ปิดตำนาน GSTEEL-GJS

GSTEEL และ GJS ถือเป็นหุ้นเหล็กสองแม่ลูกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นหุ้นที่สร้างความเจ็บช้ำให้นักลงทุนไม่น้อย


บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GSTEEL และบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GJS ถือเป็นหุ้นเหล็กสองแม่ลูกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นหุ้นที่สร้างความเจ็บช้ำให้นักลงทุนไม่น้อย มีทั้งรวยและจน เนื่องจากเมื่อหลายปีก่อนเคยเป็นหุ้นพิมพ์นิยมตัวหนึ่ง ที่มักถูกหยิบมาเก็งกำไรเสมอ ๆ…

แต่พักหลัง ๆ ซบเซาไปเยอะ เนื่องจากมีปัญหาโครงสร้างภายใน จนถูกตลาดหลักทรัพย์จับแขวน SP มาแล้วหลายรอบ ขณะที่สถานะปัจจุบันตัวลูก GJS ได้กลับมาเทรดแล้ว แต่ตัวแม่ GSTEEL ยังไม่หลุดจากบ่วง SP…

ที่ผ่านมาทั้ง GSTEEL และ GJS มีการปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วหลายรอบ กระทั่งล่าสุดตกไปอยู่ในมือ ASIA CREDIT OPPORTUNITIES I (MAURITIUS) LIMITED หรือ ACO I ซึ่งเป็นกองทุนการเงินจากฮ่องกง โดยถือหุ้นใหญ่ใน GSTEEL 49.99% และถือหุ้นใหญ่ใน GJS 40.45% (แต่ก็ยังมี “สมชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล” อดีตเจ้าของเดิมกุมบังเหียนอยู่นะ)…

แต่สถานการณ์ของแม่ลูกคู่นี้ก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ขาดทุนซะเป็นส่วนใหญ่ เพิ่งจะเห็นผลการดำเนินงานในปี 2564 นี่แหละที่คาดว่าจะเทิร์นอะราวด์ หลังจากงวด 9 เดือนแรก GSTEEL โชว์รายได้รวม 25,500 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,010 ล้านบาท ส่วน GJS มีรายได้รวม 13,852 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,219 ล้านบาท เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดของล่าสุด GSTEEL และ GJS จะถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง หลังจาก Kendrick Global Limited ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใน ACO I 100% จะขายหุ้น ACO I ทั้งหมดให้กับ NIPPON STEEL CORPORATION หรือนิปปอน สตีลฯ…นั่นเท่ากับว่า นิปปอน สตีลฯ จะมาเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของ GSTEEL และ GJS ด้วยในคราวเดียวกัน

โดยล่าสุดนิปปอน สตีลฯ ประกาศตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ หุ้น GSTEEL ที่เหลือในราคาหุ้นละ 0.27 บาท และเทนเดอร์ฯ หุ้น GJS ที่เหลือในราคาหุ้นละ 0.59 บาท

พอเทนเดอร์ฯ เสร็จ GSTEEL และ GJS ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิปปอน สตีลฯ ไปโดยปริยาย…โอเค แม้นิปปอน สตีลฯ ระบุชัด จะไม่ถอน GSTEEL และ GJS ออกจากตลาดฯ…แต่ก็น่าคิด ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม..? ว่าป๊ะล่ะ

แต่จุดที่น่าสนใจ…ในมุมของธุรกิจ ต้องยอมรับว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้ง GSTEEL และ GJS ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ค่อยสู้ดีนัก เพราะถ้าไปดูกระแสเงินสด จะพบว่า ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2564 GSTEEL มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดติดกระเป๋าอยู่แค่ 1,723 ล้านบาท ส่วน GJS  มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดติดกระเป๋า 960 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยไปสำหรับการทำธุรกิจเหล็ก..!?

ทำให้ไม่มีเงินทุนสำหรับการจะนำเข้าสินแร่เหล็ก เพื่อมาผ่านกระบวนการเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น ทำให้แม้ตลาดจะดี ราคาเหล็กอยู่ในระดับสูง แต่เสียโอกาสซะงั้น…

ดังนั้น การได้มาอยู่ใต้ชายคานิปปอน สตีลฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กและแปรรูปเหล็กรายใหญ่ จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่น ก็น่าจะทำให้สถานการณ์ของ GSTEEL และ GJS ดีขึ้น..!!

อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้ฐานทุนแกร่งขึ้น มีสภาพคล่องมากขึ้น (นิปปอน สตีลฯ คงไม่ปล่อยให้ GSTEEL และ GJS ย่ำแย่หรอกมั้ง) ไม่นับรวมการ Synergy ธุรกิจร่วมกันที่จะตามมาภายหลังอีกนะเนี่ย…

แต่ครั้นจะหวังให้แม่ลูกคู่นี้กลับมารุ่งเรือง ก็ดูจะหวังสูงเกินไป แค่ให้ GJS โชว์ตัวเลขกำไรได้ทุกไตรมาส ส่วน GSTEEL กลับมาเทรดได้อีกครั้ง ก็ดีถมเถแล้ว…

…อิ อิ อิ…

Back to top button