เปิดโผ 6 หุ้นโลจิสติกส์กำไร Q3 โตแกร่ง

“กลุ่มขนส่งโลจิสติกส์” ผลงานออกมาดีเพราะการให้บริการส่งออกและนำเข้าสินค้าช่วงที่ผ่านมากระแสธีมการส่งออกของไทยเติบโตได้ดี


เส้นทางนักลงทุน

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ออกมาครบทุกบริษัท ก็ถือว่าหนึ่งในกลุ่มที่ผลงานออกมาดีคงหนีไม่พ้น “กลุ่มขนส่งโลจิสติกส์” เพราะเกี่ยวข้องกับการให้บริการขนส่งออกและนำเข้าสินค้าในช่วงที่ผ่านมา พบว่ากระแสธีมการส่งออกของไทยเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าทะยานปรับตัวเพิ่มขึ้นกันไปในรอบที่แล้ว

ดังนั้นไม่แปลกที่ว่ากำไรสุทธิงวดไตรมาส 3 ปี 2564 จะเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตกว่าไตรมาส 2 ปี 2564 อีกทั้งแนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2564 ก็ยังสามารถเติบโตขึ้นไปได้อีกจากภาวะอุตสาหกรรมที่กำลังฟื้นจากความต้องการและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศทั่วโลก

สำหรับหุ้นกลุ่มขนส่งโลจิสติกส์สามารถทำกำไรไตรมาส 3 ปี 2564 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ RCL, WICE, JWD, III, NYT และ PRM

บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 3,731.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,351.67% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 257.03 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ามากกว่า 16,000 บาทต่อตู้ สูงกว่าค่าระวางในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ถึงร้อยละ 13 และสูงกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ถึงร้อยละ 132 โดยปริมาณการขนส่งตู้สินค้าในไตรมาส 3 ปี 2564 เพิ่มขึ้น

บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 162.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 188.76% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 56.16 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากรายได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลมี Demand สูงขึ้น ทำให้บริษัทมีปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และราคาค่าระวางยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งรายได้จากการขนส่งสินค้าทางบกข้ามแดน ซึ่งความต้องการขนส่งมีปริมาณค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทได้ซื้อตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มเป็น 500 ตู้ และในไตรมาส 3/2564 บริษัทมีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้จากการขนส่งสินค้าทางบกข้ามแดน เพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว

นอกจากนี้มีการรับรู้กำไรจากบริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นที่จากเดิม 40% เป็น 51% ในเดือนกันยายน 2564

บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 139.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.73% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 72.54 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังคงมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจกลุ่มสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็น แช่แข็ง ธุรกิจจัดการสินค้าอันตราย รวมไปถึงธุรกิจขนส่งที่มีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ คาดการณ์ว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี

บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 100.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.95% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 56.97 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตของรายได้ในทุกกลุ่มของบริษัท โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่นของบริษัทก็ยังคงสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง

บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ NYT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 38.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.73% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 22.19 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้จากการให้บริการท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่อง สาเหตุหลักจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ตลาดการส่งออกรถยนต์ฟื้นตัวกลับขึ้นมา

ขณะที่รายได้จากการให้บริการคลังสินค้าเพิ่มขึ้น โดยในระหว่างปีปัจจุบันรายได้จากการให้บริการคลังสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีลูกค้ารายใหม่เข้าใช้บริการพื้นที่คลังสินค้า

บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 426.08ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.62% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 411.19 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากเรือ Crew Boat และเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศของบริษัท ทรูธ มาริไทม์ จำกัด ที่เริ่มให้บริการเต็มไตรมาส

รวมถึงความสำเร็จในการขยายงานในธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบให้บริการแก่ บมจ.ไทยออยล์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นทดแทนรายได้จากธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) ที่ลดลง เนื่องจากการผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลให้อุปสงค์ในการใช้เรือ FSU เพื่อผสมและกักเก็บน้ำมันลดลงในปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563

ทั้งนี้สะท้อนได้ว่าความต้องการในการขนส่งยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19

Back to top button