วิธีการฆ่าตัวตายทางลัด

การฆ่าตัวตายของมนุษย์ ถือเป็นบาปชนิดหนึ่ง ที่สร้างปัญหาถึงขั้นองค์การอนามัยโลกต้องถึงกับวางนโยบายที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายของทุกประเทศลงร้อยละสิบ ระหว่างปี ค .ศ. 2013-2020


การฆ่าตัวตายของมนุษย์ ถือเป็นบาปชนิดหนึ่ง ที่สร้างปัญหาถึงขั้นองค์การอนามัยโลกต้องถึงกับวางนโยบายที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายของทุกประเทศลงร้อยละสิบ ระหว่างปี ค .ศ. 2013-2020

ในปัจจุบันมีคนฆ่าตัวตายที่อัตราเฉลี่ย ทุก ๆ 40 นาที หรือเฉลี่ยปีละ 800,000 คนโดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่มีตำราขายดีอันดับหนึ่งตลอดกาล แนะว่าวิธีฆ่าตัวตายที่ง่ายสุดและเร็วสุดคือ กระโดดตึก ส่วนรองลงไปคือกระโดดลงไปบนรางรถไฟใต้ดินที่กำลังจะเข้าสถานีจอด

ในจำนวนคนฆ่าตัวตายเหล่านี้ มีตัวเลขของคนไทยรวมอยู่ด้วยปีละเฉลี่ย  4 พันคน หรือ 0.5% ของยอดรวมทั่วโลก แต่ก็ถือเป็นผู้นำในชาติอาเซียนเลยทีเดียว เพียงแต่ตัวเลขนี้วงการแพทย์ถือว่า ต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะหลายคนไม่ได้แจ้งความจริง  ส่วนคนที่ฆ่าตัวตายแล้วสำเร็จ คิดเป็นประมาณ 40% ของคนที่พยายามจะฆ่าตัวตาย

ที่น่าสนใจตรงที่กว่าครึ่งของคนที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้สูงอายุ แต่วัยรุ่นก็เริ่มมีสถิติไล่ขึ้นมามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่เป็นสาเหตุการตายอันดับสองของคนกลุ่มนับรองจากอุบัติเหตุทีเดียว

สาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้นมีมากหลาย แต่คนที่ล้มเหลวที่จะฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะสารภาพว่า เหตุผลหลักคือต้องการหลบหนีจากชีวิตก่อนหน้าที่ “เหลือจะทานทน” มากกว่าต้องการจะตายจริง ๆ

ที่น่าสนใจคือทั่วโลกนั้นมีจำนวนคนฆ่าตัวตายเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเกินสี่เท่า แสดงให้เห็นว่าผู้ชายทนต่อแรงกดดันในชีวิตต่ำกว่าผู้หญิง อย่างมีนัยสำคัญ

ในกรณีของบริษัทจดทะเบียน ที่ถือเป็นนิติบุคคล ถือว่าไม่มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น เว้นเสียแต่ในบางกรณีที่เราจะเห็นเล่ห์กระเท่ห์ของบริษัทที่ “เน่าในเละเทะ” ฟื้นตัวได้ยากเย็นเพราะกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แสดงท่าทีแบบต้องการฆ่าบริษัทในกำมือให้ย่ำแย่ตลอดไป นับแต่การปล่อยให้กิจการขาดทุนปีแล้วปีเล่าเรื้อรัง ราคาหุ้นต่ำติดพื้น แล้วผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหารตั้งค่าใช้จ่ายแบบเกินจริงให้ตนเองเพื่อ “บอนไซ” กิจการ หรือการเพิ่มทุนไปเรื่อย ๆ เพื่อผ่องถ่ายในลักษณะ “ดูดเลือดดี ใส่เลือดเลว” จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาก็งดส่งงบการเงินต่อเนื่องกันนาน 3 ปีจนตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทนดูไม่ได้ต้องสั่ง delisted จากตลาดไป ซึ่งเป็นการสมเจตนา…เนื่องจากบริษัทจะฉกฉวยโอกาสไม่ต้องทำการซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่กลายเป็นเหยื่อไป อย่างช่วยไม่ได้

ล่าสุด มี 1 บริษัทจดทะเบียนที่กำลังเดินบนเส้นทางที่ว่านี้ อย่างน่าสะเทือนใจแทนผู้ถือหุ้นที่ถูกเชือดอย่างเลือดเย็นด้วยคำหวานที่หลอกให้ตายใจ ผ่านการเพิ่มทุนราคาต่ำกว่าพาร์เกือบครึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดส่วนต่ำมูลค่าหุ้นที่กดราคาหุ้นลงทันควัน แถมยังแจกวอร์แรนต์อายุแค่ 1 ปี เพื่อกันไม่ให้มีการแปลงสิทธิ์หรือเอกเซอร์ไซส์ขึ้นมาอีก

ขาดเพียงที่ยังไม่ได้ทำกันคือ เร่ขายกิจการที่ขาดทุนเรื้อรังเพราะคนซื้อไม่ยอมรับราคาหุ้นแบบ “ย้อมแมวขาย” อีกต่อไป

ซึ่งท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ยากคือ บริษัทนี้จะ “แห้งตายหยังเขียด” โดยปริยาย ไม่ต่างจากกรณีของหุ้นอย่าง IFEC หรือ GL ที่รอวันตัดสินชะตากรรมเท่านั้นเอง

เหตุผลที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะไม่ได้จงเกลียดจงชังผู้บริหารหรือกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่แต่อย่างใดเลย…แต่เป็นเพราะเห็นปรากฏการณ์ที่ซ้ำซากมาแล้วนั่นเอง

หุ้นนี้มีชื่อเดิมคือบริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CYBER ที่ถูกผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้าซื้อกิจการต่อมาจากผู้ถือหุ้นเดิมที่จากไปพร้อมกับปัญหาล้นพ้นตัวในปี 2557

หลังจากเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ราคาหุ้นของบริษัทดังกล่าวพุ่งแรงเพราะมีคนปั่นราคาว่าจะขึ้นไปถึง 15 บาท หวือหวาอย่างยิ่ง ก่อนจะมีคนทิ้งหุ้นออกมาแถว 8.00 บาท เสียก่อน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนชื่อเอาเคล็ด ได้ฤกษ์ดีวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2558 เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA พร้อมด้วยคำมั่นจากผู้บริหารในครั้งนั้นว่า เปลี่ยนชื่อเอาเคล็ดแล้วจะไฉไลกว่าเดิม จากงานสร้างโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ทางภาคใต้แต่เอาเข้าจริงก็ไม่รอดสันดอน เพราะตัวเลขผลประกอบการย่ำแย่มาโดยตลอด ที่ยังอยู่ได้เพราะรายการใบอนุญาตสัมปทานผลิตไฟฟ้าที่ยังไม่เคยเป็นจริงกับ “โครงการ 7 ชั่วโคตร” สักที

ผลประกอบการในรอบ 4 ปีย้อนหลังมีตัวเลขขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง จากรายได้ที่เข้ามาน้อยมาก จนตัวเลขขาดทุนสะสมพอกพูนขึ้น เพิ่งจะมีปีที่ผ่านมาที่มีกำไรสุทธิทางเทคนิค เนื่องจากได้รับเงินมัดจำค่าก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าที่ไม่สามารถสร้างได้กลับคืนมากว่า 300 ล้านบาท (อ้างว่าเพื่อได้รับสิทธิการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการลงทุนต่าง ๆ) ทำให้พลิกกลับมีกำไรสุทธิได้ (โดยที่ไม่มีคำตอบเลยว่าจะมีวิธีการเพิ่มรายได้อย่างไรบ้าง  แต่ก็ยังทำให้ตัวเลขขาดทุนสะสมของบริษัทสูงถึง 1.2 พันล้านบาท

การเร่งเพิ่มทุนก่อนความจำเป็น (เพราะยังมีส่วนผู้ถือหุ้นเหลืออยู่มากถึง 3 พันล้านบาทเศษ  จากการเพิ่มทุนไปอีกครั้งในปี 2563 เกือบ 2 พันล้านบาทเศษ) โดยเหตุผลว่าเพื่อเสริมสภาวะคล่องทางการเงิน สะท้อนจุดอ่อนที่ผู้บริหารยอมรับว่าในปีใหม่นี้ โอกาสที่จะทำรายได้เพิ่มน่าจะจำกัดจำเขี่ยอย่างมาก

การลนลานรีบเพิ่มทุน ด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนในราคาต่ำแบบ ขาย RO จำนวน 3,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นพาร์ละ 0.50 บาท ในอัตราส่วน 3.376780975 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ในราคาหุ้นละ 0.30 บาทมากกว่าราคาบุ๊กแวลูที่ก่อนเพิ่มทุนราคาเพียง 0.29 บาท โดยอ้างว่า “ขายเกลี้ยง” ได้รับเงินมาเพียงแค่  (รวมกับการเพิ่มทุนเพื่อออกวอร์แรนต์ UPA-W2 ฟรี ในอัตรา 5 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์)   900 ล้านบาท คือเหตุผลของ “คนขี้แพ้” มากกว่าน่าภาคภูมิใจ

ทำให้ข้ออ้างของผู้บริหารที่บอกว่าจะ “ช่วยเพิ่มสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียน รองรับการลงทุนโปรเจกต์ใหม่ในอนาคต” กลายเป็นเรื่องไร้สาระไป

การแจกวอร์แรนต์อีก 20%ของหุ้นสามัญเดิม แล้วเพิ่มทุนออกมารองรับหุ้นในราคาเอกเซอร์ไซส์หุ้นละเท่ากับพาร์ ซึ่งคาดว่าจะไม่มีใครถือเอาไว้ ขายทิ้งหลังจาก W2 เข้าเทรดแล้วทันที จากปริมาณหุ้นที่เพิ่มขึ้นมาอีก 33.7% จากการเพิ่มทุนบวกด้วยอีก 20%จากวอร์แรนต์ที่ครบกำหนดอายุในปีหน้าและทำให้ราคาหุ้นในกระดานต่ำลงไปอีก จากการขาดทุนต่อหุ้น และส่วนต่ำมูลค่าหุ้นที่เพิ่มเข้ามา

เสริมสภาพคล่องแบบนี้ ทำได้ครั้งสองครั้งก็ไม่ไหวแล้วคุณตั่วเจ้ จะสร้างภาพเท่าใดก็ปิดไม่มิดสำหรับช้างที่ตายขึ้นอืดมาหลายเพลาแล้ว

งานนี้ หากผู้บริหารไม่หลอกตัวเองก็เท่ากับการฆ่าตัวตายแบบเร่งรัดก็น่าจะถูกต้อง

ขอแสดงความเสียใจกับผู้ถือหุ้นที่จ่ายค่าโง่ไปแล้วด้วยนะครับ

พ้นจากนี้แล้วต้องทำใจแล้วครับว่าจะทิ้งหรือถือต่อดี

เรื่องที่จะหวังให้ราคากลับมายืนเหนือ 0.60 บาทเหมือนตอนก่อนเพิ่มทุนอย่าหวังเลยครับ……ไม่มีทาง

Back to top button