลุ่มทุนใหญ่ของจังหวัด ก่อนที่จะขยายตัวแพร่ชื่อไปทั่ว กับแบรนด์ปลากระป๋อง ปลายิ้ม ที่นายสุรินทร์เสมือนหนึ่งเป็น “ตัวเปิด” ของคนในตระกูล

ความขัดแย้งที่บานปลายจากเรื่องของผลประโยชน์และอารมณ์คนในธุรกิจครอบครัว ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่เรื่องสุดท้าย แต่กรณี POMPUI ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่ฐานะของครอบครัวที่เคยมั่งคั่ง ทรุดหนักลงไปถึงจุดต่ำสุด จากวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่เกิดในช่วงที่ธุรกิจกำลังฟื้นตัวกลับมาอย่างช้าๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่พวกพี่น้องในตระกูลยังเชื่อว่าเป็นธุรกิจส่วนตัว คือ POMPUI ทั้งที่โดยนิตินัยแล้ว บริษัทดังกล่าวได้แปลงฐานะเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนไปนานแล้ว

ฐานะของ POMPUI ที่เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียน เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเข้าเทรดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2538 ซึ่งวันที่เข้าเทรดวันแรก ราคาหุ้นเคยสูงสุดของวันมากถึง 64 บาท จากราคาพาร์ 10 บาท

ราคาหุ้นของ POMPUI ก็กลับร่วงลงต่อเนื่องหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่ระดับ 3 บาท จนถึงปี 2546 ที่ได้รับอานิสงส์จากการวิ่งขึ้นของดัชนีตลาด จึงวิ่งแรงใหม่ ขึ้นมาถึง 17.60 บาท ทั้งที่ยังมีขาดทุนสะสมบานเบอะ

ท้ายสุด เมื่อราคาหุ้นร่วงลงอีก พร้อมกับฐานการเงินย่ำแย่ จนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ POMPUI จึงขอเข้ารับความช่วยเหลือผ่านกฎหมายล้มละลาย เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้

ก่อนที่จะหยุดซื้อขายเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ราคาปิดสุดท้ายของราคา POMPUI อยู่ที่ระดับ 2.16 บาท และหยุดซื้อขายจนถึงปัจจุบัน(ดูกราฟประกอบ)

แม้จะหยุดเทรดไปยาวนานเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ POMPUI ก็ยังคงรายงานงบการเงินต่อตลาดและนักลงทุนต่อไป โดยที่ยังคงมีรายได้จากผลประกอบการต่อเนื่อง ระหว่างปีละ 1,200-1,500 ล้านบาท โดยมีกำไรสลับขาดทุน แต่ผลประกอบการงวดครึ่งแรกของปีนี้ มีรายได้ประมาณ 617.62 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 23.20 ล้านบาท หรือกำไรต่อหุ้น 0.62 ล้านบาท แต่ยังมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบอยู่เล็กน้อย 272 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน ทำให้ยากที่จะมีคำตอบว่าจะกลับมาเทรดเมื่อใด โดยไม่ต้องพูดถึงการจ่ายปันผล เพราะยังมีตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่

เรื่องในครอบครัวที่บานปลายเป็นการฟ้องร้อง ไม่ว่าใครจะถูกหรือผิดเช่นนี้ เป็นมากกว่า “สงครามบอร์ดรูม” ธรรมดา แต่เข้าข่ายแผ่รังสีอำมหิตเพื่อ “ล้มกระดาน” ที่ทำให้โอกาส POMPUI ซึ่งอยู่ในข่ายบริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนระยะที่ 3 เป็นไปได้ง่ายขึ้น

เมื่อนั้น หายนะจะมาเยือนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ถือหุ้นนอกตระกูลโตทับเที่ยงด้วย..

ถึงวันนั้น อยากจะถามว่า…เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง???!!!..ก็คงสายเสียแล้ว

 

Back to top button