พาราสาวะถี

คาร์ม็อบภายใต้ชื่อ “ขับรถยนต์ชนรถถัง #15ปีแล้วนะไอ้สัส” ต้องการที่จะเน้นย้ำให้เห็นว่ารัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจในปัจจุบัน เป็นเรื่องเดียวกัน


ผ่านพ้นไปสำหรับคาร์ม็อบภายใต้ชื่อ “ขับรถยนต์ชนรถถัง #15ปีแล้วนะไอ้สัส” ภายใต้การนำของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งณัฐวุฒิอธิบายว่าม็อบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อรำลึกถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เท่านั้น แต่ต้องการที่จะเน้นย้ำให้เห็นว่ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการสืบทอดอำนาจโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน เป็นเรื่องเดียวกัน คิดแยกส่วนไม่ได้ มองตัดตอนก็ไม่ได้

การรัฐประหารทั้งสองครั้ง เกิดขึ้นจากขบวนการอำนาจนอกระบบ ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้ง แล้วตีกรอบอำนาจอธิปไตยของประชาชนให้เป็นไปตามที่ต้องการ ดังนั้น การที่จะรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวจึงหมายถึงการแสดงการไม่ยอมรับ ต่อต้าน ขับไล่ที่กำลังดำเนินไปอยู่ในเวลานี้ แผนประทุษกรรมในการรัฐประหาร เป็นการทำซ้ำซากแบบเดียวกัน ทั้งรัฐประหาร ปี 49 และ 57 เริ่มต้นด้วยการที่มีประชาชนชุมนุมขับไล่ รัฐบาลเวลานั้นประกาศยุบสภา ประชาธิปัตย์แกนนำฝ่ายค้านบอยคอตไม่ลงสมัครเลือกตั้ง

ตามมาด้วยกระบวนการขัดขวางการเลือกตั้ง ในที่สุดการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งมีคำวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ มีข้อเรียกร้องนอกรัฐธรรมนูญ นำไปสู่ทางตันทางการเมือง กรณีที่ณัฐวุฒิได้อธิบายนั้น ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้สัมภาษณ์ทางเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเป็นความเห็นทางวิชาการที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเริ่มต้นด้วยการมีมุมมองต่อการรัฐประหารปี 2549 ที่ถูกเรียกว่า “รัฐประหารหน่อมแน้ม” เป็นเพียงรัฐประหารนำร่อง

หลังจากที่กองทัพหลุดออกจากการเมืองไป 15 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แล้วก็มาทำการรัฐประหารซ้ำในปี 2557 ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2500 เพราะมันคือการรัฐประหารที่มีเป้าประสงค์คือทำลายพรรคการเมืองและนักการเมืองก่อน เพียงแต่ว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2549 มันไม่สามารถทำได้รวดเร็วคือการยึดอำนาจอีกกระทอกภายใน 1 ปี มันจึงยืดออกมาแล้วทำซ้ำหลังจากเวลาผ่านไปไม่ถึง 8 ปี

ถ้าเรามองเห็นโมเดลอย่างนี้ รัฐประหารปี 2549 กับ 2557 มันคือการรัฐประหารปี 2500 และปี 2501 คือรัฐประหารเพื่อทำลาย สิ่งที่รัฐประหารมันคิดค้นขึ้นมาและใช้อย่างมหัศจรรย์มากคือ การทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ประเทศอะไรสามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ถึง 2 ครั้ง โดยที่ไม่มีความทรงจำในหมู่ของประชาชนเลย การทำให้การเลือกตั้งโมฆะก็คือการทำให้ฐานของความชอบธรรมของอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั้นสลายตัว

ดังนั้น การรัฐประหารปี 2549 คือการรัฐประหารที่ฝ่ายรัฐทหารศักดินาอัพเกรดวิธีการรัฐประหารจากยุคของจอมพลสฤษดิ์ จากการรัฐประหารแล้วเลือกตั้งสกปรกมาเป็นเลือกตั้งโมฆะ ในหน้าประวัติศาสตร์การเลือกตั้งโมฆะ 2 ครั้งมันต้องถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่มาก แต่มันทำให้ความทรงจำต่อสังคมเฉยเมยต่อเรื่องนี้ เพราะมันคือเครื่องมือของรัฐทหารศักดินาในการทำลายรากฐานอำนาจอันสูงสุดของประชาชนลงไปอย่างสิ้นซาก ประชาชนแทบไม่มีความทรงจำต่อกรณีนี้

สิ่งที่น่าสนใจจากความเห็นของธำรงศักดิ์กับมุมมองต่อขบวนการสืบทอดอำนาจก็คือ รัฐทหารศักดินาปรับตัว เรียนรู้ว่าการที่จะรัฐประหารสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเพียงการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการแค่มีข้ออ้างที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์ที่มันมีวิกฤติอยู่ทุกขณะ พูดง่ายๆ ข้ออ้างนี้เก็บตามรายทางได้ เพราะสังคมจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา

สิ่งหนึ่งที่รัฐประหารศักดินาเรียนรู้คือต้องมีฐานพลังมวลชนของตนเอง ฐานพลังมวลชนไม่ใช่เป็นฐานพลังมวลชนแบบแบบกลุ่มเล็ก ๆ ที่เน้นใช้ความรุนแรงหรือใช้การจัดตั้งโดยหน่วยงานราชการแบบเดิมในยุค 6 ตุลาฯ 19 อีกต่อไป แต่เป็นฐานพลังมวลชนแบบพรรคการเมือง แบบพลังมวลชนที่เคลื่อนไหวบนท้องถนน เป็นพลังมวลชนที่มาจากกระแสการสร้างศรัทธาไม่ว่ากระแสนั้นจะเกิดจากปัจจัยอะไรก็ตาม กระบวนการปั่นศรัทธา กระบวนการทำให้ศรัทธาอย่างจริงจัง หรือกระบวนการฝังศรัทธาความเชื่อที่ต่อเนื่องกันมา

สิ่งที่รัฐทหารศักดินาเพาะบ่มสั่งสมมันก่อให้เกิดการปรากฎของมวลชนบนท้องถนน ซึ่งตรงนี้เองการรัฐประหารปี 49 จึงเป็นการรัฐประหารที่ใช้พลังมวลชนบนท้องถนนราชดำเนินเหมือนกับพฤษภาฯ 35 เหมือนกับ 14 ตุลาฯ 16 แต่เพียงเป็นมวลชนผู้ถูกจัดตั้งบนฐานอุดมการณ์ชุดหนึ่งเพื่อพิทักษ์รัฐทหารศักดินา กำจัดพรรคการเมือง นักการเมืองผู้ที่อยู่ตรงกันข้าม ดังนั้น มวลชนยังอยู่แต่มวลชนถูกใช้เพื่อเป็นพลังฐานของการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนว่ารัฐประหารเกิดจากพลังมวลชน

อย่างไรก็ตาม บริบทของการต่อสู้ในรูปแบบเดิมของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยถูกหักล้างลงไปตั้งแต่การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา หากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 มาช่วยชีวิตไว้ก่อน ก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของผู้เผด็จการสืบทอดอำนาจจะจบลงแบบไหน จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะพลิกเกมอย่างไร ใช้มวลชนจัดตั้งที่คิดว่ามีแน่นหนา บวกกับการใช้ข้อกฎหมายสารพัดเล่นงานแต่ม็อบคนหนุ่มสาวกลับไม่แผ่ว

ด้วยเหตุนี้ในความเห็นของธำรงศักดิ์จึงมองว่า คนรุ่นตนไม่เคยตั้งคำถามว่ามันจะจบที่รุ่นเรา รุ่นตนตั้งคำถามแค่ว่าชีวิตมันจะดีขึ้นกว่านี้ไหม แต่กลายเป็นว่ารุ่นที่มาจากข้างหลังเราอีก 20 ปี 30 ปีต่อมา “คำถามว่ามันจะจบที่รุ่นเราไหม คุณช็อคเลยไหม” แค่คำถามนี้ขึ้นมามันก็เปลี่ยนแล้ว สังคมไม่ใช่แบบเดิมอีกแล้ว มีความหวังไหม ตนมองว่ามี ยังมีความหวังเสมอว่าคนไทยอยู่บนพื้นแผ่นดินนี้จะมีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น มีเสรีภาพมากยิ่งขึ้น

Back to top button