พิษสนิมเหล็กที่จีนพลวัต2015

ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เมื่อบ่ายวานนี้ เปลี่ยนบวกเป็นลบกะทันหัน ร่วงลงไปลึกถึง 140 จุดเศษ ก่อนจะรีบาวด์กลับมาปิดที่ลบไปประมาณ 100 จุด เพียงเพราะมีข่าวรัฐวิสาหกิจจีนชื่อ Sinosteel เบี้ยวไม่ยอมชำระหนี้อัตราดอกเบี้ยมูลค่า 2 พันล้านหยวนให้กับเจ้าหนี้ที่ถือหุ้นกู้ของบริษัท โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นธนาคารและสถาบันการเงิน


ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เมื่อบ่ายวานนี้ เปลี่ยนบวกเป็นลบกะทันหัน ร่วงลงไปลึกถึง 140 จุดเศษ ก่อนจะรีบาวด์กลับมาปิดที่ลบไปประมาณ 100 จุด  เพียงเพราะมีข่าวรัฐวิสาหกิจจีนชื่อ Sinosteel เบี้ยวไม่ยอมชำระหนี้อัตราดอกเบี้ยมูลค่า 2 พันล้านหยวนให้กับเจ้าหนี้ที่ถือหุ้นกู้ของบริษัท โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นธนาคารและสถาบันการเงิน

นักวิเคราะห์ในจีนเชื่อกันว่า การเบี้ยวหนี้ของบริษัทค้าและผลิตเหล็กดังกล่าว คือจุดเริ่มต้นแบบน้ำผึ้งหยดเดียวชองตลาดตราสารหุ้นจีนที่อาจจะตามมาด้วยกรณีอื่นๆ ที่ลามต่อเนื่องบานปลาย

ชื่อเสียงของ Sinosteel อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับโรงงานเหล็กระดับยักษ์ของโลกอย่างHebei Iron and Steel Group Company Limited และ Baosteel (Shanghai Baosteel Group Corporation) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กอันดับหนึ่งและสองของจีน  แต่โดยข้อเท็จจริง นี่คือ บริษัทจัดหา นำเข้า และ ตัวแทนจัดจำหน่าย สินแร่เหล็กและสินแร่อื่นๆ มียอดขาย อันดับ 2 ของประเทศจีน

Sinosteel มีชื่อเต็มว่า Sinosteel Corporation  โดยชื่อนี้ เป็นชื่อใหม่ จากชื่อเดิมที่ใช้มายาวนานจนถึงปี ค.ศ. 2004 ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปีเดียวกัน โดยมีบริษัทให้บริการด้านการค้า จัดการ และนำเข้าสินแร่และอุปกรณ์หรือวัตถุดิบอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมากถึง 86 บริษัท ภายใต้ร่มธงเดียวกัน โดยมีสำนักงานจัดซื้อและเอเย่นต์ 23 แห่งในต่างประเทศทั่วโลก

หลายปีที่ผ่านมาบริษัทนี้ มีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะหัวหอกของการไล่ล่าเข้าซื้อกิจากธุรกิจเหมืองแร่ในต่างประเทศ โดยในปี ค.ศ. 2008 ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อหุ้น 50% ฉันปรปักษ์ ในบริษัทผู้ทำเหมืองแร่เหล็กในออสเตรเลีย ด้วยวงเงินซื้อมากถึง 1.36 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย แข่งกับคู่แข่งรายอื่นในธุรกิจเหล็ก

วันนี้ Sinosteel เปลี่ยนฐานะจากผู้ไล่ล่ามาเป็นเหยื่อเสียงเอง เพราะธุรกิจเหล็กที่เป็นขาลงยาวนาน ทำให้หนี้ที่สร้างจากตราสารหนี้ระบบต่างๆ เริ่มกินตัวเองเข้ามา ในขณะที่โอกาสสร้างรายได้และกำไรวิ่งสวนทางกัน จนถึงขั้นที่สภาพคล่องทางการเงินร่อยหรอ อย่างหนัก

เมื่อวันศุกร์สัปดาห์ก่อน Sinosteel ออกแถลงการณ์แจ้งต่อเจ้าหนี้ที่ถือหุ้นกู้ของบริษัทว่า  ขอเลื่อนเวลาชำระเงินคืนก่อนกำหนด ในหลักทรัพย์ปี 2017 โดยที่นักลงทุนไม่สามารถขายคืนหุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ย 5.3% ต่อปีได้จนกว่าจะถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน  หลังจากที่เดิมกำหนดให้เป็นวันที่ 20 ตุลาคม

แถลงการณ์ ส่งผลให้ ผลตอบแทนพันธบัตรปี ค.ศ. 2017 ของ Sinosteel พุ่งขึ้น 20.1% เป็น 25.43% เมื่อวันอังคาร ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากสุดนับตั้งแต่มีการออกพันธบัตรในปี ค.ศ.2010

แถลงการณ์ดังกล่าว ทำให้ตลาดที่ทราบเรื่องภายหลังล่าช้า เกิดอาการช็อกขึ้นมา และส่งผลให้ตลาดหุ้นร่วงทันทีในบ่ายวานนี้ เพราะความกลัวว่าเชื้อโรคเบี้ยวชำระหนี้ จะเบ่งบานยิ่งว่าดอกเห็ด

 บริษัทกล่าวว่าจะยืดเส้นตายออกไปเนื่องจากมีแผนการที่จะเพิ่มทุนแล้วเอาหุ้นของบริษัทมาเพิ่มเติมเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

เหตุการณ์ของ Sinosteel เกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ มีแผนที่จะพบกับผู้ถือพันธบัตรและขอให้ผู้ถือพันธบัตรไม่ไถ่ถอนในวันอังคาร เพื่อบีบให้มีการชำระเงินทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานกำจัดบริษัทรัฐวิสาหกิจที่อ่อนแอของทางการจีนเข้าพอดี

นายกรัฐมนตรี  หลี่ เค่อ เฉียง เรียกรัฐวิสาหกิจที่อ่อนแอนี้ว่า เป็น บริษัทดูดเลือก หรือ  Zombie Corporate โดยที่กรณีของ Sinosteel นั้น ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแรกที่มีปัญหานี้ เพราะก่อนหน้านี้ในต้นปี  2 บริษัทขนาดใหญ่ เปาติง เทียนเหว่ย กรุ๊ป และไชน่า เนชันแนล เอ่อซ้ง กรุ๊ป ได้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทำนองเดียวกันนี้ไปล่วงหน้าแล้ว และยังไม่สามารถแก้ไขได้่ เพราะว่าทางการจีนแสดงท่าทีที่เปลี่ยนไปว่า ต้องการลดการแทรกแซงในคดีผิดนัดชำระหนี้และให้กลไกในตลาดมีบทบาทมากขึ้น

การถดถอยของธุรกิจ อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน เหล็ก และต่อเรือ ทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้ง 3 เผชิญกับปัญหาทางการเงิน มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด และอาจจะมีการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรอย่างมากในปีหน้า

สถานการณ์ที่ย่ำแย่ของธุรกิจเหล็กของจีนเช่นนี้ มีเรื่องที่น่าหัวร่อแทรกเข้ามา ตรงที่ในวาระที่จะมีการเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน กับประธานาธิบดีจีน สี จิ้น ผิง ในสัปดาห์นี้ที่ลอนดอน ในการเยือนอังกฤษครั้งแรก มีเรื่องที่อังกฤษเสนอให้จีนเข้ามาซื้อต่อโรงงานเหล็กของ ทาทาสตีล ในอังกฤษที่กำลังจะปิดตัวลงอีกแห่งหนึ่ง จนถึงขั้นต้องโละพนักงานออกบางส่วนมากกว่า 1.7 พันคน เพื่อความอยู่รอดของกิจการ โดยมีเงื่อนไขพิเศษ

ถือเป็นตลกหน้าตายของรัฐบาลอังกฤษ เมื่อพิจารณาจากมุมมองของจีน เพราะว่า ขนาดในจีนยังเอาตัวไม่รอด แล้วจะไปซื้อกิจการใหม่ในอังกฤษได้อย่างไร

ยกเว้นแต่ว่า สี จิ้น ผิง จะคิดอีกแบบ โดยถือว่านี้คือการซื้อใจครั้งใหญ่ ก็อาจจะทำให้จีนมีโรงงานเหล็กในอังกฤษตามคำเชื้อเชิญได้ เป็นการนำเอาเรื่องของธุรกิจมารองรับข้อเสนอทางการเมือง ซึ่งหากเป็นเช่นว่า ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ตลกมากกว่าอย่างไร้เหตุผล แม้จะมีเจตนาแอบแฝงก็ตาม

Back to top button