Life Science เมกะเทรนด์ธุรกิจสุขภาพ

“กระแสสุขภาพ” นำไปสู่โอกาสของ “ธุรกิจด้านสุขภาพ” ที่เสมือนเป็น “ทะเลสีคราม (Blue Ocean)” ที่หลายบริษัทกำลังช่วงชิงพื้นที่บนน่านน้ำแห่งนี้


การเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีทางสังคม เศรษฐกิจ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและระบบสาธารณสุข กลายเป็นปัจจัยให้ “กระแสสุขภาพ” เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง นั่นจึงนำไปสู่โอกาสของ “ธุรกิจด้านสุขภาพ” ที่เสมือนเป็น “ทะเลสีคราม (Blue Ocean)” ที่หลายบริษัทกำลังแสวงหาโอกาสและช่วงชิงพื้นที่บนน่านน้ำทะเลสีครามแห่งนี้

จนนำไปสู่การพัฒนาการทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต จนทำให้เกิด Life Sciences (ชีววิทยาศาสตร์) หรือความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและต่อยอดสู่ธุรกิจด้านสุขภาพ อาทิ เวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การให้บริการทางสาธารณสุข การสร้างเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อการผลิตยาแผนโบราณ อาหารเสริม และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเดิมที่มีเพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่

ในแง่ภาครัฐมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (Thailand Center of Excellence for Life Sciences (Public Company) หรือ TCELS อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเกี่ยวกับศาสตร์ด้านชีววิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ เวชศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยา ออกมาเป็นเทคโนโลยีชีวภาพที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม (Industrial Biotechnology) การเกษตร (Agro Biotechnology) และด้านการแพทย์ (Medical Biotechnology) เพื่อเป็นเทคโนโลยีชีวภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตยุคใหม่

สำหรับภาคเอกชนแล้ว Life Sciences คือธุรกิจ New S Curve หรือการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเติบโตใหม่จากธุรกิจดั้งเดิม ยกตัวอย่างกรณีบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ (Life Science Research & Technology Center) โดยมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตและศักยภาพการแข่งขันแก่ธุรกิจกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของโอลีโอเคมี ที่ใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการดูแลสุขอนามัย และสุขภาพ (Home & Personal Care)

ขณะที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีการจัดตั้ง “บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จำกัด” เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับการลงทุนในธุรกิจยาในต่างประเทศ ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อการรุกเข้าสู่ธุรกิจ Life Science ที่ถือเป็นธุรกิจ New S Curve ตามกลยุทธ์การลงทุน New Business มีการดึงตัวบุคลากรผู้เชี่ยวชาญคนไทย ในอุตสาหกรรมยา และ Nutrition หรือโภชนาการจากบริษัทชั้นนำของโลก เข้ามาร่วมงาน ที่จะเริ่มขับเคลื่อนธุรกิจอย่างจริงจังชัดเจนช่วงที่ผ่านมา

สำหรับเป้าหมายธุรกิจ Life Science มุ่งเน้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยา โภชนาการ และวัสดุทางการแพทย์ ที่ถูกวางเป็น Product Champion ตัวใหม่ ที่สร้างรายได้และการเติบโตให้กลุ่มปตท.อย่างมีนัยสำคัญช่วง 10 ปีข้างหน้า เริ่มจาก 1-5 ปีแรก เน้นการทำธุรกิจที่เน้นการสร้างเครือข่ายด้านการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และการขายร่วมกับพันธมิตร, การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ยา ที่เรียกว่า Generic Drugs กลุ่มยาสามัญที่ใกล้หมดสิทธิบัตรคุ้มครองในโรคที่ไม่ติดต่อ อาทิ โรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน พาร์คินสัน เพื่อขึ้นทะเบียนยาและจัดจำหน่าย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ด้านโภชนาการหรืออาหาร ที่มีสรรพคุณเป็นยา รวมทั้งวัสดุทางการแพทย์ ที่มีรากฐานต่อยอดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่เครือปตท.มีความเชื่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น ถุงมือแพทย์ หน้ากากอนามัย และอื่น ๆ

ส่วนช่วง 5-10 ปีข้างหน้า เป็นการตั้งโรงงานผลิตยา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ที่สามารถแข่งขันกับยานำเข้า ที่มีราคาแพง โดยปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ปตท.มีการลงนามสัญญาร่วมพัฒนาโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม เป้าหมายเพื่อทดแทนการนำเข้าและส่งออกสู่ตลาดภูมิภาคต่อไป

จากข้อมูลของ Janus Henderson Global Life Sciences Fund ระบุว่า สถิติ “โรคมะเร็ง” ที่มีการใช้จ่ายรวมทั้งโลก 1.16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี “โรคหัวใจและหลอดเลือด” มีการใช้จ่ายรวมทั้งโลก 8.63 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี “โรคเบาหวาน” มีการใช้จ่ายรวมทั้งโลก 8.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จึงเพียงพอจะสรุปเบื้องต้นว่า Life Science คือ New S Curve ของธุรกิจด้านสุขภาพในอนาคต

Back to top button