อย่า ‘ย่ามใจ’ กับ ‘โอมิครอน’

ตัวเลขสะสมผู้ติดสายพันธุ์โอมิครอนในไทยเกือบถึงหมื่นรายแล้วและมีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นการยืนยันว่า เรายังไม่ควร “ย่ามใจ”


การแถลงของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ระบุว่า ตัวเลขสะสมผู้ติดสายพันธุ์โอมิครอนในไทยเกือบถึงหมื่นรายแล้วและมีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นการยืนยันว่า เรายังไม่ควร “ย่ามใจ” หรือ “อิ่มเอมใจ” และยังต้องพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ แม้ว่ามันจะทำให้มีอาการรุนแรงและมีความเสี่ยง “น้อยกว่า” สายพันธุ์ก่อนหน้าก็ตาม

ได้ยินข่าวมีคนพูดว่า ในเมื่อทุกคนจะต้องติดโอมิครอนแน่ ๆ ไม่ช้าก็เร็ว ก็ให้มันติดไปเสียให้เสร็จ ๆ ประมาณแบบว่า ”เจ็บ” แต่ “จบ” แต่ในความเป็นจริง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปเสี่ยงเช่นนั้น และมีหลายเหตุผลที่ว่าทำไมเรายังต้องป้องกันโอมิครอนให้ดี

งานวิจัยระบุว่าโอมิครอนน่าจะทำให้ผู้ติดเชื้อโควิดไม่แสดงอาการมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ส่วนผู้ที่มีอาการ ก็มีสัดส่วนมากขึ้นที่จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เจ็บคอหรือน้ำมูกไหล และไม่มีปัญหาเรื่องการหายใจตามอาการที่มักเกิดขึ้นจากการติดจากเชื้อในก่อนหน้านี้

แต่การแพร่ระบาดเร็วและมากเป็นพิเศษ ของโอมิครอนในหลายประเทศ หมายความว่า จะมีจำนวนคนติดเชื้อมากขึ้นอย่างรุนแรงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลล่าสุดจากอิตาลีและเยอรมนีแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงมากขึ้นในการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเข้าห้องไอซียู และเสียชีวิต

จริงอยู่ว่า ไม่ช้าหรือเร็ว ทุกคนจะมีความเสี่ยงต่อโอมิครอน แต่ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยร็อกกี้เฟลเลอร์ กล่าวว่า “ติดช้าดีกว่าติดเร็ว” เพราะจะมียามากขึ้นและมีวัคซีนที่ดีมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากไวรัสของ มหาวิทยาลัยเยล ก็ชี้ว่า โอมิครอนอาจทำให้คุณป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็จริง แต่ก็สามารถแพร่เชื้อไวรัสไปให้คนอื่นที่มีความเสี่ยงจากโรคสำคัญได้ แม้ว่าคุณจะมีแอนติบอดีจากการติดเชื้อครั้งก่อน หรือจากการฉีดวัคซีนก็ตาม

นอกจากนี้เรายังไม่รู้ถึง “ผลกระทบที่แท้จริงในระยะยาว” ของโอมิครอน

การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงและกรณีป้องกันเชื้อได้หลังการฉีดวัคซีน บางครั้งทำให้เกิดอาการ “โควิด-19 ระยะยาว” หรือ Long Covid ที่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม แต่ในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนจะจบลงด้วย Long COVID ในสัดส่วนมากน้อยเพียงไร และการประเมินโอมิครอนต่ำว่า “ไม่รุนแรง” ก็เสี่ยงที่จะทำให้มันเป็นโรคที่อ่อนแอแต่อาจยังคงอยู่ได้เป็นเดือนหรือหลายปี

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ชัดเจนเช่นกันคือ โอมิครอนจะมีผลกระทบ “เงียบ ๆ” เหมือนที่ได้เห็นจากสายพันธุ์ก่อนหน้าหรือไม่ เช่น แอนติบอดีโจมตีตัวเอง อสุจิลดลง และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผลิตอินซูลิน

ขณะนี้ยังมีการรักษาโอมิครอนได้อย่างจำกัดจนแพทย์ต้องจัดสรรปันส่วนการรักษาเช่นกัน โดยสองในสามของยาแอนติบอดีที่ใช้ในช่วงที่โควิดระบาดในช่วงที่ผ่านมา ใช้ไม่ได้ผลกับสายพันธุ์โอมิครอน  ส่วน ยา sotrovimab ตัวที่สามของ แกล็กโซสมิธไคลน์ ก็ขาดแคลน เช่นเดียวกับยาต้านไวรัสที่ Paxlovid ของไฟเซอร์ แม้ยาทั้งสองตัวนี้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านโอมิครอน แต่ผู้ป่วยอาจไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

เดวิด โฮ ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว และได้ฉีดกระตุ้นแล้วและไม่มีภาวะทางการแพทย์พื้นฐาน โอมิครอนจะไม่สร้างความเสียหายมาก อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีการติดเชื้อน้อยลง ก็ยิ่งเป็นการดีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งมีผู้ติดเชื้อล้นมืออีกแล้ว และยังมองว่า การติดเชื้อโอมิครอนสูงสุด “ยังมาไม่ถึง” ในพื้นที่ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อสูงเป็นประวัติการณ์ โรงพยาบาลจึงต้องเลื่อนการผ่าตัดที่รอได้ และการรักษามะเร็งออกไป และในช่วงที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยล้น ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มารักษาฉุกเฉินอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม เช่น อาการหัวใจวาย

โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ตัวที่ห้าของสายพันธุ์ SARS-COV-2 ดั้งเดิม และยังต้องจับตาดูว่า การกลายพันธุ์เพิ่มของโอมิครอน จะลดลงหรือไม่

แต่ตามความห็นของศาสตราจารย์โฮ อัตราการติดเชื้อที่สูง ยังทำให้ไวรัสมีโอกาสกลายพันธุ์มากขึ้น และไม่มีการรับประกันว่าไวรัสโคโรนารุ่นใหม่จะ “ใจดี” กว่ารุ่นก่อน และ “SARS-CoV-2” ได้ทำให้เราประหลาดใจในหลาย ๆ ด้านในช่วงสองปีที่ผ่านมา และยังไม่สามารถคาดเดาวิถีทางของวิวัฒนาการของไวรัสนี้ได้

ดร.แอนโทนี ฟาวซี หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของทำเนียบขาว ก็เพิ่งให้ความเห็นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่าโอมิครอนจะเป็นระลอกสุดท้ายในการระบาดของไวรัสโคโรนาและยังไม่มีการรับประกัน แต่มันจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อไม่มีสายพันธุ์อื่นอีกที่สามารถหลีกเลี่ยงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์ก่อนหน้าและถึงแม้ว่าโอมิครอนจะกลายเป็นสายพันธุ์สุดท้ายของโควิด-19 ก็ไม่น่าที่จะหมายถึงว่า ไวรัสหมดไปแล้วโดยสิ้นเชิงแต่มันจะยังคงอยู่ในสังคมในระดับที่เป็นโรคเฉพาะถิ่น ซึ่งหมายถึงว่า มันอยู่ในระดับที่ไม่รบกวนสังคม

ยังไม่รู้ว่าวิกฤติไวรัสโคโรนาจะจบลงที่ใดและเมื่อใด แต่ขอให้ความหวังที่ว่า โอมิครอนจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เป็นจริง แม้ว่าในขณะนี้เราอาจจะเริ่มเห็นแสงสว่างอย่างริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราก็ยังอยู่ในอุโมงค์มืดที่แคบและอีกยาวไกล มันน่าจะเป็นการ “ดีกว่า” หรือไม่ที่จะเตรียมใจล่วงหน้าไว้บ้างว่า “สถานการณ์ที่เลวร้ายสุด” ยังอาจเกิดขึ้นได้

Back to top button