Bitkub สู่บทบาทสตาร์ทอัพโลก

“สตาร์ทอัพสัญชาติไทย” นำร่องก้าวสู่ระดับ Unicorn เป็นรายแรก นั่นคือธุรกิจแฟลช ผู้ให้บริการ E-commerce สัญชาติไทยแบบครบวงจร


หลัง “สตาร์ทอัพสัญชาติไทย” นำร่องก้าวสู่ระดับ Unicorn เป็นรายแรก นั่นคือธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการ E-commerce สัญชาติไทยแบบครบวงจร หรือรู้จักในนาม Flash Express ก่อตั้งโดย “คมสันต์ ลี” หลังปิดดีลใหญ่จากการระดมทุน โดยมีกลุ่ม Buer Capital Limited และ SCB 10X ร่วมทุน ตามด้วยผู้ลงทุนเดิมอย่าง eWTP, บริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, บริษัท เดอเบล จำกัด (Durbell) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP, บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในเครือกรุงศรีกรุ๊ป ช่วงปลายเดือนพ.ค .64

ช่วงปลายก.ย.ที่ผ่านมา แจ้งเกิด Unicorn รายที่สองตามมาคือ Ascend Money (บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด) สตาร์ทอัพฟินเทคในกลุ่ม Ascend Group ในเครือซีพี.กรุ๊ป เจ้าของ E-Wallet ที่รู้จักกันในนาม True Money ก่อตั้งโดยศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE หลังได้รับเงินทุนมูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Ascend Money ร่วมกับ Bow Wave Capital Management และ Ant Group มีบทบาทผลักดัน True Money เติบโตอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ

ล่าสุด 2.พ.ย. 64 แจ้งเกิด Unicorn รายที่สามนั่นคือ Bitkub (บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด) ในเครือบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป ก่อตั้งโดย “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” เจ้าของฉายา “ท๊อป บิทคับ” ที่รู้จักในแวดวงตลาดคริปโทฯ นั่นเอง หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เข้าซื้อหุ้น Bitkub สัดส่วน 51% จากบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป มูลค่ากว่า 17,850 ล้านบาท ส่งผลให้ Bitkub มูลค่าเพิ่มเป็นกว่า 35,000 ล้านบาท กลายเป็น Unicorn รายที่สามทันที

จุดที่น่าสนใจ Bitkub แจ้งเกิดขึ้นพร้อมกับกระแสการเปลี่ยนผ่านจากโลกการเงินแห่งความเป็นจริงสู่โลกการเงินดิจิทัล ทำให้ใช้เวลาเพียง 3-4 ปี จากบริษัทที่เคยขาดทุน 37 ล้านบาท สู่บริษัทที่มีรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท กำไร 1,500 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นส่งนแบ่งการตลาดกว่า 92%

จากจุดเริ่มต้นที่มีพนักงานชื่อ “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” เป็น CEO เพียงคนเดียว จนก้าวสู่บริษัทที่ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่มีพนักงานกว่า 1,400 คน

โดย Unicorn หมายถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่ต่ำกว่า 31,000 ล้านบาท) สตาร์ตอัพที่มีชื่อเสียงใน Sillicon Valley ประเทศสหรัฐ อย่าง Uber, Airbnb หรือ Snapchat และปัจจุบันมีสตาร์ทอัพจากจีน อย่าง Xiaomi หรือ Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันรายใหญ่ของจีน ที่ก้าวข้ามความเป็น Unicorn มาแล้ว

ระดับชั้น “สตาร์ทอัพ” มีอยู่ 5 ระดับ เริ่มต้นจากระดับ My Little Pony (มายลิตเติ้ลโพนี่) คือ สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ระดับ Centaur (เซนทอร์) คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ระดับ Unicorn (ยูนิคอร์น) คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ระดับ Decacorn (เดเคคอร์น) คือ สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และระดับ Hectocorn (เฮกโตคอร์น) คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในภูมิภาคเอเชีย สตาร์ทอัพระดับ Unicorn ที่มีบทบาทโลดแล่นทั่วโลก อย่างสตาร์ทอัพจากจีน อาทิ ByteDance บริษัทแม่ของแอปพลิเคชันยอดฮิตคือ TikTok ส่วนอินเดียมีมากถึง 5 แห่ง อาทิ Flipkart, Ola Cabs และ Paytm ส่วนเกาหลีใต้ มีจำนวนถึง 12 แห่ง ส่วนแถบอาเซียน สตาร์ทอัพที่เป็น Unicorn มักอยู่ในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ Grab บริการขนส่งอาหาร และพัสดุ และ Gojek แพลตฟอร์มเรียกรถและ E-Commerce แบบครบวงจร

การก้าวสู่ Unicorn ของ Bitkub กลายเป็นแรงจูงใจให้สตาร์ทอัพต่าง ๆ ต้องมีการพัฒนาตัวเอง เพื่อไปสู่เป้าหมายหอคอย Unicorn ดังกล่าว ที่สำคัญ Bitkub กลายเป็นสะพานเชื่อมและผสมผสานระหว่างกลุ่มคน Gen เก่าในธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เข้ากับ Gen ใหม่ อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว…

Back to top button