DELTA หลุด SET50 แน่

การปรับเกณฑ์ (ใหม่) นำหุ้นเข้าคำนวณดัชนี (SET50–SET100) ของตลาดหลักทรัพย์ฯจุดเริ่มต้นมาจากต้องการ “จำกัด” การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น DELTA


ต้องยอมรับกันว่าการปรับเกณฑ์ (ใหม่) นำหุ้นเข้าคำนวณดัชนี (SET50–SET100) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

จุดเริ่มต้นมาจากต้องการ “จำกัด” การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น DELTA บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

เดลต้าฯ เป็นหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50

มูลค่าหลักทรัพย์ หรือมาร์เก็ตแคปค่อนข้างสูง

ประกอบกับฟรีโฟลตต่ำ ทำให้สามารถเสมือนกดรีโมท หรือควบคุมการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้ค่อนข้างง่าย

การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเดลต้าฯ จะมีผลต่อดัชนี SET50

และแน่นอนส่งผลไปยัง SET50 Index Futures เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีดัชนี SET50 เป็นสินค้าอ้างอิง

แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว

เมื่อต้องการที่จะเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าว

ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เลยถือโอกาสปรับเกณฑ์การพิจารณา เพื่อให้สะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ให้ดีขึ้น

และที่สำคัญคือ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ผลการทำเฮียริ่ง หรือเปิดรับฟังการแสดงความคิดเห็นจากบุคคลในวงการตลาดทุน

ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการนำมาตรการกำกับการซื้อขายหรือแคชบาลานซ์มาพิจารณา ร่วมเกณฑ์สภาพคล่อง

ส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการนำ Free Float Adjusted Market Cap มาปรับน้ำหนักของหุ้นในดัชนี เพื่อให้ได้ Index Fund ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่เกณฑ์เรื่องฟรีโฟลตมีคำแนะนำเพิ่มเติม เช่น

1.ควรศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของนิยาม Strategic Partner เพื่อให้สัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) สามารถนำมาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณเพื่อให้น้ำหนักของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีมีความเหมาะสมและสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ (Investable) ของหุ้นได้ดียิ่งขึ้น โดยอาจเสนอให้พิจารณาประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติม เช่น

  • ควรปรับปรุงข้อมูลสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) ให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน และควรเปิดเผย ข้อมูล Free Float ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี
  • ควรตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นผ่าน Nominees ของ Strategic partner เพื่อให้ได้ข้อมูล Free Float ที่ ถูกต้อง
  • ควรพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนเกินร้อยละ 2 และไม่มีการเคลื่อนไหวเกินกว่า 2 ปี ให้เป็น Strategic partner
  • ควรมีการกำหนดเพดาน (cap) สำหรับการปรับเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุนจากส่วนของ Free Float adjusted เพื่อลดผลกระทบจากการลงทุน

2.ควรให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) ต่ำ

3.ควรใช้ Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted กับดัชนี Tradable Index เช่น ดัชนี SET50 SET100 เท่านั้น ไม่ควรใช้กับ Composite Index เช่น ดัชนี SET

4.ควรจัดทำเป็นดัชนีใหม่มากกว่าการปรับแก้เกณฑ์ดัชนีในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน

5.ควรมีการจัดทำข้อมูลผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับดัชนีเพื่อแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ รวมถึงประกาศล่วงหน้าก่อนมีผลเพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบและเตรียมตัว และทยอยปรับเป็น 2-3 ช่วงเพื่อลดผลกระทบ

สรุป ผลจากการเฮียริ่ง

เกณฑ์สำหรับ Tradable Index นำมาใช้ในรอบนี้ 1 ม.ค. 65-30 มิ.ย. 65 โดยการประกาศรายชื่อหุ้น กลาง ธ.ค. 64

ส่วนเกณฑ์ Free Float Adjusted Market Cap ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณา นิยามใหม่ และศึกษาผลกระทบ ก่อนนำมาใช้

หรือหมายความว่า จะใช้ในรอบถัดไป (ยังไม่กำหนด)

ผลที่ออกมาแบบนี้ ถือว่าเป็นไปตามที่บุคคลในวงการตลาดทุน และ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้นำเสนอข่าวไว้ก่อนหน้านี้

นักวิเคราะห์ต่างดีดลูกคิด แล้วเคาะออกมาตรงกันว่า

เดลต้าฯ (น่าจะ) หลุดออกจากการคำนวณดัชนีฯ แน่นอน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเดลต้าฯ ก่อนหน้านี้ ได้หลุดจากระดับที่เคยเกือบขึ้นไปถึง 800 บาท

ก่อนจะหลุดลงมาอยู่บริเวณ 400–450 บาท

ส่วนเมื่อวานนี้ เปิดตลาดขึ้นมา หุ้นเดลต้าฯ ถูกลากขึ้นไปสูงสุด 456 บาท

ก่อนจะถูกทุบลงมาอย่างรวดเร็ว และมาปิด 391 บาท ลดลง 61 บาท

เป็นการทุบที่ค่อนข้างโหดอีกครั้ง

การปิดร่วงลงแรง 13.50% ของหุ้นเดลต้าฯ

ส่งผลต่อดัชนีเมื่อวานนี้ -6.49 จุด

ส่วนภาพรวมดัชนี SET วานนี้ ลดลง 0.09 จุด มาที่ 1,626.13 จุด

จะเห็นว่า หากตัดการเคลื่อนไหวของหุ้นเดลต้าฯ ออก ดัชนีหุ้นไทยวานนี้น่าจะปิดแดนบวกได้

ที่ผ่านมา เวลาหุ้นไทยลงหนัก ๆ จากปัจจัยลบรุมเร้า

มักจะนำหุ้นเดลต้าฯ เข้ามาเป็น “ความหวังของหมู่บ้าน” ด้วยการดันราคาขึ้นมา เพื่อประคองดัชนี SET และ SET50

แต่นับจากต้นปี 2565 เป็นต้นไป

ไม่น่าจะเห็นวิธีการแบบนี้แล้ว

เดลต้าฯ (จะ) หลุดจากการคำนวณดัชนีฯ แน่นอน

Back to top button