อนาคต ‘พลาสติก’ ไม่สดใส

สมาชิกสหประชาชาติจะประชุมกันในเดือนนี้ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เพื่อร่างพิมพ์เขียวในการทำ “สนธิสัญญาพลาสติก” ทั่วโลก


สมาชิกสหประชาชาติจะประชุมกันในเดือนนี้ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เพื่อร่างพิมพ์เขียวในการทำ “สนธิสัญญาพลาสติก” ทั่วโลก  ข้อตกลงนี้อาจทำให้เราได้เห็นหลาย ๆ ประเทศตกลงเป็นครั้งแรกที่จะลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวและยังมีการเชิญชวนว่านี่จะเป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาวะภูมิอากาศที่กรุงปารีสเมื่อปี 2558

พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทำมาจากก๊าซและน้ำมัน ความนิยมที่เอาสะดวกสบายเข้าว่าในการใช้พลาสติกชนิดนี้กำลังทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อมหาสมุทร เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า และทำให้เกิดการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มากกว่า 50 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) 27 ชาติ เรียกร้องให้ทำข้อตกลงที่จะรวมเอา “มาตรการที่พุ่งเป้าไปยังการผลิตพลาสติก” เข้าไปด้วย

เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบริษัทน้ำมันและบริษัทเคมีรายใหญ่ เพราะมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะผลิตพลาสติกทั่วโลกถึงสองเท่าภายในสองทศวรรษ

แม้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกที่เป็นบริษัทมหาชน ที่เป็นตัวแทนของบริษัทอย่างเอ็กซ์ซอนโมบิล คอร์ป รอยัล ดัตช์ เชลล์ และดาว อิงซ์ ได้ออกมาประกาศสนับสนุนข้อตกลงระดับโลกเพื่อจัดการกับขยะพลาสติก แต่ในฉากหลังองค์การค้าเหล่านี้ กำลังวางแผนทำกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อชักจูงให้ชาติที่เข้าร่วมประชุมปฏิเสธข้อตกลงใด ๆ ที่จะ “จำกัดการผลิตพลาสติก”

แกนนำในการพยายามดำเนินการอย่างลับ ๆ นี้คือสภาเคมีอเมริกัน (เอซีซี) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเคมีและน้ำมันที่ทรงอิทธิพลในสหรัฐฯ

จากอีเมลที่เอซีซีส่งเมื่อวันที่  21 ตุลาคม ไปยังผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติ เอซีซีพยายามสนับสนุนให้ธุรกิจรายใหญ่รวมตัวกันตั้งเป็นพันธมิตรที่ใช้ชื่อว่า “Business for Plastic Pollution Action” เพื่อช่วยกันผลักดันไม่ให้มีการหารือเกี่ยวกับการ “จำกัดการผลิตพลาสติก” แต่ให้หันไปหารือโดยเน้นไปที่ความสนใจของรัฐบาลเกี่ยวกับประโยชน์ของพลาสติก และยังได้วางแผนที่จะจัดประชุมรายเดือนและแบ่งปันข้อเสนอแนะด้านนโยบายกับรัฐบาลต่าง ๆ ด้วย

พลาสติกฝังตัวอยู่ในชีวิตสมัยใหม่และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับหลาย ๆ ภาค เช่น การผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติกจึงได้อ้างถึงการใช้งานดังกล่าวเพื่อปกป้องการผลิตพลาสติกที่ยังไม่มีการควบคุม

แต่เป็นพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น พลาสติกคลุมอาหาร ถุงใส่ของชำ และบรรจุภัณฑ์สำหรับส่งของ เป็นประเด็นหลักที่จะมีการโฟกัสในการประชุมสหประชาชาติ เนื่องจาก พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนี้ มีสัดส่วนประมาณ 40% ของการผลิตทั้งหมด เมื่อดูจากผลการศึกษาเมื่อปี 2560 ใน journal Science Advances

เอซีซีได้ปกป้องพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งมานานแล้วว่า “ดีต่อโลก” มากกว่าวัสดุทางเลือกอื่น ๆ อย่างเช่น แก้วและกระดาษแข็ง ซึ่งหนักกว่าและต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการขนส่งมากกว่า แต่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาวะอากาศแย้งว่าการวิเคราะห์เช่นนั้นมีข้อบกพร่องเพราะไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมในการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งรีไซเคิลได้ยาก ย่อยสลายช้า และการเก็บ การฝัง และเผามีราคาแพง

ในขณะเดียวกัน เอซีซีและกลุ่ม “พลาสติกยุโรป” ได้จับมือกันเข้าพบเป็นการส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่าง ๆ ก่อนมีการประชุมของสหประชาชาติ และก่อนหน้านั้นในปีที่ผ่านมา เอซีซียังได้เสนอวิสัยทัศน์แก่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ว่าข้อตกลงไนโรบีควรจะเป็นเช่นไร

หลัก ๆ แล้วเอซีซีคัดค้านที่จะจำกัดการผลิตพลาสติกโดยอ้างว่า จะทำให้มีความเหลื่อมล้ำทั่วโลกมากขึ้นเพราะขยะอาหารเพิ่มขึ้นและชาติกำลังพัฒนาเข้าถึงน้ำสะอาดได้น้อยลงหากมีกฎหมายจำกัดการผลิตพลาสติก

ในขณะเดียวกัน หลังจากที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา กลุ่มพลาสติก ยุโรป กำลังอ้างถึงสุขภาพของประชาชนว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้แทนของยูเอ็นต้องไม่ควบคุมการผลิตหรือห้ามใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง เนื่องจากหากไปจำกัดการผลิตพลาสติกอาจมีผลในทางตรงข้ามเนื่องจาก มีความต้องการหน้ากาก ถุงมือ และขวดน้ำที่ใช้แล้วทิ้งสูงมาก

สิ่งที่บริษัทพลาสติกต้องการให้ผู้แทนยูเอ็นหารือคือให้เน้นไปที่การเก็บขยะ การรีไซเคิล และเทคโนโลยีในการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะเพื่อที่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขา โดยชี้ว่าการจัดการกับการรั่วไหลของพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมเป็น ทางออกที่ดีกว่า

แต่ผลการศึกษาที่เผยแพร่ใน Science Advances พบว่า มีพลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่รีไซเคิลได้ ที่เหลือเผาทิ้ง ฝังกลบหรือปล่อยให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และรายงานของรอยเตอร์ชี้ว่า โครงการรีไซเคิลของอุตสาหกรรมพลาสติกบางโครงการสร้างผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือได้ปิดตัวลงแล้ว

กว่า 100 ประเทศจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) เพื่อตกลงเกี่ยวกับกรอบการทำงานเพื่อจัดทำแผนระดับโลกเพื่อจัดการกับมลภาวะพลาสติก โดยมีแนวโน้มว่าน่าจะใช้เวลาอย่างน้อยสองปีจึงจะได้ข้อสรุปเป็นสนธิสัญญาได้ แต่สิ่งที่จะตกลงกันในการประชุมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคมนี้ จะเป็นตัวกำหนดองค์ประกอบสำคัญในการทำข้อตกลงใด ๆ

ฝ่ายที่สนับสนุนให้ทำสนธิสัญญาพลาสติก กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้ประเทศต่าง ๆ ผูกมัดกับข้อจำกัดในการผลิตและการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หากจะให้สนธิสัญญามีผลใด ๆ ก็ตาม และมีเซอร์ไพรส์ในเดือนที่ผ่านมาเมื่อลูกค้ารายใหญ่ของอุตสาหกรรมพลาสติก อย่างโคคา-โคลา และเป็ปซี่ โค อิงซ์ ได้กล่าวเป็นครั้งแรกว่าต้องการให้มีสนธิสัญญาควบคุมการผลิตพลาสติกในอนาคต

นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ IPSOS เมื่อปี 2562 ก็พบว่า ประชาชนมากกว่า 70% จากจำนวน 19,515 คนใน 28 ประเทศ ก็เห็นว่าควรจะห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว

ในขณะนี้ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่สหรัฐฯ ว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้เนื่องจากสร้างขยะพลาสติกต่อคนมากกว่าประเทศอื่น ๆ และเป็นประเทศที่ผลิตพลาสติกโพลีเมอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก แต่จนถึงขณะนี้ คณะบริหารของไบเดนยังไม่ได้ให้คำมั่นต่อการควบคุมการผลิตหรือห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว แม้ว่าไบเดน ได้พยายามสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ ด้วยการเข้าร่วมข้อตกลงปารีสอีกครั้งในปีที่แล้ว และเมื่อต้นเดือนนี้ สหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับฝรั่งเศสในการเรียกร้องให้มีข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับขยะพลาสติกที่ตระหนักถึง “ความสำคัญของการควบคุมแหล่งที่มา”

ต้องรอดูว่าผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมพลาสติก กับผลดีต่อต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน อย่างไหนจะมีอิทธิพลมากกว่ากัน แต่ความพยายามเรื่องสิ่งแวดล้อมในอดีตน่าจะเป็นคำตอบได้ดีอยู่แล้ว ปัญหาพลาสติกก็น่าจะยังคงถูกมองข้ามไปก่อน จนกว่ามันจะสร้างความเดือดร้อนแบบไม่ทันตั้งตัว

Back to top button